ร้านนี้ไม่แนะนำสำหรับ ผู้มีสมบัติผู้ดี โดยเด็ดขาด

ซอกซอนตะลอนไป    (16 พฤษภาคม  2557)

ร้านนี้ไม่แนะนำสำหรับ ผู้มีสมบัติผู้ดี  โดยเด็ดขาด

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมมาถึง วอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกาที่อยู่ทางภาคตะวันออกสุดของประเทศ    

               แน่นอนว่า  ดีซี มีอะไรให้ชมมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น  ทำเนียบขาว  , แคปปิตอลฮิลล์  หรือ  บ้านไร่ของ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ    แต่วันนี้ผมขอพาท่านผู้อ่านมาหาอะไรอร่อยๆ และ แปลกๆ ทานกันก่อนครับ

               ขอพาท่านผู้อ่านมาที่ร้าน “เผ็ดร้อน และ ชุ่มลิ้น”  (HOT N JUICY CRAWFISH)  เพราะสืบชัย บุญมั่น ผู้อยู่ที่ดีซี มากว่า 20 ปีเป็นคนพามาลองชิม


(ร้าน “เผ็ดร้อน และ ชุ่มลิ้น” ที่ วอชิงตัน ดีซี.  ทราบว่าตอนนี้มีสาขาอีกหลายเมือง) 

               ร้านนี้ขายอาหารเมนูเดียว  คือ อาหารทะเลประเภท กุ้งตัวใหญ่ที่เรียกว่า CRAWFISH , ปลาหมึก , กุ้งธรรมดา  ,ไส้กรอก  ไข่ต้ม   นำมาต้มรวมกันโดยใส่เครื่องเทศประเภทเผ็ดร้อน อันเป็นแบบฉบับการกินอาหารของชาวใต้ของสหรัฐอเมริกาแถบๆรัฐเท็กซัส และ รัฐหลุยส์เซียน่า


(ภายในร้าน มีราคาเขียนขึ้นป้ายบอกราคาเสร็จสรรพ  ทั้งร้านมีคนเสริฟคนเดียว)

               นอกจากนั้นก็มี  ปีกไก่ทอด  นั๊กเก็ตไก่   ข้าวโพดต้ม   เฟรนช์ฟราย   ขนมปัง  และ  ข้าวสวย     ส่วนเครื่องดื่มไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม หรือ ชามะนาว  สามารถเติมได้ตลอดการทานอาหาร   แต่จ่ายเพียงแก้วเดียว

               อย่างที่ผมเคยพูดถึงไปแล้วเมื่อหลายตอนก่อนว่า   อาหารของทางใต้แถบรัฐหลุยส์เซียน่า  รสชาติจะจัดจ้านกว่าอาหารทางเหนือ

               เป็นปรากฎการณ์แปลกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกประเทศก็ว่าได้  ที่อาหารของทางภาคเหนือจะจืดชืดกว่าอาหารของทางภาคใต้   และผู้คนทางเหนือจะซื่อๆ และ ทื่อๆ กว่าคนภาคใต้ 

               อาหารของร้าน “เผ็ดร้อน และ ชุ่มลิ้น” ก็เช่นเดียวกัน

               แต่ไม่ว่าร้านจะคุยว่าเผ็ดขนาดไหนก็ตาม  ซึ่งเขาแบ่งขนาดความเผ็ดเอาไว้ตั้งแต่ เผ็ดอ่อนๆ  เผ็ดปานกลาง   เผ็ดมาก   และ  เผ็ดพิเศษ    ผมคิดว่ายังไม่สามารถทำให้ปากคนไทยอย่างผมระคายเคืองได้เลย   แต่ก็ทำเอาชาวอเมริกันเจ้าถิ่นซู้ดปากตามๆกัน 

               ร้าน “เผ็ดร้อน และ  ชุ่มลิ้น” เขามีจุดขายของตัวเองที่ไม่เหมือนกับร้านอื่นก็คือ  ไม่ต้อนรับผู้ดี 


(อาหารจะเสริฟมาในถุงพลาสติคแบบนี้) 

               จะต้อนรับได้ยังไงละครับ  เพราะเมื่อลูกค้าเข้าไปนั่งในร้าน   เขาก็เอากระดาษขาวมาปูโต๊ะ  ผมว่าน่าจะแย่กว่าห้องอาหารบนรถไฟในประเทศไทยด้วยซ้ำ

               แค่นั้นยังไม่พอ   ยังแจกผ้ากันเปื้อนทำด้วยพลาสติคอ่อนแผ่นบางๆให้ทุกคนใส่ไว้  

               ตอนแรกก็งงว่า  ทำไมจะต้องใส่ด้วย    แถมสาวเสริฟยังบอกอีกว่า   ให้ถลกแขนเสื้อแขนยาวขึ้นมาด้วย   ยิ่งทำให้สงสัยหนักเข้าไปอีก

               นั่งรออยู่นาน  ไม่เห็นสาวเสริฟเอาช้อม ส้อม  มีด และ จานเปล่ามาให้  กำลังจะถามคนเสริฟอยู่พอดี   เธอก็มาถึงที่โต๊ะพร้อมด้วยถุงพลาสติคขนาดกลาง 2 ถุงมีอาหารที่เราสั่งอยู่ข้างใน มาวางแหมะบนโต๊ะ 

               มองดูคล้ายถุงแกงที่เราซื้อจากร้านข้าวแกง   แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก 

               จากนั้น   เธอก็เอากระป๋องโลหะขนาดใหญ่มาวางบนโต๊ะ  สืบชัย บอกแทนว่า   เอาไว้ใส่เศษอาหาร   แล้วเธอก็ทำการแกะถุงพลาสติคที่ใส่อาหารออกมาเปิดให้   แล้วก็จากไป

               เป็นอันรู้กันว่า   ต้องกินด้วยมือแน่นอน

               จากนั้น   เราก็ใช้วิธีกินอาหารแบบพื้นบ้านของไทย  ผสมผสานกับ  ของอินเดีย   คือใช้ช้อนส้อมธรรมชาติที่พ่อแม่ให้มาคือ ทั้งสิบนิ้วบรรจงล้วงลงไปในถุงพลาสติค  หยิบเอากุ้ง  ปลาหมึก  ไส้หรอก  หรืออะไรที่ต้องการจะกินขึ้นมา

               จากนั้นก็โซ้ยกันตามอัธยาศัย   วางอาหารบนกระดาษปูโต๊ะ  เปลือกและเศษอาหารก็ใส่ไว้ในถัง 

               ตอนกินปลาหมึก  กับ  ไส้กรอกก็ไม่เท่าไหร่    แต่ตอนที่กินกุ้งCRAWFISH  นี่นะซิ   ลำพังเนื้อกุ้งก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว   แถมยังแกะยากแกะเย็นเสียอีก   ทำให้น้ำซ้อสที่ชุ่มฉ่ำในเนื้อกุ้งพุ่งกระเด็น  ทะเล็ดทะลัก ออกหน้าออกหลังจนวุ่นไปหมด


(สภาพสมาชิกแต่ละคนหลังอาหารมื้อนี้   พูดได้คำเดียว   ดูไม่ได้เลย)   

               ตอนนี้เลยเข้าใจแล้วว่า   ทำไมเขาจึงต้องแจกผ้าพลาสติคกันเปื้อนให้แขกทุกคน 

               ก่อนออกจากร้าน   ถามพนักงานเสริฟว่า   เขาปรุงอาหารอย่างไร


(ถังใส่เศษอาหาร  คิดว่าดูดีกว่าแขกหลังเสร็จอาหารมื้อนี้เสียอีก) 

               สาวเสริฟบอกว่า   เช็ฟจะปรุงเป็นหม้อใหญ่ๆรอไว้   เมื่อลูกค้าสั่ง  เขาก็จะตักใส่ถุงแล้วเอามาเสริฟแบบที่เราทานกัน   เรียกว่า  ทานแบบเท็กซัส 

               เพิ่งรู้ว่า   ชาวเท็กซัส เขาทานอาหารกับแบบนี้     

               ก็ดีไปอย่าง  ไม่ต้องจ้างคนเก็บจาน   ล้างจาน  และ  ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องล้างจานอีกต่างหาก 


(สภาพหลังจบอาหารมื้อที่สิ้นไร้ซึ่งสมบัติผู้ดีทุกประการ) 

               ร้านนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่ง   สำหรับคู่ชายหญิงที่กำลังจีบกันใหม่ๆ 


(ร้านคัพเค้กชื่อดังที่สุดของ วอชิงตัน ดีซี. ในย่าน จอร์จ ทาวน์ จะเห็นคนรอเข้าคิวซื้อกันยาวเหยียด)

               แต่ถ้าจะเอาใจแฟนสาว   ผมก็ขอแนะนำให้พาไปทานคัพ เค้ก ชื่อดังที่สุดที่อยู่ในย่านจอร์จ ทาวน์   แต่ต้องเสียเวลาเข้าคิวกันนานสักหน่อย   คงจะช่วยลดกลิ่นคาวทะเลที่ติดปากติดไม้ติดมือลงได้

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *