ซัน เร็คคอร์ด ผู้ให้กำเนิด เอลวิส เพรสลีย์(1)

ซอกซอนตะลอนไป    (28 กุมภาพันธ์  2557)

ซัน เร็คคอร์ด ผู้ให้กำเนิด เอลวิส เพรสลีย์(1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในที่สุดผมก็มาถึงเมืองเมมฟิส(MEMPHIS)  เมืองที่ใฝ่ฝันจะมาเยือนตลอดทั้งชีวิต   เพราะเป็นบ้านของราชาเพลงร็อค แอนด์ โรล เอลวิส เพรสลีย์(ELVIS AARON PRESLEY) ผู้เป็นอมตะตลอดกาล

               แน่นอนว่า  สถานที่ 2 แห่งของเมืองนี้ ที่ผมจะต้องไปเยือน คือ  ซัน เร็คคอร์ดส์ (SUN RECORDS)  และ คฤหาสน์ เกรซแลนด์(GRACELAND)

               ย้อนหลังกลับไปวันที่ 18 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1953  หรือ  เมื่อ 60 ปีแล้ว  ขณะที่เอลวิส มีอายุ 18 ปี  เขาเดินเข้าไปที่บริษัท ซัน เร็คคอร์ด ของ แซม ฟิลลิปส์(SAM PHILLIPS) 


(แซม ฟิลลิปส์ กับเครื่องมือในยุคนั้น)

เมื่อเปิดประตูเข้าไป เอลวิส ก็พบกับ เลขาสาวของสำนักงานที่ชื่อ มาเรียน ไคส์เคอร์ (MARION KEISKER) ที่นั่งอยู่หลังประตูทางเข้า และ อยู่ตรงหน้าห้องอัดเสียง    เมื่อแจ้งความจำนงที่จะอัดเสียงเพลงร้องของตนเองให้มาเรียนแล้ว


(โต๊ะทำงานที่มาเรียนนั่งทำงานในวันที่เอลวิส เดินเข้าไปเพื่ออัดแผ่นเสียง หลังกระจกก็คือ ห้องอัดเสียง)  

               “คุณร้องเพลงสไตล์ไหน”  มาเรียนถาม

               เอลวิสตอบว่า  “ผมร้องเพลงทุกสไตล์”

               มาเรียนถามต่อว่า  “คุณมีเสียงร้องคล้ายนักร้องคนไหนรึเปล่า”

               เอลวิสตอบว่า  “เสียงของผมไม่เหมือนเสียงของใครอื่นเลย” (I DON’T SOUND LIKE NOBODY)  ซึ่งต่อมา  กลายเป็นคำพูดที่เป็นอมตะของเอลวิส ตลอดการ


(แซม ฟิลลิปส์ , เอลวิส และ มาเรียน) 

               เพลงที่เอลวิส เลือกอัดเสียงในวันนั้นมี 2 เพลง คือ  “MY HAPPINESS ” และ  “THAT’S WHEN YOUR HEARTACHES BEGIN”.   เขาจ่ายเงินค่าอัดเสียงไป 4 ดอลล่าร์


(ผู้เขียนด้านหน้าของ ซัน เร็คคอร์ดส์)

เอลวิส พูดถึงเรื่องนี้ในภายหลังว่า   เขาต้องการจะอัดเพลงดังกล่าวเพื่อเป็นของขวัญแก่มารดาของเขา   แต่นักเขียนชีวประวัติคิดว่า   เอลวิส เข้าไปอัดเสียงที่ซัน สตูดิโอ  เพื่อหาโอกาส “เกิด” ทางดนตรีของตัวเองมากกว่า 


(แผ่นเสียงผลงานของ ซัน เรคคอร์ดส์)

               ก่อนหน้านั้น  แซม  ฟิลลิปส์  ซึ่งเป็นชาวอัลลาบามา ผู้มีชีวิตในวัยเด็กที่ค่อนข้างลำบาก  ได้เปิดบริการบันทึกเสียงขึ้นที่เมืองเมมฟิส  ชื่อว่า “MEMPHIS RECORDING SERVICE” ขึ้นที่เมืองนี้

               หลังจากที่พ่อของเขาล้มละลายในการทำธุรกิจ    แซม ต้องออกจากโรงเรียนไฮสกูล หรือ ชั้นมัธยมปลาย  เพราะต้องช่วยทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว


(มุมหนึ่งใน ซัน เรคคอร์ดส์) 

ในช่วงทศวรรษที่ 1940   แซมทำงานเป็น ดีเจ(DJ) หรือ ผู้จัดรายการเพลงทางสถานีวิทยุ ซึ่งขณะนั้นเป็นระบบ เอ.เอ็ม (AM) ที่สถานีวิทยุ WLAY ที่เมืองฟลอเรนซ์  มลรัฐอลาบามา บ้านเกิดของเขา   และ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเสียงของสถานีวิทยุด้วย

               จากนั้น  เขาก็ย้ายมาทำงานเป็นผู้ประกาศของสถานวิทยุ WREC ที่เมืองเมมฟิส  และ ทำงานเป็นวิศวกรควบคุมเสียงของสถานวิทยุด้วยเป็นเวลาอีก 4 ปี  


(เครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุค 1950 ที่จัดแสดงภายใน ซัน เร็คคอร์ดส์)

               เนื่องจากสถานีวิทยุแห่งแรกที่ แซมทำงานให้ คือ สถานี WLAY มีนโยบายที่จะเปิดเพลงผลงานของนักดนตรีทั้งที่เป็นผิวขาว และ ผิวดำ  จึงเป็นแรงบันดาลใจในการทำดนตรีในแนวทางนี้แก่แซม  ในช่วงที่เขามาเปิด ห้องอัดเสียง ซัน เร็คคอร์ด 

               ด้วยประสบการณ์การทำงานทางด้านเจ้าหน้าที่เท็คนิคควบคุมเสียงของเขา  ทำให้เขาเริ่มมองหาสิ่งที่ท้าทายในการเป็นเจ้าของธุรกิจทางด้านเพลง และ ห้องอัดเสียง ของตนเอง   

               วันที่ 3 มกราคม ปีค.ศ. 1950  แซมเปิดห้องอัดเสียง ซัน เร็คคอร์ด ขึ้นที่อาคารเลขที่ 706 ยูเนียน  เอเวนิว เมืองเมมฟิส มลรัฐเทนเนสซี่   ซึ่งยังคงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้  

               หลังจากนั้นอีก 3 ปี  เอลวิส จึงได้เดินเข้าไปอัดเสียงร้องของตนเอง

               นี้คือพรหมลิขิต ที่ถูกกำหนดขึ้นในดวงชะตาของคนทั้งสอง ว่าจะต้องมาพบกัน และเกื้อหนุนกัน  ผมเชื่อย่างนั้นครับ

               ในช่วงแรก   ห้องอัดเสียงของ แซม ฟิลลิปส์  เปิดโอกาสให้นักดนตรีสมัครเล่นได้เข้ามาอัดเสียงกับห้องอัดเสียงของเขา   ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการสนองความต้องการของนักดนตรีเหล่านี้


(ซัน เรคคอร์ดส์ หลังพระอาทิตย์ตกดิน) 

               แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ  การแสวงหาผลประโยชน์ของแซม ในการหานักดนตรีสมัครเล่น  ที่ยังไม่มีสังกัดมาเป็นของตนเอง เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน   ด้วยการขายลิขสิทธิ์ของนักร้องหน้าใหม่ที่มีแววเหล่านี้ให้แก่บริษัทแผ่นเสียงที่ใหญ่กว่าเพื่อผลกำไร  

               ผลก็คือ  มีนักร้องดังๆในเวลาต่อมาเข้ามาอัดเสียงกับเขาหลายคน  ไม่ว่าจะเป็น บี บี คิง(B.B.KING) , จูเนียร์ ปาร์คเกอร์(JUNIOR PARKER)  และ ฮาวลิง วูล์ฟ (HAWLIN’ WOLF ) เป็นต้น

               และอีก 2 ปีต่อมา   แซม ฟิลลิฟส์ ก็เปิดตัวแผ่นเสียงภายใต้ชื่อ “ซัน เร็คคอร์ด” ของเขาเป็นครั้ง

               มาว่ากันถึงชะตากรรมของเอลวิส ที่มาพบกับ แซม ฟิลลิปส์ ต่อในสัปดาห์หน้าครับ   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *