“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 12)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 มกราคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 12)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               นับแต่วันแต่งงาน   หม่อมมณีน่าจะเป็นผู้หญิงที่มีความสุขที่สุดในโลกคนหนึ่ง  

               แต่ดวงชะตาของหม่อมมณี เป็นดวงชะตาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว  เช่นที่นายกิมซ้วน ได้เคยพยากรณ์เอาไว้ว่า  ทุกครั้งที่นางสาวมณีได้รับลาภ ยศ หรือ สรรเสริญ  เธอจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไร 

               ปีรุ่งขึ้นหลังการแต่งงาน   ฮิตเลอร์ยกทัพเข้ายึด เชกโกสโลวะเกีย ในปีพ.ศ. 2482  สถานการณ์ของยุโรปไม่น่าไว้วางใจ 

               ทูลกระหม่อม ซึ่งประทับที่ตำหนักเวนคอร์ต(VANE COURT) ทรงเห็นว่าสงครามต้องเกิดขึ้นแน่  จึงได้เรียกมิสเตอร์เครกมาเฝ้า รับสั่งให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง และให้ย้ายที่ประทับไปอยู่ใกล้กับบ้านดอนฮิล ที่หม่อมมณี และ พระองค์จิรศักดิ์ พำนักอยู่   เพราะมองเห็นว่า  ตำหนักเวนคอร์ต อยู่ใกล้ช่องแคบอังกฤษมาก  หากเกิดสงคราม  เขตที่ประทับจะต้องถูกประกาศเป็นเขตทหารทันที

               นอกจากนี้   ทูลกระหม่อมยังได้ตัดจำนวนข้าราชบริพารบางคนที่ติดตามมารับใช้ ให้เดินทางกลับบ้านได้ทันที  เช่น  คุณรองสนิท โชติกเสถียร  กับ ภรรยา และ หม่อมเจ้า อัชฌา จักรพันธุ์  และ ทุกคนต้องรีบออกเดินทางกลับทันที  เพราะหากเนิ่นช้าไป   อาจมีปัญหาไม่สามารถเดินทางกลับได้  

               เป็นปีที่หนักหน่วงมากสำหรับทูลกระหม่อม  เพราะทรงได้รับข่าวคราวที่สะเทือนใจจากเมืองไทยตลอดเวลา   แต่ไม่ช้า  ข่าวดีก็มาถึง  เมื่อหม่อมมณีตั้งครรภ์ลูกคนแรก 


(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขลิบผมของ ม.ร.ว. เดชน์ศักดิ์) 

               กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482  หม่อมมณีให้กำเนิดลูกชาย  เมื่อทูลกระหม่อมเสด็จมาเยี่ยม ทรงประทานชื่อ 4- 5 ชื่อให้เลือก ซึ่ง หม่อมมณี และ พระองค์จิรศักดิ์ ได้เลือกชื่อ “เดชนศักดิ์” ให้เป็นชื่อของลูกชายคนโต 

               ทูลกระหม่อม ยังทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่พระองค์จิรศักดิ์ว่า  “ศักดิเดชน์”  และยังทรงมีลายพระหัตถ์ถึง พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ใจความว่า  พระองค์ทรงจดทะเบียนรับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ เป็นบุตรบุญธรรมสืบสกุล “ศักดิเดชน์”  ถูกต้องตามกฎหมายอังกฤษทุกประการ

               และขอให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้ประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาด้วย 


(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ ม.ร.ว.เดชน์ศักดิ์ วัย 6 เดือน)

               3 กันยายน ปีเดียวกัน  อังกฤษได้ประกาศสงครามกับเยอรมัน  ทำให้แผนการของทูลกระหม่อมที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อแก้คดีที่ศาลเป็นอันต้องงดไป เพราะไม่สามารถเดินทางมาได้แล้ว

               พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จกลับไทยอีกเลย 

               สงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคนบนเกาะอังกฤษ   หม่อมมณี และ พระองค์จิรศักดิ์ ซึ่งวางแผนจะกลับไปเรียนหนังสือต่อที่อ๊อกซ์ ฟอร์ด  ต้องยกเลิกแผนนี้ไป 

               สภาพการเป็นอยู่ในอังกฤษ  แม้ว่าจะยังไม่ถูกโจมตีจากกองทัพอากาศเยอรมัน   แต่สิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ระบบปันส่วนทั้งสิ้น  ทุกคนต้องรัดเข็มขัด  เพราะแม้จะมีเงินแต่บางสิ่งก็อาจจะหาซื้อไม่ได้ 

               คุณหญิงมณี ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า   เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมัน  ประชาชนชาวอังกฤษต่างก็ตื่นตัวสมัครเข้าไปเป็นอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติตามแต่ที่ตัวเองจะทำได้  

               ไม่เว้นแม้กระทั่ง  มิสดอริส มารดาของหม่อมมณีด้วย ซึ่งสมัครเข้าช่วยงานอาสากาชาด  ซึ่งเธอเคยทำมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ 1 


(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำหนักเวนคอร์ต)

               ภาวะความตึงเครียดของสงครามเขม็งเกลียวมากขึ้น  ทูลกระหม่อมจึงทรงรับสั่งให้ทุกคนเข้ามาอยู่ร่วมในชายคาเดียวกัน  เผื่อว่าในยามฉุกเฉินจะได้ช่วยกันได้ทันท่วงที 

               หม่อมมณี และ พระองค์จิรศักดิ์ จึงได้ย้ายครอบครัวออกจาก ดอน ฮิล เข้ามาอยู่ร่วมกับทูลกระหม่อมในตำหนักคอมตัน เฮ้าส์

               แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งสงคราม  แต่การที่ครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้  โดยเฉพาะ “หนูเดชน์” ซึ่งกำลังอยู่ในวัยน่ารักเช่นนี้  ก็ทำให้ทูลกระหม่อมทรงมีความสุขที่สุด

               วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2485  เป็นวันที่หม่อมมณี และ ตระกูล”ศักดิเดชน์” จะไม่มีวันลืม

               ก่อนหน้านั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงป่วยด้วยโรคหัวใจที่เรียกว่า  Angina pectoris   เมื่ออาการกำเริบ จะเกิดการหอบอย่างหนัก  หายใจไม่ออก 


(วันแห่งความสุข   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ฉายภาพร่วมกับ (จากซ้ายไปขวา) หม่อมมณี , พระองค์จิรศักดิ์ ,  หม่อมเสมอ สวัสดิวัฒน์  , มจ.หญิงผ่องผัสมณี  , สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี)  

               เช้าวันนั้น  หลังจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ออกจากตำหนักคอมตันเพื่อไปพบกับ มิสเตอร์เครก   ทูลกระหม่อมยังได้รับสั่งกับสมเด็จฯ ว่า 

               “จะไปไหนก็ไป  วันนี้ฉันรู้สึกสบายมาก”  ขณะนั้น  พระองค์จิรศักดิ์ อยู่ในห้องบรรทมของทูลกระหม่อมด้วย   

               สักครู่  พระองค์จิรศักดิ์ก็วิ่งเข้ามาในห้องนอนของหม่อมมณี  บอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

               “เธอเร็วๆเข้า  พ่อสิ้นใจเสียแล้ว”

แม้ว่าหมอประจำพระองค์จะมาถึงอย่างรวดเร็ว  แต่ก็ไม่ทันการ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ทรงเสด็จสวรรคตเสียแล้ว   

               การสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของพระองค์จิรศักดิ์อย่างมาก   เพราะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง  ต้องคิดเอง  ตัดสินใจเองทุกอย่าง  แทนที่จะปรึกษากับทูลกระหม่อมก่อนทุกครั้ง

               พระองค์จิรศักดิ์ตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่บ้านดอน ฮิลล์ เพื่อไม่ให้ ตำหนักคอมตัน เฮ้าส์ ต้องมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป  จึงเป็นเวลาที่ได้เริ่มต้นชีวิตคู่ที่เป็นอิสระ และ ต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง 

               วันหนึ่ง  พระองค์จิรศักดิ์ กลับบ้านด้วยใบหน้าร่าเริง แจ่มใส  บอกกับ หม่อมมณีว่า  ได้ไปสมัครงานไว้ที่ องค์การ AIR TRANSPORT AUXILIARY  ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองทัพอากาศอังกฤษ  ทำหน้าที่ขับเครื่องบินที่ผลิตเสร็จใหม่ๆไปส่งตามสนามบินต่างๆ

               ทั้งนี้เพราะ  พระองค์จิรศักดิ์มีความสามารถในการขับเครื่องบินได้    

               พระองค์จิรศักดิ์ ได้คิดมานานแล้วว่า  ชีวิตจะอยู่เช่นนี้เรื่อยๆไปโดยไม่ทำอะไรไม่ได้  ท่านต้องการจะทำอะไรสักอย่างให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และ สังคม 

               โดยเฉพาะในสังคมอังกฤษ ที่กำลังต้องการกำลังคนจำนวนมาก   

               ขณะที่พระองค์จิรศักดิ์ เล่าเรื่องด้วยความดีใจ   หม่อมมณี กลับรับฟังเรื่องเล่าด้วยใจห่อเหี่ยวเป็นที่สุด

               หรือนี่จะเป็น  ชะตาชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยงได้ 

               (ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามอ่าน  คอมลัมน์ “ดูดวงออนไลน์” ที่ผมเขียนในชื่อ “ธรรมาธิปติ” ได้ทุกวันเสาร์นะครับ)   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *