ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน44)

ซอกซอนตะลอนไป                           (15 มิถุนายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน44)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

การลงนามในสัญญาการตกลงร่วมกันระหว่างอินทิรา คานธี กับเช็กห์ อับดุลลาห์ แห่งแคชเมียร์ ถือเป็นการถอยก้าวใหญ่ของอับดุลลาห์ ที่จะไม่เรียกร้องในประเด็นการเมืองที่แคชเมียร์เรียกร้องขอเป็นรัฐเอกราชมาโดยตลอด 

ทำให้อับดุลลาห์ ได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ในปี 1975  ด้วยการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแคชเมียร์  โดยมีพรรคคองเกรสของตระกูลคานธีให้การสนับสนุน  เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกัน


(เช็กห์ อับดุลลาห์ บนสแตมป์ของอินเดียในปี 1988 สมัยของรัฐบาลพรรคคองเกรส-ภาพจากวิกิพีเดีย)

เขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1982   

การลงนามในสัญญาดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่หลายกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970  เริ่มมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงของแคชมียร์ที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกคะแนนนิยมของฝ่ายมุสลิม  พฤติกรรมดังกล่าวเริ่มมาจากปากีสถาน

ขณะเดียวกัน  ก็มีความแตกแยกของบรรดาผู้นับถือศาสนาอิสลามของปากีสถานกับแคชเมียร์   เพราะปากีสถานพยายามเผยแพร่ศาสนาอิสลามนิกาย วาห์ฮับเข้าไปในแคชเมียร์ เพื่อแทนที่นิกาย ซูฟิส  และสร้างความเป็นปึกแผ่นของศาสนาอิสลามให้แก่ปากีสถาน 

ด้วยหวังว่า   คนเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนปากีสถาน

               ขบวนการกลืนศาสนาด้วยการเปลี่ยนให้ผู้คนหันมานับถือศาสนาอิสลามของแคชเมียร์  เริ่มเดินหน้าตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980   เมื่อรัฐบาลของชีคห์ อับดุลลาห์ ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านประมาณ 2500 หมู่บ้าน จากชื่อดั่งเดิมที่เป็นแบบฮินดูให้กลายเป็นชื่อแบบอิสลาม


(แต่ละครั้งของการปราศรัยของเช็กห์ อับดุลลาห์  จะมีประชาชนสนใจฟังเขาจำนวนมาก เขาจึงเป็นผู้ชี้นำทางความคิดของชาวมุสลิม แคชเมียร์ที่ทรงอิทธิพลมาก-ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               อับดุลลาห์ ได้ประกาศในที่ประชุมในสุเหร่าแห่งหนึ่ง  มีนัยยะที่แสดงความพร้อมที่จะปะทะกับชาวฮินดู   และเหมือนกับคำพูดที่เขาเคยพูดไว้ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว  

               ที่รุนแรงกว่านั้นก็คือ  เขายังเรียกชาวฮินดูในแคชเมียร์ ว่า  มุคห์เบอร์ (MUKHBIR) ซึ่งหมายความว่า  สายลับของกองทัพอินเดีย 

               หน่วยสายลับของปากีสถาน เริ่มบทบาทการสร้างความวุ่นวายในแคชเมียร์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลอินเดีย  แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ  จนกระทั่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980

ความตึงเครียดในแคชเมียร์เขม็งเกลียวขึ้น   เมื่อศาลที่นิว เดลี ได้ตัดสินประหารชีวิต มัคบูล บาท  หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน  มัคบูล บาท ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1984  

หลังจากนั้น  ขบวนการชาตินิยมแคชเมียร์ที่มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนก็เริ่มระดมเยาวชนแคชเมียร์ให้ออกมาก่อกวน และ ต่อต้านการปกครองของอินเดีย  ทำให้เกิดการปะทะกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐ จนเกิดการสูญเสียมากมาย 

               ปี 1986  กูลาม โมฮัมหมัด ชาห์ นายกรัฐมนตรีของจามมูและแคชเมียร์  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอินทิรา และ พรรคคองเกรส ตัดสินใจสร้างสุเหร่าขึ้นมาบนพื้นที่ที่เป็นวิหารฮินดูโบราณ ที่อยู่ในพื้นที่ราชการของเขตจามมู เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าไปสวดมนต์ 

               ทำให้ชาวฮินดูในเขตจามมู ลงถนนเพื่อประท้วงการตัดสินใจครั้งนี้  ยังผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฮินดู และ ชาวมุสลิม

               ผลก็คือ  ชาวฮินดูในแคชมียร์ ตกเป็นเป้าหมายของการทำร้ายจากชาวมุสลิม   มีรายงานว่า  ชาวฮินดูแคชเมียร์จำนวนมากถูกสังหาร  บ้านเรือนทรัพย์สินถูกทำลาย  รวมทั้งวิหารของชาวฮินดูก็ถูกทำลายด้วย

               ชาวฮินดูในแคชเมียร์เริ่มต้องมองหาทางหนีทีไล่ของตัวเองแล้ว   แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่นักรบ  ไม่มีวิญญาณนักฆ่า   ทางเลือกจึงมีไม่มากนัก

พวกเขาจะทำอย่างไร

ขอเชิญร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์แบบ “ทัวร์พรีเมี่ยม” โรงแรมดี ล่องเรือระดับ 5 ดาว  อาหารดีในโรงแรม5 ดาวและภัตตาคารที่เลือกสรร  โปรแกรมชมครบครัน   บรรยายชมโดยผู้เชี่ยวชาญทัวร์อียิปต์มากว่า 40 ปี และ เป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี”  ไม่ปล่อยให้เดินชมเอง มีเพียง 3 ทริป คือตุลาคม , ธันวาคม และ กุมภาพันธ์ ปีหน้า  ทริปละ 15 ท่านเท่านั้น  ทุกทริปมีตั๋วเครื่องบินเรียบร้อย   สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .