ยุโรป กับ เอเชีย นาทีนี้เป็นของใคร(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป                   (24 ตุลาคม 2557)

ยุโรป กับ เอเชีย นาทีนี้เป็นของใคร(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สาเหตุที่ญี่ปุ่นสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตัวเองจากที่ค่อนข้างย่ำแย่  มาสู่สถานะเงยหัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วนั้น    เป็นเพราะพื้นฐานที่ดีของคนในชาติ 

               ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงสาเหตุไป 2 ประเด็นแล้ว   เรามาว่ากันถึงประเด็นที่สามต่อครับ

               ประเด็นที่สาม  ความปลอดภัยต่อชีวิต และ ทรัพย์สินของประชาชน และของนักท่องเที่ยวมีสูงมาก  เพราะรัฐบาล และ ประชาชนมีพื้นฐานเข้มแข็ง

               อาจจะพูดได้ว่า   ณ.วินาทีนี้  ประเทศที่มีความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิตสูงที่สุดในโลกก็คือ  ประเทศญี่ปุ่น  ใครมีลูกหลานผู้หญิงจะไปเที่ยวญี่ปุ่นตามลำพัง  ก็ขอให้สบายใจได้ว่า   หากไปถึงญี่ปุ่นแล้ว  ลูกหลานของท่านจะปลอดภัย

               ปลอดภัยกว่าอยู่ในกรุงเทพด้วยซ้ำ 

นอกจากนี้ ยังสะดวกสบายมาก เพราะคนญี่ปุ่นมีจิตสาธารณะสูง  ให้ความเอื้ออาทรต่อนักท่องเที่ยวอย่างมาก  ประเภทที่จูงมือนักท่องเที่ยวเดินพาไปส่งจนถึงที่เป็นเรื่องปกติมาก

               ผิดกันกับในยุโรป  ที่อย่าว่าแต่ไม่จูงมือไปส่งเลย   แค่จะบอกทางยังไม่ค่อยจะบอกเลย

               ที่เป็นความทรงจำที่เลวร้ายก็คือ   ตำรวจของยุโรปส่วนใหญ่ โดยเฉพาะของอิตาลี  มักจะบอกปัดเมื่อมีนักท่องเที่ยวไปถามทาง   แล้วยังพูดจาให้ขุ่นใจอีกว่า 

               “ผมไม่ใช่ตำรวจท่องเที่ยว” 

               ผิดกันกับตำรวจของญี่ปุ่น  ที่คราวหนึ่งผมกำลังหาทางไปตลาดปลาในโอซากา   เดินมาจนถึงทางแยกไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน   จึงเข้าไปในป้อมตำรวจเพื่อถามทางไปตลาดปลา และ ร้านซูชิชื่อดังที่ชื่อ ENDO  


(สถานีตำรวจย่อย  ที่เข้าใจว่าเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย)

(ข้างๆสถานีตำรวจก็มีป้ายที่ติดประกาศบุคคลที่เป็นอันตรายต่อสังคม  ประเภทประกาศจับอยู่ด้วย)

               เข้าใจว่า  คงจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปถามหาตลาดปลา  และ ร้านซูชิร้านนี้บ่อยๆ   ตำรวจท่านนี้ก็จึงพิมพ์แผนที่ทางเดินไปตลาดปลา และ ร้านซูชิที่ว่า เพื่อมอบให้นักท่องเที่ยวที่มาถามทางด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  


(ร้านซูชิชื่อดังของโอซากา ชื่อ ร้าน ENDO  อยู่ในบริเวณตลาดปลา  จะเห็นมีคนมาเข้าคิวรออยู่หน้าร้านกันเต็ม  ถ้าใครมีโอกาสไปก็น่าไปลอง   แต่ต้องรีบไปแต่เช้าหน่อย   และราคาแพงระเบิด)        

(ผู้เขียนกับเจ้าของร้านซูชิชื่อดังของโอซาก้า)

               เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือ  ไม่มีของหาย  และ ไม่มีนักล้วงกระเป๋า  

               หากคุณลืมของเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม   ไม่ต้องกลัวหาย  เดินกลับไปที่เดิมจะเจอแน่นอน  หรือไม่เขาก็เอาไปให้เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่นั้นๆเก็บไว้ให้ 

               ร้านอาหารแทบทุกร้านจะต้องจัดตู้เอาไว้ตู้หนึ่งเพื่อเก็บของที่ลูกค้าลืมเอาไว้ในร้านโดยเฉพาะ   ไม่ว่าจะเป็นร่ม  โทรศัพท์มือถือ  กระเป๋า   เจ้าของร้านจะถามก่อนว่า  ของที่ลืมเป็นอะไร  ลืมเอาไว้วันไหน  มาทานอาหารมื้ออะไร เพราะเขาจะจดรายละเอียดติดเอาไว้กับของที่ลืมเอาไว้ด้วย

               แต่สำหรับในยุโรป   ทุกประเทศไม่เว้นแม้แต่สวิตเซอร์แลนด์   หากลืมของเอาไว้ก็ยากที่จะได้คืน

               ลำพังตอนนั่งพักในล็อบบี้  หรือ ทานอาหารเช้าในโรงแรมที่ไม่ว่าจะเป็น 5 ดาว หรือ ดาวเดียว   หรือ  ยืนคุยกันหน้าโรงแรม แค่เผลอนิดเดียวก็ถูกพวกมิจฉาชีพเข้ามาฉกซึ่งหน้ากันอยู่แล้ว 

และอย่าไปหวังว่า  ตำรวจเขาจะติดตามให้นะครับ   ทำใจได้เลย

               เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเลย    

               ประเด็นที่สี่  ราคาค่าอาหารเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมาก   แทบจะไม่เปลี่ยนจากเมื่อ10-20 ปีที่แล้วเลย   เพราะรัฐบาลจัดการได้ดี


(อาหารเซ็ทชุดนี้  ปลาย่าง 1 ตัว ข้าว 1 ถ้วย ซุป 1 ถ้วย  ผักถ้วยเล็กๆ 1 ถ้วย ราคาประมาณ 217 บาท ในภัตตาคารในกรุงเทพ  ไม่มีราคานี้ให้ทานแน่นอน)

               เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าครองชีพ   เงินเดือนของคนงาน  ค่าเช่าร้าน   ค่าภาษี  และอื่นๆแล้ว   ราคาอาหารในประเทศไทยถือว่าแพงเกินเหตุไปแล้ว

               เรื่องนี้น่าจะมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลได้แล้ว   ประเภทส้มตำริมชายหาดจานละ 350 บาท  หรือ ร้านอาหารในสถานที่ท่องเที่ยวที่โก่งราคาจนเกินเหตุ   ไม่น่าจะมีแล้ว

               ประเด็นที่ห้า   ความรู้สึกที่ใส่ใจต่อนักท่องเที่ยวแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา

               ญี่ปุ่นผ่อนผันไม่ต้องขอวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวหลายประเทศไปแล้วเมื่อกลางปีที่แล้ว   ล่าสุดตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา  ก็เพิ่มจำนนวนสินค้าที่จะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวอีก   ทั้งนี้เพื่อดึงเงินตราต่างประเทศเข้าญี่ปุ่น 

แต่เรื่องแบบนี้   ประเทศยุโรปคิดไม่เป็น และไม่เคยคิดด้วย  


(ป้ายบอกลดราคาสินค้ากันมากมายในยุโรป)  

ยกตัวอย่าง  ในขณะที่ยุโรปส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างจะอ่อนแอมาก  คนตกงานมากสุดเป็นประวัติการณ์   และ ประเทศต้องการเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างมาก   แต่ก็ไม่เคยเห็นรัฐบาลเหล่านี้คิดทำอะไรที่จะให้ความสะดวกเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวเลย 

ญี่ปุ่นตอนที่เศรษฐกิจแย่ๆเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว  ก่อนที่เขาจะยกเว้นวีซ่าให้แก่คนไทยเมื่อเห็นว่ามีการบื่นของวีซ่าของคนไทยกันทะลักทลายนั้น   เจ้าหน้าที่สถานทูตจึงเปิดรับยืนวีซ่าเป็นคิวสุดท้ายตอน 3 ทุ่ม   ทั้งๆที่ปกติเขาให้ยื่นวีซ่าได้แค่ถึงเที่ยวเท่านั้น 

และเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำการพิจารณาวีซ่าจนกระทั่งถึงเช้ากันแทบทุกวัน      

               ผิดกับสถานทูตหลายชาติในยุโรป  ยกตัวอย่าง สเปน  ทุกวันนี้ยังงมโข่งอยู่เลยว่า   การขอวีซ่าจะต้องใช้เวลา 15 วันทำการ  ไม่นับรวมวันเสาร์-อาทิตย์  ทั้งๆที่สถานทูตยุโรปของประเทศอื่นเช่น  เยอรมัน ใช้เวลาเพียง 3- 4 วันเท่านั้น  

               แล้วนักท่องเที่ยวที่ไหนจะอยากไปเที่ยวสเปน  หรือ  อยากจะไปยื่นวีซ่าของสเปน   

               ในสเปนจึงมีประกาศติดหน้าร้านลดราคาสินค้ากันหั่นแหลก 50 เปอร์เซ็นต์แบบนี้    แต่เขาคงลืมคิดไปว่า   แล้วจะหาใครไปซื้อของ  หากไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติ   

               สเปนถึงล่มสลายทางการเงินไงครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *