ซอกซอนตะลอนไป (2 มิถุนายน 2567)
ไต้หวัน ผู้ปฎิเสธรากเหง้าตัวเอง(ตอน12)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เป็นเรื่องน่าตกใจมากเมื่อได้รู้ว่า รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ของจีนกล้าหาญชาญชัยถึงขนาดส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมแสดงความยินดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 1935 เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลญี่ปุ่นยึดครองเกาะไต้หวันมาครบ 40 ปี
ไต้หวัน เคยเป็นดินแดนของจีนมาก่อนจนกระทั่งปี 1895 เมื่อจีนแพ้สงครามต่อญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (FIRST SINO-JAPANESE WAR) และต้องยกเกาะไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่นเป็นค่าปฎิกรณ์สงคราม ยังไม่รวมดินแดนอื่นๆ และ เงินทองอีกมากมายที่ต้องจ่ายชดเชยให้แก่ญี่ปุ่นด้วย
ที่ร้ายไปกว่านั้น ในขณะที่จีนไปแสดงความยินดีกับญี่ปุ่น จีนเองก็กำลังทำสงครามติดพันกับญี่ปุ่นในสงครามที่เรียกว่า สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ที่ปะทะกันตามแนวชายแดนมาตั้งแต่ปี 1931 ที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 1945
รัฐบาลกั๊วมินตั๋ง โดย เจียง ไค เช็ค ยังกล้าส่งคนไปแสดงความยินดีกับญี่ปุ่น ช่างไร้สำนึกเสียจริงๆ
หรือ รัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง อาจจะคิดแต่เพียงว่า แม้จะเป็นประเทศจีนเหมือนกัน แต่ตอนที่สูญเสียเกาะไต้หวันไปนั้น เป็นจีนราชวงศ์ชิง ที่ถูกปฎิวัติโค่นล้มไปโดย ดร.ซุน ยัด เซ็น ซึ่งต่อมาก็คือ พรรคกั๊ว มิน ตั๋ง
หลังจากญี่ปุ่นคืนเกาะไต้หวันให้แก่จีน รัฐบาลกั๊วมินตั๋ง ก็ส่ง เฉิน ยี่ บุคคลที่มีใจฝักใฝ่กับญี่ปุ่นมายาวนานไปเป็นผู้บริหารสูงสุดของเกาะไต้หวัน ถือเป็นตัวเลือกที่ผิดพลาดของจีน
นอกจากเฉิน ยี่ จะมีใจฝักใฝ่กับญี่ปุ่นแล้ว เขายังเป็นคนที่พร้อมจะทรยศหักหลังใครก็ได้ และ มีประวัติพัวพันคอรัปชั่นมาเรื่อยๆ
ที่ร้ายที่สุดก็คือ เขาเป็นคนบ้าอำนาจ เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความคิดเห็นของใครทั้งสิ้น
สถานการณ์เปลี่ยนผ่านของไต้หวันแบบนี้ จีนต้องการผู้บริหารที่มีความสามารถอย่างยิ่ง และไม่ใช่สามารถแบบธรรมดา แต่ต้องสามารถแบบเหนือมนุษย์ และยังต้องมีความสามารถในการประนีประนอมอย่างสุดๆอีกด้วย เพราะในช่วงนั้น เป็นช่วงสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์
ดังนั้น ในไต้หวันจึงเต็มไปด้วยบรรดาสายลับจากทุกค่ายเดินป้วนเปี้ยน จนแทบจะชนกันไปหมด แม้กระทั่งสายลับของญี่ปุ่นด้วย
เฉิน ยี่ เข้ามาบริหารเกาะไต้หวัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 1945 เขาพกเอาความยะโสโอหัง และ ความเย่อหยิ่งจองหองเข้ามาเต็มหัวใจ เขาเริ่มต้นด้วยการประกาศผูกขาดสินค้าหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือ บุหรี่ และ สุรา ให้เป็นของรัฐบาลเท่านั้น
แม้ว่า เฉิน ยี่ จะพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้ง แต่เขาก็ยะโสเกินไปกว่าที่จะคุยกับปัญญาชน ชนชั้นสูง และ บรรดาเศรษฐีนักธุรกิจของไต้หวันที่พูดได้เพียงภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น และ พูดภาษาจีนแมนดารินไม่ได้เลย
ทำให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำรัฐบาลจีนไต้หวัน กับ บรรดาชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และ ทางสังคมเต็มไปด้วยอุปสรรค และ ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ นโยบายของเฉิน ยี่ ยังสร้างโอกาสให้แก่พวกนักเก็บกวาดเศษสตางค์ที่เดินตามหลังความขัดแย้ง หรือ สงคราม ที่ฝรั่งเรียกว่า THE CARPET BEGGERS ในการกอบโกยผลประโยชน์มหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ
ซึ่งก็คือ การคอรัปชั่นอีกรูปแบบหนึ่ง
ความขัดแย้งเริ่มเขม็งเกลียว
รอพบกับการเดินทางเจาะลึกอินเดีย แบบมหาราชา กับผู้เชี่ยวชาญอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ