ซัน เร็คคอร์ด ผู้ให้กำเนิด เอลวิส เพรสลีย์(3)

ซอกซอนตะลอนไป    (14 มีนาคม  2557)

ซัน เร็คคอร์ด ผู้ให้กำเนิด เอลวิส เพรสลีย์(3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เอลวิส เพรสลีย์  คงทำบุญร่วมกันกับ แซม ฟิลลิปส์  มาตั้งแต่ชาติปางก่อน   เมื่อมาพบกันอีกครั้งในชาตินี้  ผลบุญจึงส่งผลดีให้แก่ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง   

               ปีค.ศ. 1954    เพลง THAT’S ALL RIGHT(MAMA) ของ อาร์เธอร์ ครูดุพ(ARTHUR CRUDUP) ในเวอร์ชั่นของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่อัดเสียงกันที่ ซัน สตูดิโอ ของ แซม ฟิลลิปส์  ประสบความสำเร็จอย่างมากในเมืองเมมฟิส ทันทีที่แผ่นซิงเกิลแผ่นนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในตลาด


(ภาพอมตะ MILLION DOLLAR QUARTET )     

               หลังจากนั้น  ความนิยมของเพลงนี้ก็ขยายวงออกไปจนทั่วทั้งภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา

               แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือน  เพลง BLUE MOON OF KENTUCKY  ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของซิงเกิลแผ่นนี้  ก็ได้ความนิยมอย่างมากจนกระทั่งแซงหน้าเพลง THAT’S ALL RIGHT  ไป 

               ความสำเร็จของแผ่นซิงเกิลแรกของเอลวิส เพรสลีย์  เป็นแม่เหล็กชักนำเอาบรรดา ผู้ที่หวังจะเป็นนักร้อง ให้เดินทางเข้ามาสู่ ซัน เร็คคอร์ดส์ ทันที 

               นักร้องเหล่านี้ก็อาทิ  ชาร์ลี ริช(CHARLIE RICH) , บีบี คิง(BB KING) ,  , เจอร์รี่ ลี ลูอิส (JERRY LEE LEWIS) , จอห์นนี่  แคช(JOHNNY CASH)  คาร์ล  เพอร์กินส์(CARL PERKINS)  และ รอย โอบิสัน(ROY ORBISON)  เป็นต้น


(ผู้เขียน ในร้านขายของที่ระลึกของ ซัน เร็คคอร์ดส์)

               สำหรับคอเพลง ร็อค แอนด์ โรลล์  คงจะเห็นแล้วว่า  ชื่อแต่ละชื่อ ล้วนเป็นนักร้องระดับซุปเปอร์สตาร์ในวันนี้ทั้งสิ้น    แต่ในวันนั้น  นักร้องเหล่านี้ต่างก็กำลังไต่เต้าขึ้นไปดวงดาวทั้งสิ้น

               นักร้องแต่ละคน  โดยเฉพาะ เอลวิส  เพรสลีย์  ต่างก็สร้างรายได้ให้แก่ ซัน เร็คคอร์ดส์ อย่างเป็นกอบเป็นกำ   แต่ใครเล่าจะล่วงรู้ถึงเรื่องราวในอนาคตของตัวเองได้


(ข่าวการเสียชีวิตของเอลวิส ก็ถูกนำมาติดไว้ใน ซัน สตูดิโอ)

               กลางปีค.ศ. 1955  แซม ฟิลลิปส์ ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก   เขาจึงเริ่มคิดที่จะหารายได้ที่เป็นกอบเป็นกำจากนักร้องในสังกัด  เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินครั้งนี้ 

               ถ้าจะว่าไป  ขณะนั้น เอลวิส เพรสลีย์  แม้จะมีชื่อเสียงมากก็ตาม  แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ของอเมริกาเท่านั้น   และ แซม ฟิลลิปส์ ก็คงคิดไม่ถึงว่า  เอลวิส จะมีมูลค่าทางการตลาดมากมายในอีกไม่กี่ปีต่อมา 

               ดังนั้น  ในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1955  แซม ฟิลลิปส์  จึงขายสัญญาที่ทำกับ เอลวิส ไปให้แก่ อาร์ซีเอ เร็คคอร์ดส์(RCA RECORDS’)  ด้วยวงเงิน 35,000 เหรียญดอลล่าร์


(ผลงานเพลงของ ซัน เร็คคอร์ดส์  ยังมีขาย)

               และด้วยเงินจำนวนนี้เอง  แซม จึงสามารถผลักดันแผ่นเสียงเพลง BLUE SUEDE SHOES ของ คาร์ล เพอร์กินส์ ให้ฮิตติดอันดับไปทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา   และ ถือเป็นแผ่นเสียงแผ่นแรกของ ซัน เร็คคอร์ดส์ ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ

               แซม คงไม่รู้ว่า   เขาเพิ่งปล่อยเงินก้อนใหญ่มหึมามหาศาลหลุดจากมือไป


(ศิลปินชื่อดังหลายต่อหลายคนของ ซันเ ร็คคอร์ดส์)

               นับตั้งแต่แซม ขายเอลวิส ไปให้แก่ อาร์ซีเอ เร็คคอร์ดส์แล้ว   เขาก็ค่อยๆสูญเสียนักร้องดีๆที่อยู่ในสังกัดไปเรื่อยๆ  และ ไม่สามารถกลับมามีอิทธิพล และ โด่งดัง ในวงการเพลงของเมืองเมมฟิสได้อีกเลย

               บุญที่เคยทำร่วมกันกับเอลวิส  ได้ส่งผลดี และ ถูกชดใช้กันจนหมดแล้ว


(เครื่องอัดเสียงแบบม้วนเทปโบราณ และ แซม ฟิลลิปส์) 

               อย่างไรก็ตาม  แซม ฟิลลิปส์ ได้รับการยกย่องว่า  เป็นผู้ถ่ายทอดวิชา และ เคล็ดลับ ในการผลิตผลงานเพลงให้แก่ เอลวิส  และ  เป็นสิ่งที่ เอลวิส นำไปใช้เมื่อตอนที่มาอยู่กับ อาร์ซีเอ

               ว่ากันว่า  แซม ฟิลลิปส์ ค่อนข้างจะเปิดรับสไตล์เพลงต่างๆอย่างกว้างขวาง   และ มีส่วนผลักดันให้ศิลปินเพลงทุกคนของเขาให้ค้นหาแนวทาง  แรงบันดาลใจ  และ อารมณ์เพลงของตนเองให้พบ

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เอลวิส เพรสลีย์ ที่ได้รับแรงผลักดันอย่างมากจาก แซม  จนทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก   แม้แต่แซม ก็คงไม่คิดว่า  เอลวิส จะประสบความสำเร็จมากขนาดนั้น

               การบันทึกเสียงของ ซัน เร็คคอร์ดส์  จะมุ่งเน้นที่ “อารมณ์เพลง” มากกว่า “ความสมบูรณ์แบบในทางเทคนิค” 

               สิ่งที่ แซม บอกแก่เอลวิส  ก่อนที่เอลวิส จะออกจาก ซัน เร็คคอร์ดส์ ก็คือ “เขาจะไม่บันทึกเสียงเพื่อความสมบูรณ์แบบอย่างเดียว   แต่เขาจะบันทึกเสียงเพื่อ  ความสมบูรณ์แบบและ ความไม่สมบูรณ์แบบ”  

               เขายังบอกอีกว่า   “ความสมบูรณ์แบบที่ว่านี้  ก็คือ  ความสามารถในการสื่ออารมณ์ และ ความรู้สึกของเพลงไปสู่คนฟัง   และให้เพลงนั้นเป็นบุคลิกภาพของนักร้องคนนั้นๆโดยตรง  ซึ่งบุคลิกดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องบางประการในทางเทคนิค”


(ผู้บรรยายนำชมสาว กับไมโครโฟน ที่เอลวิส เคยใช้ในตอนอัดเสียง  และกากะบาดสีดำที่พื้นด้านซ้ายของไกด์ ก็คือ จุดที่เอลวิส เคยยืนร้องอัดเสียง)

               ปีค.ศ.1969   แซม ฟิลลิปส์ ขายบริษัท ซัน เร็คคอร์ดส์ ให้แก่ เชลบี ซิงเกิลตั้น(SHELBY SINGLETON)  ถือเป็นการปิดฉากตำนานที่ยิ่งใหญ่ของ ซัน เร็คคอร์ดส์  ผู้ค้นพบ เอลวิส เพรสลีย์ ลง  

               ซัน เร็คคอร์ดส์ ในวันที่ผมไปเยือน  แม้จะยังรับอัดเสียงอยู่   แต่ไม่เหลือความยิ่งใหญ่เช่นในยุคนั้นอีกแล้ว   จะมีก็เพียงตำนานเล่าขาน   ภาพถ่ายเก่าๆ  เครื่องอัดเสียงยุคโบราณ  และ ทัวร์นำชมซัน สตูดิโอ ที่บรรยายชมโดยไกด์สาว   ที่เธอเองก็คงจะไม่เคยเจอ แซม ฟิลลิปส์ เช่นกัน


(ซัน เร็คคอร์ดส์ ยังเปิดบริการอัดเสียง สำหรับนักดนตรีที่สนใจ)

               ภาพที่ประทับใจนักท่องเที่ยวทุกคนก็คือ   ภาพของนักร้องดัง 4 คนที่มาร่วมร้องเพลงด้วยกันอย่างไม่เป็นทางการ  ที่เรียกว่า  MILLION DOLLAR QUARTET  อันประกอบด้วย  เจอร์รี่ ลี ลูอิส , คาร์ล เพอร์กินส์   เอลวิส เพรสลีย์ และ  จอห์นนี่ แคช

               แผ่นเสียงชุดนี้ดูเหมือนว่า  จะมีการนำออกมาจำหน่ายแล้ว   ถือเป็นแผ่นเสียงแห่งประวัติศาสตร์ทีเดียว     

               ขอขอบคุณ มาเรียน ไคส์เคอร์ และ แซม ฟิลลิปส์  ที่ช่วยเจียรนัย เพชรเม็ดงาม  เอลวิส เพรสลีย์  และ นักร้องดังๆอีกมากมายหลายคน มาประดับวงการเพลง ร็อค แอนด์ โรลล์ ให้พวกเราได้มีความสุขในการฟัง 

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *