ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ (ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 สิงหาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ (ตอน 2)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 13 เมษายน ปี 1919  ในเมืองอัมริตสาร์ รัฐปัญจาบ  ในสวนจัลเลียนวาลา บากห์

ในขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งกำลังรวมตัวพบปะกันด้วยหัวใจเบิกบานเนื่องในวันขึ้นปีใหม่   และ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็มารวมตัวกันเพื่อประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษที่จับตัวผู้นำสองคนของเขา  คือ ดร.สัตยาปาล และ ดร.ไซฟุดดิน ไป

               ดร.สัตยาปาล เป็นอดีตทหารในกองทัพอังกฤษที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1  เขานับถือศาสนาฮินดู   ส่วน ดร.ไซฟุดดิน เป็นทนายความ นับถือศาสนาอิสลาม

               ทั้งสองคน ต่างศาสนากัน  จับมือร่วมกันออกมาเรียกร้องให้ชาวอินเดียแสดงความขัดขืนต่อคำสั่งของรัฐบาลอังกฤษในแนวทางสงบ  ปราศจากความรุนแรง

               สิ่งที่ทั้งสองกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษหวาดกลัวที่สุด  คือ  การจับมือของชาวฮินดู และ ชาวมุสลิม


(นายพลจัตวา เรจินัลด์ ไดเออร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ผู้รับผิดชอบในการรับมือกับสถานการณ์ประท้วงในสวนแห่งนี้ในวันนั้นก็คือ  นายพลจัตวา เรจินัลด์ ไดเออร์ (BRIGADIER-GENERAL REGINALD DYER)  ซึ่งเป็นนายทหารสายโหดที่ผ่านงานปราบจลาจลทั้งในเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ  และ  ในพม่า

               เขาสั่งให้ทหารปิดทางออกจากสวนทั้งหมด   จากนั้น   ก็นำทหารเดินเข้าไปตามทางหนึ่ง  เป็นการปิดตายทางออกจากสวน

โดยไม่มีการประกาศเตือนแต่อย่างใด  นายพล ไดเออร์ ได้ออกคำสั่งให้ทหารยิงปืนนานาชนิดเข้าไปในกลุ่มฝูงชนอย่างบ้าคลั่ง   โดยไม่สนใจว่า  ในนั้นจะมีทั้งผู้หญิง  เด็ก  หรือ  หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อยู่ด้วย  


(ทางเข้าของสวนจัลเลียนวัลลา บากห์ ซึ่งแคบมาก – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ทหารลั่นกระสุนปืนเข้าใส่ฝูงชนอยู่นานประมาณ 10 นาที  

ทุกคนวิ่งหนีกระสุนกันอย่างไม่คิดชีวิต  หลายคนมองเห็นบ่อน้ำจึงกระโดดลงไปหวังจะหลบกระสุนปืน โดยไม่คิดว่าจะมีคนอีกจำนวนมากกระโดดตามลงไป  จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำจำนวนมาก

มีทหารหน่วยหนึ่งปฎิเสธที่จะลั่นไกตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา  เพราะเห็นว่ามันโหดร้ายเกินไป   ในที่สุดทหารเหล่านี้ก็ถูกส่งตัวขึ้นศาล  และศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ทหารทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย

สิ้นเสียเสียงปืน  ทั้งสวนระงมไปด้วยเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้ที่ถูกกระสุนแต่ยังไม่ตาย  ผลของการสังหารโหดครั้งนี้  ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน และบาดเจ็บอีกกว่าพันคน

หลังการยิง    ทหารอังกฤษปิดทุกประตูเข้าสวน  ไม่ยอมให้ใครเข้าออกโดยเด็ดขาด  แม้กระทั่งญาติพี่น้องที่ต้องการจะเข้าไปตามหาญาติของตัวเองว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร  หรือ ต้องการจะเอาน้ำดื่มไปให้

คนที่รอดตายถูกบังคับให้ต้องนอนอยู่บนพื้นกลางแจ้ง ภายใต้แสงแดดที่ร้อนสุดๆของเดือนเมษายน  ทำให้มีคนตายจากความร้อน และ ขาดน้ำเพิ่มอีกจำนวนมาก


(ผู้รอดตายถูกบังคับให้คลานหน้าอกติดพื้นไปตามถนนที่ร้อนระอุ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

จากนั้น  พวกเขาก็ถูกบังคับให้คลานเอาหน้าอกไถไปกับพื้น  ค่อยๆกระดืบตัวออกจากในสวนบนถนนที่ร้อนราวกะทะบนเตาไฟ    หากใครเงยหัวขึ้นมาก็จะถูกทหารอังกฤษเอาปืนทุบหัวซ้ำ

แม้จะมีการคาดการว่า   จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะมีมากกว่า 1000 คน  แต่ตัวเลขที่แน่นอนไม่เป็นที่เปิดเผย

ความโหดร้ายของรัฐบาลอังกฤษยังไม่จบเพียงแค่นั้น   รอพบตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .