ซอกซอนตะลอนไป (22 มิถุนายน 2568)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน45)
หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
กรกฎาคม ปี 1988 กลุ่มจามมู แคชเมียร์ ลิเบอเรชั่น ฟร้อนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองติดอาวุธก่อการร้ายในแคชเมียร์ ได้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนเพื่อให้แคชเมียร์แยกตัวเป็นอิสระออกมาจากอินเดีย
ที่ร้ายก็คือ เริ่มมีการการสังหารชาวฮินดูที่มีบทบาทสำคัญในแคชเมียร์ เพื่อให้ชาวฮินดูคนอื่นๆได้ดูเป็นตัวอย่าง เหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู
ชาวฮินดูคนแรกที่เป็นเป้าสังหารก็คือ ทิคา ลัล ทัปลู (TIKA LAL TAPLOO) ทนายความ และ ผู้นำที่มีความสามารถมากของพรรคภารติยะ ชันนะตะ(BHARATIYA JANATA PARTY)

(ทิคา ลัล ทัปลู อดีตผู้ของพรรคภาระติยะ ชันนะตะ – ภาพจาก PLNDIA)
เขาถูกสังหารโดยกลุ่มจามมูและแคชเมียร์ ลิเบอร์เรชั่น ฟร้อน ภายในบ้านของตัวเองที่เมือง ศรีนาการ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 1989 ต่อหน้าผู้คนจำนวนมากโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจับตัวฆาตรกรได้
ทิคา ลัล ทัปลู เป็นผู้นำทางความคิดของชาวฮินดูแคชเมียร์ จึงเป็นการสังหารที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงในกลุ่มประชาคมชาวฮินดูอย่างมาก
ความหวาดกลัวเริ่มฝังรากลึกในหมู่ชาวฮินดูในแคชเมียร์
นำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของชาวฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮินดูชั้นปัญญาชนจำนวนมากที่เลือกที่จะหนีออกจากแคชเมียร์ เพื่อรักษาชีวิต
ช่วงเวลาต่อเนื่องจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 จนถึงทศวรรษที่ 1990 เป็นเวลาที่แสนหดหู่อย่างยิ่งของชาวฮินดูแคชเมียร์ ที่ต้องเลือกอพยพไปอยู่ในรัฐอื่นของอินเดียที่คิดว่าปลอดภัยกว่า
จำนวนมากที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอก็ขยับไปยังพื้นที่ไม่ไกลนัก เช่น เขตจามมู ที่อยู่ทางใต้ของรัฐจามมูและแคชเมียร์ จำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในค่ายอพยพสำหรับคนไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่า ค่อนข้างแออัด และ สกปรก จากนั้นจึงค่อยหาลู่ทางขยับขยายต่อไป
คนที่มีกำลังทรัพย์พอก็จะเดินทางไปรัฐอื่นๆ หรือบางคนที่มีญาติอาศัยอยู่ในรัฐอื่นที่พอจะช่วยเหลือได้ ก็เลือกที่จะเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย
จำนวนผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากช่วงปลาย 1980 หลายหน่วยงานประเมินจำนวนผู้อพยพไม่ตรงกัน บางหน่วยงานระบุว่า มีจำนวน 120,000 – 140,000 คน แต่หน่วยงานราชการลับของอเมริกา หรือ CIA ประมาณว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 คน
การอพยพครั้งนี้ รู้จักกันในนาม การอพยพของบัณฑิตแห่งแคชเมียร์ (EXODUS OF KASHMIRI PANDIT) ซึ่งไม่ต่างจากการอพยพของชาวยิวจากอียิปต์โบราณตามคัมภีร์ไบเบิล
“บัณฑิต” ในความหมายของสังคมฮินดูก็คือ ผู้มีความรู้ ผู้ได้รับการศึกษา สืบเชื้อสายมาจากวรรณะพราหมณ์ปัญจา กัวดา ซึ่งด้วยสถานะของการเป็นวรรณะพราหมณ์ ทำให้บัณฑิตเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่ดี และ ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพระคัมภีร์ หรือ การศึกษาอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนั้น

(สามเมืองสำคัญที่บัณฑิตแห่งแคชเมียร์อพยพไปอาศัย-ภาพจากวิกิพีเดีย)
เมืองที่บัณฑิตเหล่านี้เลือกที่จะย้ายไปอยู่ก็อาทิเช่น เมืองมุมไบ เมืองหลวงของรัฐมหาราษฎระ , เมืองเดลี เมืองหลวงของประเทศ และ เมืองกอลกัตตา ในรัฐเบงกอลตะวันตก เมืองที่ได้รับฉายาว่า เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม
โดยที่ผู้คนในเมืองเหล่านี้ต่างก็อ้าแขนรับ เรียกร้องให้บัณฑิตแห่งแคชเมียรย้ายไปอยู่ด้วย อาทิเช่น เมืองมุมไบที่มี บาล ธัคเคอร์เรย์ (BAL KESHAV THACKERAY)นักเขียนการ์ตูน และ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญของรัฐมหาราษฎระ ได้ประกาศชวนเชิญให้ชาวแคชเมียร์ย้ายไปอยู่ด้วย

(บาล ธัคเคอร์เรย์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)
การอพยพของชาวแคชมียร์ในครั้งนี้ ได้สร้างผลกระทบที่เลวร้ายแต่รัฐจามมู และ แคชเมียร์ อย่างไม่เคยมีมาก่อน และ อย่างที่ชาวมุสลิมในแคชเมียร์เองก็คาดไม่ถึง
ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร รออ่านในตอนหน้าครับ
ขอเชิญร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์แบบ “ทัวร์พรีเมี่ยม” พักในโรงแรม 5 ดาว ล่องเรือระดับ 5 ดาว อาหารดีในโรงแรม และภัตตาคารที่เลือกสรร โปรแกรมชมครบครัน บรรยายชมโดยผู้เชี่ยวชาญทัวร์อียิปต์มากว่า 40 ปี และ เป็นผู้เขียนหนังสือไกด์บุ๊ค “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” ไม่ปล่อยให้เดินชมเอง มีเพียง 3 ทริป คือตุลาคม , ธันวาคม และ กุมภาพันธ์ ปีหน้า ทริปละ 15 ท่านเท่านั้น ทุกทริปมีตั๋วเครื่องบินเรียบร้อย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
