ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน42)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 มิถุนายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน42)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

หลังการตายของ มุคเฮอร์จี  เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปี 1953   แคชเมียร์ก็ดูเหมือนว่าจะสงบลง  เพราะเช็กห์ อับดุลลาห์  นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐจามมูและ แคชเมียร์ มีสายสัมพันธ์อันดีกับ เนห์รู จากพรรคคองเกรส ซึ่งครองอำนาจทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น

พรรคคองเกรส ยึดอำนาจทางการเมืองเรื่อยมาจนหลังกระทั่ง  ราจีฟ คานธี ถูกสังหารเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1991  อำนาจทางการเมืองของพรรคคองเกรสก็ค่อยๆเสื่อมลง

ความสงบในแคชเมียร์ ไม่ได้หมายถึงความสงบที่แท้จริง   แต่เป็นการคุกรุ่นภายใต้กองเถ้าถ่านที่กลบอยู่บนผิวหน้า  รอเพียงให้มีลมเป่าเข้าไปเพื่อปลุกไฟให้ตื่นขึ้นเท่านั้น


(เช็กห์ อับดุลลาห์ – ภาพจากเก็ตตี้)

เช็กห์ อับดุลลาห์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของแคชเมียร์ จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1953 ก็ถูกขับออกจากตำแหน่งโดย ดร.คารัน ซิงห์(DR.KARAN SINGH) ลูกชายของ มหาราชา ฮารี ซิงห์ อดีตมหาราชาแห่งแคชเมียร์  ด้วยข้อหาว่า  คณะรัฐมนตรีทั้งหมดไม่ไว้วางใจเขา

แล้วให้นายบัคชี กูลาม โมฮัมเหม็ด (BAKSHI GHULAM MOHAMMED) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของเขาที่มีแนวคิดตรงกันข้ามขึ้นมารับตำแหน่งแทน


(การาน ซิงห์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ก็ไม่น่าแปลกใจ   เพราะในสมัยที่ยังเป็นรัฐเจ้าชายแห่งจามมูและแคชเมียร์   เช็กห์ อับดุลลาห์ ถือว่าเป็นตัวป่วนของมหาราชา ฮารี ซิงห์  และมีจุดยืนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอินเดียมาตลอด  ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมจากชาวมุสลิมแคชเมียร์  

เขาคอยก่อกวน  ยุแหย่  และ สร้างความปั่นป่วนให้แก่มหาราชา ฮารี ซิงห์ตลอดเวลา   โดยเรียกร้องให้มหาราชาประกาศให้จามมู และ แคชเมียร์ ปกครองตนเอง

จากนั้น  เช็กห์ อับดุลลาห์ ก็ถูกจับกุมตัว และ ถูกตัดสินจำคุก 11 ปี  ในข้อหาวางแผนก่อการร้ายต่อรัฐ  เช็กห์ อับดุลลาห์ ก็หายไปจากแวดวงการเมืองไปเลย 

ผู้อยู่เบื้องหลังการนี้ก็คือ  เนห์รู จากพรรคคองเกรส

ปี 1971  เกิดการลุกฮือต่อต้านการปกครองของรัฐบาลปากีสถานตะวันตก ในดินแดนที่เรียกว่า  ปากีสถานตะวันออก  ที่อยู่แยกกันกว่า 2500 กิโลเมตร และ ไม่มีดินแดนส่วนไหนที่ติดกันเลย  จนเกิดความวุ่นวาย จลาจลไปทั่ว  จนปากีสถานตะวันออกเรียกร้องขอแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถาน 

(สาเหตุของการจลาจลวุ่นวายจนแยกประเทศนั้น  ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป) 

อินเดียเข้าแทรกแซงปากีสถานตะวันออกด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง เพราะมีการหลั่งไหลของชาวปากีสถานตะวันออกเข้ามาในดินแดนของอินเดียอย่างมาก   และ การที่ปากีสถานส่งเครื่องบินรบโจมตีพื้นที่ทางภาคเหนือของอินเดียในวันที่ 3 ธันวาคม 1971 

ผลก็คือ   อินเดียสามารถเอาชนะกองทัพของปากีสถานตะวันตกที่ส่งเข้ามารบได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1971

จนฝ่ายปากีสถาน ต้องยอมเซ็นต์สัญญาสงบศึก เพื่อให้อินเดียปล่อยตัวทหารจำนวนมากที่จับตัวได้


(การลงนามยอมแพ้ของนายพลของปากีสถานต่อกองทัพของอินเดียและบังคลาเทศ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ประเทศบังคลาเทศก็ถือกำเนิดขึ้นในปีนั้นเอง  

หลังจากปากีสถานตะวันออก  เปลี่ยนสถานะจากการเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานตะวันตก  และกลายเป็นประเทศบังคลาเทศแล้ว  ดุลยอำนาจทางการเมืองในเอเชียใต้ก็เปลี่ยนไป   อินเดียเริ่มแข็งแกร่งทางการเมือง และ ทางทหารมากขึ้น

เช็กห์ อับดุลลาห์ ซึ่งเงียบหายไปนาน ก็เริ่มตระหนักว่า   เขาไม่มีทางเลือกอื่น  นอกจากจะต้องวางท่าทีที่อ่อนลงต่อหน้าอินเดีย  ซึ่งในช่วงนั้นมีนางอินทิรา คานธีเป็นนายกรัฐมนตรี

จึงเกิดการเจรจาตกลงกันระหว่าง เช็กห์ อับดุลลาห์ กับ นายกอินทิรา คานธี  และมีการลงนามกันในปี 1975 ในที่สุด   ในสัญญาดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องระหว่างกัน  คือ  อับดุลลาห์ จะให้ชาวมุสลิมยกเลิกแนวคิดที่จะปกครองตนเอง  และอินเดียจะคงไว้ซึ่งเนื้อหารัฐธรรมนูญแบบเดิมเอาไว้

นั่นหมายความว่า   ยืนยันการมีอยู่ของมาตรา 370 ต่อไป

หายนะเริ่มแผ่เงาเข้ามาแล้ว

เชิญร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์แบบ “ทัวร์พรีเมี่ยม” โรงแรมดี ล่องเรือระดับ 5 ดาว  อาหารดีตามโรงแรม5 ดาว และโปรแกรมครบครัน   บรรยายชมโดยผู้เชี่ยวชาญทัวร์อียิปต์มากว่า 40 ปี และ เป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี”  บรรยายชมอย่างละเอียด ไม่ปล่อยให้เดินดูเอง มีเพียง 3 ทริป คือตุลาคม , ธันวาคม และ กุมภาพันธ์ ปีหน้า  ทริปละ 15 ท่านเท่านั้น   สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .