จูเลียส ซีซาร์ ผู้ให้กำเนิดปฎิทินยุคใหม่

ซอกซอนตะลอนไป    (4 กรกฎาคม  2557)

จูเลียส ซีซาร์  ผู้ให้กำเนิดปฎิทินยุคใหม่

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เข้าสู่สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม  หรือ เดือนที่ฝรั่งเรียกว่า  JULY   ก็เลยทำให้ผมนึกถึง จูเลียส ซีซาร์(JULIUS CAESAR)  ผู้ซึ่งปฎิวัติปฎิทินสู่ยุคใหม่  และชื่อของเขาก็ได้กลายมาเป็นชื่อเดือนกรกฎาคม

               ผมชอบประเทศอิตาลี และ ประวัติศาสตร์ของโรมันมาก   จนต้องเขียนประวัติศาสตร์ของ อาณาจักรโรมันในชื่อ “มหากาพย์โรมัน”  ตีพิมพ์ในนิตยสาร “เพื่อนเดินทาง” เป็นจำนวนกว่า 20 ตอนเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว  


(ปฎิทินอันแรกของโลกภายในวิหาร คอมออมโบ(KOM OMBO) ในประเทศอียิปต์)

               ประวัติศาสตร์ของโรมัน  ซึ่งผมจะเรียกรวมๆว่า  อาณาจักรโรมัน ทั้งๆที่เขาจะแบ่งเรียกกันออกมาเป็นหลายชื่อก็ตาม  มีอายุยาวนานมากกว่า 2,000 ปี

               โรม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 753 ก่อนคริสตกาล  โดย ฝาแฝด โรมิวลุส(ROMULUS) กับ เรมุส(REMUS)  จนกระทั่งอาณาจักรโรมันแห่งภาคพื้นตะวันออก ซึ่งตั้งอยู่ที่ คอนสแตนติโนเปิล(CONSTANTINOPLE) หรือ นครอีสตันบุล(ISTANBUL) ของตุรกี ในปัจจุบันนี้ ล่มสลายในปีค.ศ. 1543 

               ตลอดช่วง 2,000 ปี  อาณาจักรโรมันได้สั่งสมอารยธรรมต่างๆเอาไว้มากมาย   ทางด้านศิลปะ  สถาปัตยกรรม  ภาษา   ความเชื่อ  และ  วัฒนธรรม

               ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ  วัฒนธรรมเรื่องปฎิทิน


(อียิปต์โบราณเป็นสังคมเกษตรกรรม กสิกรรม  จะเห็นได้จากภาพสลักนูนต่ำในสุสานหลายต่อหลายแห่ง)

               ก่อนที่อาณาจักรโรมันจะยิ่งใหญ่นั้น   อาณาจักรอียิปต์โบราณที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา  เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน  เรียกกันว่า  อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ 

               ด้วยความที่อาณาจักรอียิปต์โบราณเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม   ผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละปีจึงเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญต่อการอยู่ดีกินดีของปีถัดๆไป

               ฤดูกาล จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

               ตัวกำหนดฤดูกาลตัวสำคัญของอียิปต์โบราณก็คือ  น้ำท่วม และ น้ำลด ของแม่น้ำไนล์  ซึ่งน้ำท่วมจะกินเวลาประมาณ 4- 6 เดือนทุกปี   อันเป็นช่วงที่ชาวนาหยุดกิจกรรมการทำนา ทำไร่ต่างๆของตัวเอง

               นักโบราณคดีเชื่อกันว่า   พีรมิด ที่เมืองกีซ่านั้น สร้างด้วยน้ำมือของชาวไร่ชาวนาที่หยุดพักจากการทำนานี่เอง   เชื่อหรือไม่อย่างไรก็ตามสะดวกครับ

               ใครสนใจจะไปเที่ยวอียิปต์กับผม  ปลายปีนี้เตรียมตัวนะครับ

               ในยุคนั้น  ผู้มีความรู้อ่านออกเขียนได้ก็คือ  พระ  ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคมด้วย   พระได้สร้างแผนผังการดำเนินชีวิตของประชาชนขึ้นมาจากประสบการณ์ในปีก่อนๆที่ผ่านมาว่า   ในช่วงเวลานั้น  เวลานี้  ชาวบ้านจะต้องทำอะไร

               รวมทั้ง  ในช่วงเดือนไหนจะมีเทศกาลบูชาเทพเจ้าองค์ไหนด้วย

               ที่วิหารคอมออมโบ ซึ่งเป็นวิหารในสไตล์ เกรโก-โรมัน(GRECO-ROMAN)  คือ  ศิลปะกรีกผสมโรมันนั่นเอง   มีภาพสลักนูนต่ำที่น่าสนใจอยู่ภาพหนึ่ง   เชื่อกันว่าเป็นปฎิทินอันแรกของโลกที่พระของอียิปต์ได้ทำเอาไว้  เพื่อกำหนดฤดูกาลต่างๆของแต่ละปี  ว่าเดือนนี้ชาวนาจะต้องไถหว่าน   เดือนนี้จะต้องเก็บเกี่ยว  เหล่านี้เป็นต้น


(รูปหล่อบรอนซ์ของจูเลียส ซีซาร์  ตั้งอยู่ใกล้ โรมัน ฟอรัม)

               จะเห็นว่า  ปฎิทินอันแรกของโลก  ไม่มีเจตนาให้เป็นปฎิทินในความหมายของคนปัจจุบันนี้เท่าไหร่นัก   

               เมื่ออียิปต์ถูกโรมัน โดย จูเลียส ซีซารื ยึดครองได้ในปี 48 ก่อนคริสตกาลซึ่งตรงกับสมัยของ พระนางคลีโอพัตราของอียิปต์    จูเลียส  ซีซาร์ คงได้ศึกษาอารายธรรมต่างๆของอียิปต์ที่สูงส่งกว่าของโรมันอยู่หลายเรื่อง


(โรมันฟอรัม(ROMAN FORUM) ซึ่งก็คือ ตลาดของชาวโรมัน ที่เคยคึกคัก เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว  ในโรมัน ฟอรัมแห่งนี้เอง  ที่เป็นสถานที่เผาศพของ จูเลียส ซีซาร์)

               เรื่องหนึ่งก็คือ ปฎิทิน

               และเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของพวกโรมัน   จูเลียส ซีซาร์  จึงให้ทำการปฎิรูประบบปฎิทินของอียิปต์เสียใหม่   และต่อมาก็เรียกปฎิทินในระบบนี้ว่า  ปฎิทินแบบจูเลียน  

               และเพื่อเป็นเกียรติแก่จูเลียส ซีซาร์  จึงกำหนดให้เดือนที่ 5 ตามปฎิทินของโรมัน เป็นเดือน JULY ตามชื่อตระกูลของ จูเลียส ซีซาร์  ที่เรียกว่า ตระกูลจูเลีย  (JULIA) 

               (สมัยนั้น  เขายังไม่นับเอาเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์เข้ามาเป็นเดือนในปฎิทิน  เดือนกรกฎาคมจึงเป็นเดือนที่ 5)

               กระนั้นก็ตาม  การปฎิรูประบบปฎิทินตามแบบของ จูเลียส ซีซาร์ ก็ยังมีข้อบกพร่อง เพราะ 1 ปีของปฎิทินแบบ จูเลียน คือ 365.25 วัน  คลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่ 365.2425 วัน ทำให้วันและเวลาของแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลง 

               แรกๆก็คงเปลี่ยนแปลงไม่เท่าไหร่นัก   แต่นานปีเข้าก็ชักมากขึ้นเรื่อยๆ   และที่สำคัญก็คือไปกระทบกับวันสำคัญทางศาสนาคริสต์  เช่น  วันอีสเตอร์  วันคริสต์มาส เป็นต้น


(สันตะปาปา เกรกอรี่ที่ 13  ผู้คิดค้นปฎิทินสมัยใหม่ที่เราใช้กันในปัจจุบัน)

               สันตะปาปาเกรกอรี่ ที่ 13(POPE GREGORY XIII) จึงได้สั่งให้สังคายนาปฎิทินแบบจูเลียน เสียใหม่  เพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำขึ้น  และประกาศใช้เมื่อปีค.ศ. 1582  หรือ ปีพ.ศ. 2125   ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลางของบ้านเรา


(ภายในพิพิทภัณฑ์วาติกัน  ที่เต็มไปด้วยศิลปะชั้นยอดของโลกที่รวมกันอยู่ที่นี่)

               หลังจากนั้น   ทั่วโลกก็ค่อยหันมาใช้ปฎิทินตามแบบของเกรกอเรียน (GREGORIAN CALENDAR)กันเรื่อยๆ  ทำให้วันสำคัญๆทางศาสนาในประเทศต่างๆตรงกัน   ยกเว้นอยู่เพียงชาติเดียวที่เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ปฎิทินแบบ เกรกอเรียนเมื่อไม่ถึงร้อยปีนี้เองก็คือ  ประเทศรัสเซีย


(หนึ่งในสุดยอดรูปสลักในพิพิทภัณฑ์วาติกัน ที่มีชื่อเรียกว่า  LAOCOON)

               ทำให้ วันคริสต์มาสของรัสเซียไม่ใช่วันที่ 25 ธันวาคม   หากแต่ล่าออกไปประมาณ 13 วัน  คือตรงกับวันที่ 7 มกราคมโดยประมาณ

               เดือนกันยายน และ พฤศจิกายนนี้   ผมได้จัดทริปไปชมศิลปะสุดยอดของอิตาลี  ตั้งแต่ พิพิทภัณฑ์วาติกัน , พิพิทภัณฑ์อุฟฟิซี , แกลเลอรี่ อ๊อฟ อะแคเดมี่  และ ภาพเขียนลาส ซัปเปอร์ของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี่   สนใจติดต่อได้ที่  02 651 6900  จำนวนจำกัด  

               สนใจก็ติดต่อได้ครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *