ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน37)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 เมษายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน37)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

อาจเป็นได้ว่า  ที่มาของกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ของอินเดีย เพราะมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลอินเดีย กับ มหาราชาฮารี ซิงห์ เอาไว้ในสัญญาตอนแคชเมียร์เข้าร่วมกับอินเดีย ที่เรียกว่า INSTRUMENT OF ACCESSION  ที่ระบุว่า

รัฐจามมูและแคชเมียร์จะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดียในอนาคต

และรัฐจามมูแคชเมียร์ มีสิทธิในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญของตนเอง  และ รัฐจามมูและแคชเมียร์มีสิทธิในการตัดสินใจว่า  รัฐจามมูและแคชเมียร์ จะสามารถเลือกที่จะมอบอำนาจใดๆให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางก็ได้


(มหาราชา ฮารี ซิงห์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียยอมอ่อนข้อให้แก่รัฐจามมูแคชเมียรโดยเฉพาะ  เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง  เช่น  ความสงบในดินแดนดังกล่าว   หรือผลประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคนก็ได้    ไม่มีใครรู้

หลังจากมาตรา 370 บังคับใช้  ชาวอินเดียส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่มีปฎิกิริยาใดๆต่อกฎหมายฉบับนี้   ราวกับว่า  พวกเขาไม่ได้อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร 

หรือพวกเขามองไม่ออกว่ามาตรา 370 จะทำให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะชาวฮินดูสูญเสียสิทธิของตนเองไปอย่างมาก

แต่ก็มีอย่างน้อย 1 คน ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้   เพียงแต่แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อของเขาเลย  เพราะถูกอำนาจมืดปกปิดเอาไว้กว่า 70 ปี


(ชามา ปราสาท มุคเฮอร์จี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

คนผู้นี้คือ  ชามา ปราสาท มุคเฮอร์จี (SYAMA PRASAD MUKHERJEE)  ผู้สร้างปณิธานของตนเองที่กลายเป็นคำขวัญของชาวอินเดียในยุคนี้  และ ของพรรคภารติยะ ชันตะ ด้วย

คำขวัญของเขาก็คือ  “อินเดียเดียว  ชาติเดียว” (ONE INDIA , ONE NATION)

เขาเป็นบุคคลคุณภาพของอินเดียอย่างแท้จริง  เกิดในรัฐเบงกอล  ขณะที่อายุเพียง 33 ปี เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย

หากใครเคยอ่านหนังสือที่เนห์รูเขียน 2 เล่มคือ GLIMPSES OF WORLD HISTORY และ  THE DISCOVERY OF INDIA ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเขาอย่างยิ่ง  แต่ว่ากันว่า  ความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษของมุคเฮอร์จี เหนือว่าของเนห์รูด้วยซ้ำ


(หนังสือที่เนห์รู เขียน)

ในปี 1929   เขาเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า อินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส (INDIAN NATIONA CONGRESS)  เพื่อเป็นตัวแทนรับเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งสมาชิกสภาของรัฐเบงกอล  และได้รับเลือกด้วย

ต้องเข้าใจบริบทของอินเดียในยุคนั้นก่อนว่า  ช่วงก่อนอินเดียได้รับอิสรภาพนั้น  คองเกรสมีสถานะเหมือนกลุ่มการเมืองของชาวอินเดียผู้รักชาติ  และ  เป็นช่องทางการเข้าสู่วงการเมือง  เพราะในขณะนั้น  อินเดียมีกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาในปี 1925 คือ กลุ่มการเมืองนิยมคอมมิวนิสต์

แต่ในปีถัดมา   เขาก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกของคองเกรส  เมื่อกลุ่มคองเกรสตัดสินใจที่จะบอยคอตต่อสภาแห่งเบงกอล

ไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการถึงสาเหตุของการลาออกจากกลุ่มคองเกรส ที่มีมหาตะมะ คานธี และ เนห์รู เป็นผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่ม   แต่หลักฐานในภายหลังระบุว่า   มุคเฮอร์จี  น่าจะเห็นความไม่ชอบมาพากลของ คานธี และ เนห์รู ในการนำพากลุ่ม

จะว่าไป   คานธี และ เนห์รู ก็คือเผด็จการในกลุ่มคองเกรสนั่นเอง

คานธี และ เนห์รู เป็นเผด็จการอย่างไร  และ มุคเฮอร์จี เป็นใคร  รออ่านในสัปดาห์หน้าครับ

               พบกับโปรแกรม เจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ของฤดูกาลปลายปีนี้  ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป  บรรยายชมโดยผู้เชียวชาญอียิปต์ และเป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค 4 เล่ม  รวมถึงไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .