ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน46)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 มิถุนายน 2568)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน46)

หลังอินเดียประกาศอิสรภาพ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

การอพยพของกลุ่มคนที่ถูกเรียกขานว่า บัณฑิต แห่ง แคชเมียร์ ออกจากแคชเมียร์แบบทิ้งถิ่นเกิด ตั้งแต่ช่วงปี 1989 เป็นต้นไป เป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบในทางเสียหายอย่างร้ายแรงแก่เศรษฐกิจของจามมู และ แคชเมียร์

เพราะบัณฑิต หมายถึง  ผู้มีความรู้  มีปัญญา เป็นชนชั้นวรรณะพราหมณ์ ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจนเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์พระเวท  คัมภีร์ปุราณะ  และ  ศาสตร์ในสาขาต่างๆ 18 ศาสตร์ ที่ชนชั้นวรรณะกษัตริย์ร่ำเรียนสืบทอดกันมา

เมื่อย้อนกลับไปดูอดีต   บัณฑิตแห่งแคชเมียร์ ก็คือฮินดูที่ยังยืนหยัดความเป็นฮินดูมาโดยตลอดนานนับพันปี  นับตั้งแต่หลังจากที่นักรบมุสลิมได้บุกเข้ามาในฮินดูสถาน หรือ อินเดีย และบังคับให้ชาวอินเดียฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแทน


(บัณฑิตแห่งแคชเมียร์ ในเมืองศรีนาการ์ ปี 1895- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชาวฮินดูแคชเมียร์ที่ยากจน  ไร้การศึกษาในยุคนั้น  ไม่รู้สึกผูกพันกับการนับถือศาสนาใดเท่าไหร่นัก  เพราะความไร้ซึ่งความรู้  และปัญญา   จึงยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามโดยไม่ยาก

สาเหตุที่บัณฑิตแห่งแคชเมียร์เหล่านี้ สามารถอยู่รอดมาได้ส่วนหนึ่งก็เพราะปัญญา และ ความรู้ความสามารถในการเจรจาต่อรองกับศัตรูผู้มาใหม่  รวมทั้งยังมีฐานะที่ดีพอสมควร  ดีกว่ากว่าชนชั้นอื่นๆ  และจำนวนไม่น้อยมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดิน

ดินแดนแคชเมียร์ ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธที่เผยแพร่เข้ามาในสมัยพระเจ้าอโศก มหาราช ในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล  ทำให้ระบบวรรณะในศาสนาฮินดูถูกละลายให้เจือจางลงไปมาก 

ดังนั้น  ความเชื่อในเรื่องระบบวรรณะของที่นี่จึงไม่รุนแรงมากนัก  บัณฑิตในแคชเมียร์จึงวางฐานะของตนเองที่เขยิบห่างจากวรรณะพราหมณ์ ที่ทำหน้าที่สวดมนต์ ทำพิธีกรรมต่างๆเท่านั้น

บัณฑิต เหล่านี้  น่าจะมีความเชื่อมโยง หรือ สืบทอดมาจาก “ฤษี” (RISHI) ที่บรรลุธรรมของคัมภีร์พระเวทโดยผ่านทางการนั่งสมาธิ  

เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตแห่งแคชเมียร์ มักจะเรียกขานตนเองว่า บาททา (BHATA) ซึ่งมีรากมาจากภาษาปรากฤติ(PRAKRIT) ที่แปลว่า  ผู้รอบรู้กว้างขวาง(GREAT SCHOLAR)

มีคำถามว่า  บัณฑิตเหล่านี้   แท้จริงแล้วเป็นใคร

ประวัติศาสตร์ระบุว่า  “บัณฑิต” สืบเชื้อสายมาจาก ชุมชนพราหมณ์ สาราสวัต(SARASWAT BRAHMIN) พวกเขาน่าจะมีถิ่นกำเนิดจากที่อื่น  ไม่ใช่ในแคชเมียร์


(ฟลาวิอุส โจเซฟุส – ภาพจากวิกิพีเดีย)

บางสันนิษฐานระบุว่า   พวกเขาอาจเป็นเชื้อสายของชาวยิว  กรีก  หรือ  เปอร์เชี่ยน  หรือ มาจากเอเชียกลาง ก็ได้

ฟลาวิอุส โจเซฟุส (FLAVIUS JOSEPHUS) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน-ยิว ได้บันทึกเอาไว้ในศตวรรษที่ 1 ว่า  ในปี 722 ก่อนคริสตกาล  ชาวยิวจำนวน 10 เผ่าจากทั้งหมด 12 เผ่า ได้เดินทางมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเพื่อย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของพวกตัวเอง   และหายสาปสูญไปในประวัติศาสตร์  

10 ชนเผ่านี้เองที่เชื่อว่า  น่าจะสืบทอดลงมาเป็น บัณฑิตแคชเมียร์


(พื้นที่ที่ชาวยิวทั้ง12 ชนเผ่าอาศัยอยู่ในดินแดนคานาอัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชาวยิวที่เหลืออีก 2 เผ่า คือ เผ่ายูดาห์(JUDAH) และ เผ่าเบนจามิน(BENJAMIN) ยังปักหลักอยู่ในดินแดนคานาอัน  ที่เป็นพื้นที่เดิมจนสามารถฟื้นฟูขึ้นมาเป็น ราชอาณาจักรยูดาห์ในเวลาต่อมา   

และ ราชอาณาจักรยูดาห์ นี่แหละคือ ชนเผ่าที่พระเยซู สืบเชื้อสายลงมา

หากเป็นจริงตามที่โจเซฟุส สันนิษฐาน  ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ บัณฑิตแห่งแคชเมียร์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวยิว  จะต้อง “อพยพ” (EXODUS) อีกครั้งนอกเหนือยุคของโมเสส ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

ก็เลยยังไม่ได้เล่าเรื่องผลกระทบจากการอพยพของ บัณฑิตแห่งแคชเมียร์เลย   ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ

ผมกำลังจะนำชมเจาะลึกอียิปต์แบบ “ทัวร์พรีเมี่ยม” โรงแรมดี ล่องเรือระดับ 5 ดาว  อาหารดีตามโรงแรม5 ดาว และโปรแกรมครบครัน  เพียง 3 ทริปในฤดูกาลนี้  คือ ตุลาคม , ธันวาคม และ กุมภาพันธ์ ปีหน้า  ทริปละ 15 ท่านเท่านั้น  ทุกทริปมีตั๋วเครื่องบินเรียบร้อย   สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .