อินเดีย มนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงไหล

ซอกซอนตะลอนไป    (18 เมษายน  2557)

อินเดีย  มนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงไหล

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เขียนท่องเที่ยวประเทศที่มีความเจริญทางวัตถุมาหลายตอน   ลองหันไปดูประเทศที่ด้อยความเจริญทางด้านวัตถุ   แต่มีความเก่าแก่ทางด้านอารยธรรมดูบ้างดีมั้ย 

               ประเทศอินเดียครับ 

               เมื่อคิดว่าจะเขียนถึงประเทศอินเดีย   ผมก็คิดไม่ตกว่า   แล้วจะเริ่มเขียนยังไงดีถึงจะน่าอ่าน  และ  เข้าใจง่าย  เพราะมีเรื่องให้เขียนมากเหลือเกิน    ก็เลยเอาเป็นว่า   ในตอนแรกนี้  ผมจะเขียนแบบเรื่อยเปื่อยไปก่อน  ประเภทตามใจฉันครับ

               ตลอดเวลากว่า 27 ปีในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยว   ผมเดินทางไปหลายประเทศ  ทั้งประเทศที่มีความสะดวกสบาย และไม่สบาย   ทั้งประเทศที่อาหารทานอร่อย  จนถึง  อาหารทานไม่ค่อยได้   

แต่ในที่สุด   ผมก็รู้สึกว่า   กำลังหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมของอินเดีย


(เด็กนักเรียนมาทัศนศึกษานอกโรงเรียน  พักเที่ยวก็ตั้งวงทานอาหารเที่ยงกัน  เป็นการสอนให้เด็กนักเรียนใช้ชีวิตที่เรียบง่าย  เอาอาหารจากบ้านมาทาน  เมื่อไหร่โรงเรียนของไทยจะสอนอย่างนี้บ้าง)

               เพราะอินเดียมีสิ่งที่เหนือความคาดหมายให้ชมมากมายเหลือเกิน  อินเดียเหมือนเหรียญสองด้าน  ที่มีความแตกต่าง  และ ขัดแย้งอยู่ในตัว   แต่ความแตกต่าง หรือ ขัดแย้งเหล่านั้นก็ผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี    คนรวย กับ  คนจนมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก   แต่คนรวย กับ คนจนทานอาหารที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก


(อาหารที่นักเรียนเอามาจากบ้านก็คือ จาปาตี ซึ่งเป็นพวกแป้ง  และ ถั่วต่างๆ  เรียบง่ายแต่ให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน)

               ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ   ส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวอินเดีย ทานอาหารมังสวิรัติ  ตามบทบัญญัติทางศาสนาฮินดู  จึงทำให้พื้นฐานในเรื่องอาหารไม่แตกต่างกันมากนัก    เพราะต่างก็ทานถั่ว  ผัก  และ แป้งเป็นหลัก ซึ่งจะว่าไปแล้ว   ก็คือผลผลิตที่หาได้ตามขอบรั้วริมบ้านนั่นเอง

               เมื่อมองให้ลึกลงไปให้ถึงแก่น  นี่ก็คือวิธีการกินอยู่อย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นเอง         

               สิ่งหนึ่งที่สังคมทั่วไปมองว่า   เป็นจุดอ่อนของอินเดียก็คือ  ระบบวรรณะ  ซึ่งจะว่าไปแล้ว   ระบบวรรณะของอินเดียกำลังเจือจางและลดความสำคัญลงมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ  แม้ว่าในหมู่บ้านเล็กๆประชาชนจะให้ความสำคัญเรื่องวรรณะอยู่มากก็ตาม   


(นักเรียนในชุดนักเรียนที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมอินเดีย และ เรียบร้อย ไม่ยั่วกามราคะแบบชุดนักศึกษาบ้านเรา)

               ท่ามกลางวัฒนธรรมที่อ่อนแอ   อินเดียก็ยังมีความเข้มแข็งที่ยากจะหาชาติอื่นๆในเอเชียเทียบได้   ประเพณีที่ว่านี้ก็คือ  การจับคู่  และ  การแต่งงาน 

               ประมาณ 80-90 เปอร์เซนต์ของการมีคู่  หรือ การแต่งงานของหนุ่มสาวชาวอินเดีย  จะเป็นการจัดการของผู้ใหญ่  หรือ เป็นการชักนำของแม่สื่อแม่ชักทั้งนั้น  

               โอกาสที่ชายหญิงจะไปสร้างความสัมพันธ์กันนอกบ้านเอง  แล้วพัฒนามาสู่การแต่งงานตามความรักความชอบของตนเองนั้น   เป็นไปได้ยากมาก  จะมีก็เฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ๆ และเฉพาะสังคมชั้นสูงเท่านั้น


(อินเดียมีความเก่าแก่ทางด้านวัฒนธรรมมาช้านาน  ถ้ำอาชันตะ เป็นหนึ่งตัวอย่างของความเก่าแก่ และ สวยงาม)

               และก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย   เมื่อได้ทราบว่า   อัตราการหย่าร้างของคู่แต่งงานชาวอินเดียค่อนข้างจะต่ำมาก   ประมาณว่าต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ    

และยิ่งน่าแปลกใจขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่า  การหย่าร้างที่มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์นั้น  เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ  และ เกิดกับพวกสังคมชั้นสูง ที่เลือกคู่แต่งงานด้วยตัวเอง 


(แหล่งรับจ้างซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองมุมไบ  ซักเสร็จก็ตากแดดกันแบบนี้)

               สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ   สังคมอินเดียยังเกาะติดอยู่กับรากฐานเดิมของสังคม  ที่ยังเป็นอินเดีย  เป็นภารตะ  ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี

               ยังคงเป็นสังคมที่ให้เกียรติ  ให้การเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่   พ่อแม่ปู่ย่าตายายอย่างมาก  ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของลัทธิขงจื่อ ของจีนโบราณที่นับวันจะสูญหายไปเรื่อยๆ    

               ตอนที่ผมนำคณะนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเมือง บาดามี  ขณะที่ทานอาหารเช้าก็ได้พบว่า   มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน  และ บุคคลธรรมดา และ ช่างภาพจำนวนหนึ่งมาให้การต้อนรับชายแก่ คนหนึ่งที่มากับภรรยา


(ความสำคัญของท่าน ซีเอ็นอาร์ เรา มากถึงขนาดที่โรงแรมต้องติดป้ายต้อนรับ)

               ลักษณะของการให้การต้อนรับบอกว่า  สองผู้เฒ่าคงจะไม่ใช่คนแก่ธรรมดาๆเป็นแน่   จึงสอบถามจากไกด์ และ ผู้จัดการโรงแรม  ถึงได้ทราบว่า   เขาคือ  ศาสตราจารย์ จินตามณี นาเกซา รามาจันทรา เรา (CHINTAMANI NEGESA RAMACHANDRA RAO)หรือเรียกสั้นๆว่า  ซีเอ็นอาร์ เรา(CNR RAO)

               ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาเคมี  ผู้ได้รับรางวัล ภารัต รัตนา (BHARATH RATNA)  ที่ถือว่าเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียจะมอบให้แก่บุคลลธรรมดาทั่วไป


(ผมขอถ่ายรูปท่าน ซีเอ็นอาร์ เรา ตอนที่ท่านกำลังนั่งรถออกจากโรงแรม)

               ชื่อรางวัลนั้นมาจากคำว่า ภารัต  ซึ่ง หมายถึงประเทศอินเดีย  ที่คนไทยเรียกว่า  ภารตะ นั่นเอง 

พอผมบอกแค่นี้   ท่านผู้อ่านก็คงจะต่อความหมายส่วนที่เหลือได้เอง   เพราะคำว่า RATNA  ก็คือ รัตนะ  ก็คือ  อัญมณี  รวมแล้วแปลว่า   อัญมณีแห่งภารตะ หรือ อัญมณีแห่งอินเดียนั่นเอง

               จะเห็นว่า  คนไทยอย่างเราๆสามารถเข้าใจชื่อในภาษาอินเดียได้อย่างง่ายดาย   ทั้งนี้เพราะเรารับเอาวัฒนธรรมจำนวนมหาศาลมาจากอินเดีย  ไม่ว่าจะเป็นเป็นวัฒนธรรมการกิน   วัฒนธรรมการดำรงชีพ  วัฒนธรรมความเชื่อ   วัฒนธรรมภาษา  และ อีกมากมาย มานานนับเป็นพันปีแล้ว 

               เมื่อได้มาเห็นอินเดีย  จึงเหมือนการได้ย้อนกลับไปดูต้นธารแห่งวัฒนธรรมไทยอีกสายหนึ่ง  นอกเหนือจาก วัฒนธรรมจีน

               แล้วผมจะเอาเรื่องอินเดียมาสลับเล่าให้ฟังกัน  รออ่านกันนะครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *