ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน3-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 สิงหาคม 2567)

ชีวิตพลิกผันเพราะพวงมาลัยพวงเดียว(ตอน3-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

บุดห์นี มานจิยาน  ซึ่งเป็นสมาชิกของชนเผ่าซานทาลมีอายุเพียง 15 ปี ในวันที่เธอไปทำหน้าที่ต้อนรับ เยาวะฮาร์ลาล เนห์รู  นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่เดินทางมาทำพิธีเปิดใช้เขื่อนปานเชต

เธอไม่รู้เลยว่า  หลังจากวันนั้น  ชีวิตของเธอจะพลิกผันเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

วันนั้น   เธอถูกกำหนดให้เป็นผู้ทำหน้าที่สวมมาลัยดอกไม้ให้แก่นายกรัฐมนตรี  หลังจากเธอสวมมาลัยให้แก่นายกรัฐมนตรีแล้ว  นายกรัฐมนตรีก็จะสวมมาลัยพวงหนึ่งคืนให้แก่บุดห์นีด้วย ตามที่เจ้าหน้าที่ของเขื่อนตระเตรียมการไว้ให้

เนห์รู ยังให้เธอร่วมกดปุ่มทำงานของเขื่อนร่วมกับกับเขาด้วย  ถือเป็นเกียรติยิ่งสำหรับชนเผ่าเช่นเธอ 


(เด็กน้อยของชนเผ่าซานทาล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมื่อเธอเดินทางกลับบ้านที่หมู่บ้านคาร์โบนา(KARBONA VILLAGE)  เธอก็ได้รับการแจ้งข่าวจากผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่เป็นที่เคารพของชาวบ้านว่า   ตามความเชื่อของชนเผ่าซานธาน การที่เธอได้สวมพวงมาลัยดอกไม้ให้แก่เนห์รู เท่ากับว่า  เธอได้แต่งงานกับเนห์รูแล้ว 

และเนื่องจากเนห์รู ไม่ใช่คนเผ่าซานทาล  เธอจึงต้องถูกลงโทษด้วยการขับไล่ออกไปจากหมู่บ้าน  และห้ามกลับมาที่หมู่บ้านคาร์โบนาอีกตลอดไป

หญิงสาววัย 15  ถูกขับออกจากหมู่บ้านโดยไม่รู้ว่าในคืนนั้นเธอจะไปนอนที่ไหน  และ  จะไปอาศัยอยู่ที่ใด  ช่างเป็นชะตากรรมที่เลวร้ายอย่างยิ่ง

ข่าวบอกว่า  เธอได้เดินทางไปยังหมู่บ้าน พูรูเลีย  และ ยังชีพด้วยการเป็นแรงงานรายวัน  ซึ่งคาดว่าน่าจะน้อยมาก   หลังจากนั้นอีก 3 ปี  DVC ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเขื่อนก็ประกาศปลดเธอออกจากตำแหน่งที่เธอเคยทำด้วย

ข่าวคราวของบุดห์นี เงียบหายไป  ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย  เธอต้องต่อสู้ในโลกที่ไม่เห็นอนาคตตามลำพัง


(นายราจีฟ คานธี -ภาพจากวิกิพีเดีย)

จนกระทั่งปี 1985  นายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ได้พบเธอเข้า  และ ทราบเรื่องราวทั้งหมดซึ่งมีต้นเหตุมาจากปู่ของเขาเอง   เขาจึงจัดการให้บุดห์นีได้กลับเข้าไปทำงานที่ DVC อีกครั้ง  จนกระทั่งเธอเกษียณอายุในปี 2005

แต่เธอก็ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปที่บ้านเกิดของเธออยู่ดี

ไม่มีใครรับรู้เรื่องราวของเธอ จนกระทั่ง ซาราห์ โจเซฟ (SARAH JOSEPH)ซึ่งเป็นนักเขียนที่ปักหลักอยู่ทางตอนใต้ของรัฐเคราลา ของอินเดีย ได้ทราบเรื่องราวของเธอ  จึงแกะรอยจนกระทั่งไปพบเธอในปี 2019  


(บุดห์นี และ ซาราห์ โจเซฟ นักเขียนผู้นำเอาเรื่องราวของเธอมาเปิดเผยต่อโลก – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ซาราห์ ต้องการให้บุดห์นีนำเรื่องราวอันปวดร้าวของเธอเปิดเผยให้โลกได้รับทราบ ซึ่งเธอก็ยินยอมจนในที่สุดโลกก็ได้รับทราบถึงชีวิตที่พลิกผันอันปวดร้าวของเธอ

บุดห์นี ย้อนความทรงจำว่า  ในวันนั้น  เธอพยายามที่จะโต้แย้ง และให้เหตุผลต่อหัวหน้าหมู่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้นในพิธีเปิดเขื่อน เพื่อจะขออาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่อไป   แต่คณะกรรมการหมู่บ้านได้ตัดสินคดีของเธอเรียบร้อยแล้วว่า  เธอต้องออกจากสังคมหมู่บ้านไปเท่านั้น

เธอเล่าว่า   ไม่มีใครช่วยเธอเลย แม้กระทั่งครอบครัวของเธอเอง  เธอถูกข่มขู่ว่า  หากไม่ออกจากหมู่บ้านไป  เธอจะถูกฆ่า   เธอจึงไม่มีทางเลือกนอกจากเก็บกระเป๋าและเดินทางออกจากหมู่บ้านในคืนนั้น

ตลอดเวลา   แม้ว่าจะมีผู้คนรับทราบเรื่องราวของเธอ  แต่ไม่มีใครสักคนยื่นมือเข้ามาช่วย

เธอเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน ปี 2023  หลังจากดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดไปวันๆ และไม่ทราบเลยว่า  อินเดียได้ขนานนามเธอว่า “ภรรยาชนเผ่าคนแรกของเนห์รู”

สัปดาห์หน้าครับพบกับ  มหากาพย์เรื่องยาว “มาตรา 370”  ซึ่งเป็นสาเหตุ  และ  ผลของการยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตร 370  ของอินเดียที่น่าตื่นเต้นและน่าติดตามมาก  พลาดไม่ได้ครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .