ซอกซอนตะลอนไป (27 ตุลาคม 2567)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน12)
ก่อนอินเดียแยกประเทศ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
การประชุมของลอร์ด เมาท์ แบทเทน กับตัวแทนสามฝ่ายของอินเดีย เริ่มจากความพยายามที่จะโน้มน้าวให้ประกาศอิสรภาพในนามประเทศอินเดียประเทศเดียว แต่ไม่เป็นผล เพราะฝ่ายมุสลิมลีก ของ โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ยืนยันสถานเดียวว่า จะต้องแยกประเทศออกไปเป็นปากีสถาน
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
เช่นนั้น ขั้นตอนต่อไปก็คือปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดนของทั้งสองประเทศ ว่าจะขีดเส้นพรมแดนแบบไหน เพื่อให้เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งก็ไม่เป็นที่พอใจของทั้งสามฝ่ายเพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีความไม่ไว้วางใจต่อกัน มุสลิมไม่ไว้วางใจฮินดู ฮินดูก็ไม่ไว้วางใจมุสลิม มุสลิมจะพยายามดึงชาวซิกห์เข้ามาเป็นพวก แต่ซิกห์ก็ไม่ไว้ใจมุสลิมเช่นกัน
ทำไม ผู้คนที่เกิดในแผ่นดินเดียวกัน อยู่ด้วยกันนานหลายร้อยปี ถึงพันปี จึงไม่ไว้วางใจกันอย่างหนัก จนถึงขั้นเป็นศัตรูต่อกันในระดับที่จะฆ่ากันได้เลย
เรื่องนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานมากย้อนหลังไปเป็นพันปี

(เฮโรโดตัส – ภาพจากกูเกิ้ล)
แรกทีเดียว ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียทางตอนเหนือเป็นที่รู้จักของชาวกรีก เช่น เฮโรโดตัส บิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลได้รับรู้ว่า มีดินแดนที่มีอารยธรรมอยู่ทางด้านตะวันออกแถบริมฝั่งแม่น้ำ “สินธุ” (SINDHU)
แม่น้ำสินธุ อันเป็นแม่น้ำหลักสายสายหนึ่งที่ไหลทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคชเมียร
แต่ชาวกรีกไม่สามารถออกเสียง “สินธุ” ได้ จึงกลายมาเป็นฮินดุส หรือ ฮินดู เขาจึงเรียกดินแดนสองฝั่งแม่น้ำสินธุว่า THE INDUS LAND หรือ LAND OF THE HINDU

(แม่น้ำสินธุที่ไหลอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณ- ภาพจากวิกิพีเดีย)
ต่อมา พวกเปอร์เชี่ยน หรือ อิหร่านในปัจจุบัน เรียกอินเดียว่า ฮินดูสถาน (HINDUSTAN) หรือ อินโดสถาน(INDOSTAN) ซึ่งน่าได้รับอิทธิพลจากชื่อที่ชาวกรีกใช้เรียกอินเดีย เพราะพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เคยบุกเข้าไปยึดครองอาณาจักรเปอร์เชียของราชวงศ์ อาเคเมนิดเมื่อราว 330 ปีก่อนคริสตกาล

(พระเจ้าดาริอุส ที่ 3 กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อาเคเมนิด ที่พ่ายแพ้ต่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราช- ภาพจากวิกิพีเดีย)
ในยุคนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำสินธุส่วนใหญ่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าทั้งหมดก็ได้ ต่างก็นับถือศาสนาฮินดู ส่วนที่เหลือเล็กน้อยอาจจะนับถือภูติผีปีศาจ
ด้วยเหตุนี้ ชื่อเรียกอินเดียว่า ฮินดูสถาน จึงมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ดินแดนของชาวฮินดู
จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศอินเดีย เป็นดินแดนของชาวฮินดู
เพราะในขณะนั้น ศาสนาของโลกมีเพียงศาสนาฮินดู ศาสนาอียิปต์โบราณ ซึ่งกำลังใกล้จะสูญหายไป ศาสนากรีก และ โรมัน ศาสนาโซโรแอสเทรียน ศาสนายูดาย และเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่ศาสนาพุทธ และ ศาสนเชนกำลังจะถือกำเนิด
ศาสนาคริสต์ และ ศาสนาอิสลามยังไม่เกิด
จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 7 ประมาณปี 610 เมื่อศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้น และเผยแพร่กระจายออกไปทั่วในภูมิภาคตะวันออกกลาง เรื่อยมาจนกระทั่ง ปี 712 เค้าลางแห่งความหายนะของฮินดูสถาน หรือ อินเดีย ก็ปรากฎขึ้น

อะไรคือเค้าลางแห่งหายนะของอินเดีย โปรดติดตามในสัปดาห์หน้า