ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน38)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 เมษายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน38)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนอื่น  ผมขอแสดงความเสียใจ และ ไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของชาวฮินดู และ คริสต์  26 ศพใน เมืองพาฮาลกัม (PAHALGAM) รัฐจามมูและแคชเมียร์ของอินเดีย เมื่อเวลา 14.45 น.ของวันที่ 22 เมษายน 2568 โดยฝีมือของผู้ก่อการร้ายมุสลิมที่เลือกสังหารเฉพาะพลเรือนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมเท่านั้น

               ที่น่าเวทนาก็คือ  บางคู่เพิ่งจะแต่งงานเมื่อสัปดาห์ก่อน และเลือกที่จะมาฮันนีมูนที่นี่  

               เหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ผมเขียนมา 37 ตอนแล้ว   ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียครับ

               กลับมาถึงเรื่องราวของการยกเลิกมาตรา 370  

ผมขอนำเรื่องราวของ ชามา ปราสาด มุคเฮอร์จี ที่ประวัติศาสตร์ของอินเดียในช่วง 60 – 70 ถูกห้ามไม่ให้พูดถึงเลย   เพราะเป็นช่วงที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคครอบครัวของตระกูลคานธี พรรค อินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส หรือ เรียกสั้นๆว่า  พรรคคองเกรส

               มุคเฮอร์จี เริ่มอาชีพทางการเมืองในปี 1929 ด้วยการได้รับเลือกตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติของรัฐเบงกอล ในฐานะสมาชิกของ อินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส ที่มีผู้นำขณะนั้นก็คือ เนห์รู และ คานธี   

               อย่างไรก็ตาม  เขาลาออกจากตำแหน่งในปีต่อมา เมื่อพรรคคองเกรส ตัดสินใจที่จะบอยคอตต่อสภานิติบัญญัติดังกล่าว   แต่เขาก็ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในฐานะผู้สมัครอิสระในปี 1930

               เขาได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตลอดมา  จนในที่สุดก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่นของเบงกอลระหว่างปี 1941-1942  หลังจากรัฐบาลจากพรรคคองเกรสได้ลาออก

               ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่ง   ทุกคำพูดของเขาที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกับรัฐบาลกลางของพรรคคองเกรสจะถูกเซ็นต์เซอร์  และ  ทุกความเคลื่อนไหวของเขาถูกขัดขวาง


(เขตมิดนาปอร์ ในรัฐเบงกอล-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เขาถูกรัฐบาลกลาง ที่นำโดยนห์รู ห้ามไม่ให้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนในเขต มิดนาปอร์(MIDNAPORE DISTRICT)ของรัฐเบงกอลในปี 1942  เมื่อพื้นที่แห่งนี้ถูกน้ำท่วมอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

               เขาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1942

               ต่อมา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1946  หนึ่งปีก่อนที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ  และหนึ่งเดือนก่อนที่จะเกิดเหตุโศกนาฎกรรมที่ชาวมุสลิมไล่สังหารชาวฮินดูในรัฐเบงกอล จนลามไปทั่วประเทศ ที่รู้จักกันในนามของ “วันปฎิบัติการตรง” (DIRECT ACTION DAY)  เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งอินเดีย ที่เดลี ในนามผู้สมัครอิสระ


(ถนนในกัลกัตตาหลังจากเหตุการณ์ “วันปฎิบัติการตรง” – ภาพจากวิกิพีเดีย )

               แนวคิดของเขาชัดเจนมากในประเด็นเรื่องที่มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ต้องการจะแยกประเทศอินเดียออกไปเป็นประเทศปากีสถาน เพื่อประชาชนชาวมุสลิมตั้งแต่ปี 1941 แล้วว่า

               “ชาวอินเดียที่ต้องการจะอาศัยอยู่ในประเทศปากีสถาน  ควรจัดกระเป๋าและออกจากอินเดียเสียในทันทีที่เขาต้องการ”

               ก่อนหน้าที่อินเดียจะได้อิสรภาพ 1 ปี   มุคเฮอร์จี ยังสนับสนุน และเรียกร้องให้มีการแบ่งดินแดนของรัฐเบงกอล เพื่อป้องการไม่ให้มีการดึงเอาพื้นที่ที่มีชาวฮินดูจำนวนมากอาศัยอยู่ในเบงกอลตะวันตกไปเป็นประเทศปากีสถานตะวันออก

               เขาต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างหนักแน่นและชัดเจน  ถึงขนาดเขียนจดหมายไปยังลอร์ด เมาท์แบตเทน  เมื่อเดือนพฤษภาคม 1947 ก่อนหน้าที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ 3 เดือน เรียกร้องให้แบ่งรัฐเบงกอลออกเป็นสองส่วน เป็นบางกอลตะวันตกที่มีชาวฮินดูส่วนใหญ่อาศัยอยู่ และ เบงกอลตะวันออก ซึ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่    ไม่ว่าอินเดียจะแยกประเทศหรือไม่ก็ตาม

               เพราะขณะนั้น   กลุ่มมุสลิม ลีก ของจินนาห์ มีเป้าหมายที่จะขอดินแดนในรัฐเบงกอลทั้งหมดมาเป็นปากีสถานตะวันออก   

               มุคเฮอร์จี เล็งเห็นว่าชะตากรรมของชาวฮินดูในดินแดนของมุสลิมจะประสบชะตากรรมอย่างไร  เพราะเห็นได้จากกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในเขตนัวอาคาลี ในเบงกอลตะวันออก  (ปัจจุบันนี้อยู่ในปากีสถานตะวันออก และ เปลี่ยนมาเป็นประเทศบังคลาเทศในปี 1971)  ที่ยังมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แม้จนปัจจุบันนี้

               ยิ่งไปกว่านั้น  ในปี 1942   ด้วยมติของฮินดู มหาสภา โดยมุคเฮอร์จี ได้ประกาศหยุดการสนับสนุน โครงการรณรงค์ที่เรียกว่า อังกฤษจงออกไปจากอินเดีย(QUIT INDIA) ของคานธีด้วย

               บทบาทและท่าทีของมุคเฮอร์จี ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของสองผู้เฒ่าของพรรคคองเกรสอย่าง เนห์รู และ คานธีแน่นอน 

               พบกับโปรแกรม เจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ของฤดูกาลปลายปีนี้  ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป  บรรยายชมโดยผู้เชียวชาญอียิปต์ และเป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค 4 เล่ม  รวมถึงไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” สอบถามได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

               ชะตากรรมของมุคเฮอร์จีจะเป็นอย่างไร  ติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .