เมื่ออียิปต์ ใช้กาวอีพีอคซี่ ติดหนวดของตุตันคาเมน(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 ธันวาคม 2558 )

เมื่ออียิปต์ ใช้กาวอีพีอคซี่ ติดหนวดของตุตันคาเมน(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เป็นเรื่องที่ทำลายความเชื่อมั่นของนานาชาติมีต่อกระทรวงโบราณวัตถุของอียิปต์เป็นอย่างมาก  ต่อกรณีเจ้าหน้าที่ของพิพิทภัณฑ์ไคโร ได้ใช้กาวอีพ๊อคซี่ ประเภทกาวตราช้าง ไปติดหนวดที่หลุดจากหน้ากากทองคำของตุตันคาเมน จนเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก

               ไม่มีใครรู้ว่า  เจ้าหน้าที่ของพิพิทภัณฑ์ไคโรคิดอย่างไร ถึงได้เอากาวอีพ๊อคซี่ไปติดหนวด  เขากระทำไปโดยพละการ  หรือ หาคนปรึกษาไม่ได้  หรือ คิดแล้วแต่ไม่อาจหาวิธีอื่นๆแล้วหรืออย่างไร     

               เมื่อทีมงานนักโบราณคดีชาวเยอรมันช่วยซ่อมแซมหน้ากากทองคำดังกล่าว  เขาจึงได้สำรวจความเสียหายที่เกิดจากกาว  และ ศึกษาว่า  อียิปต์โบราณเขามีวิธีติดหนวดเข้าไปอย่างไร

               เขาพบว่า   ชาวอียิปต์โบราณสร้างรอยนูนขึ้นมาที่ส่วนหน้ากาก  เพื่อให้ส่วนหนวดที่ครอบลงไปสามารถยึดกับส่วนนูนนี้เอาไว้   และยังสร้างเดือย หรือ สลัก ที่ทำด้วยไม้ หรือ โลหะ สำหรับเอาไว้ยึดหนวดเข้ากับหน้ากากอีกชั้นหนึ่ง  

               หลังจากนั้น ก็ค่อยๆขูดกาวอีพ๊อคซี่ออกด้วยไม้ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อผิวของหน้ากาก   แล้วติดหนวดที่หลุดเข้าไปตามกรรมวิธีดั่งเดิม    เข้าใจว่า  ขณะนี้หน้ากากทองคำของตุตันคาเมน คงถูกนำไปแสดงในพิพิทภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว   ใครไปพิพิทภัณฑ์ไคโรก็จะได้ชมหน้ากากของตุตันคาเมนกัน


(พิพิทภัณฑ์ไคโร ที่สร้างมาเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว)

               สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกสะท้อนใจมากเมื่อได้ทราบว่า   ขุมทรัพย์ตุตันคาเมน ที่มีมากกว่า 5,000 ชิ้นที่ถูกค้นพบในสุสานตุตันคาเมนเมื่อปี พ.ศ. 2465 และถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์ไคโรขณะนี้  กำลังถูกทำลายลงทุกวัน  และในระดับที่ค่อนข้างจะรวดเร็วมาก

               จากข้อมูลของนักวิชาการระบุว่า  ความเสียหายของขุมทรัพย์เหล่านี้ภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ถูกนำออกมาจากสุสาน  มากกว่าที่มันเสียหายในช่วงเวลาประมาณ 3 พันปีที่อยู่ในสุสานเสียอีก   

               ความเสียหายที่ว่านี้  มาจากการเกิดอ๊อกซิเดชั่น หรือ การทำปฎิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจน หรือ การเกิดสนิม   และ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศ และ  ความชื้นในบรรยากาศ 

               ผิดกันกับตอนที่อยู่ในสุสานที่เหมือนอยู่ในช่องฟรีซ  หรือ การหยุดเวลา  หยุดการเปลี่ยนแปลงเอาไว้แค่นั้น 

               แต่สิ่งที่ทำร้าย และ ทำลายวัตถุโบราณเหล่านี้อย่างร้ายแรงที่สุดก็คือ  เจ้าหน้าที่ของพิพิทภัณฑ์ที่ดูแล และ ทำหน้าที่บูรณะวัตถุโบราณเหล่านี้   เพราะคนเหล่านี้ด้อยความสามารถ และ ด้อยประสบการณ์อย่างมาก 

               หลายปีก่อน  รายการ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค หรือ ดิสโคฟเวอร์รี่  ได้ถ่ายทำเบื้องหลังการบูรณะอย่างโง่ๆของเจ้าหน้าที่พิพิทภัณฑ์อียิปต์ เมื่อเคลือบปูนพลาสเตอร์บนรูปสลักของตุตันคาเมน เกิดแตก และกระเทาะแยกออกมา  


(รูปใบหน้าของตุตันคาเมนที่ทำด้วยไม้ แล้วฉาบด้วยปูน  ส่วนที่เสียหายและได้รับการซ่อมแซมแบบมือไม่ถึงก็คือส่วนที่เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่อ่อนกว่าสีดั่งเดิม)

               พูดตรงๆว่า  เห็นเบื้องหลังการซ่อมแซมดังกล่าวแล้วอยากร้องไห้   เพราะเขาทำเหมือนการซ่อมของเล่นของเด็กๆยังไงยังงั้น

               เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ  เพราะแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของพิพิทภัณฑ์จะจบการศึกษาจากคณะโบราณคดีมาก็ตาม  แต่เนื่องจากเงินเดือนค่าจ้างที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับนั้นน้อยเหลือเกิน  จึงยากที่จะหาคนดีๆมาทำงานได้     

               จำได้ว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว  ผมคุยกับไกด์ท้องถิ่นชาวอียิปต์คนหนึ่งที่จบจากคณะอียิปต์ศาสตร์  เขาบอกว่า  ภรรยาของเขาที่เรียนจบมาจากคณะเดียวกัน  และกำลังทำงานเป็นภัณฑารักษ์ในพิพิทภัณฑ์ไคโร ได้รับเงินเดือนน้อยมาก  

               ตอนนั้นคิดคำนวณแล้วประมาณไม่เกิน 2 พันบาทเท่านั้น  

               น้อยจนค่าใช้จ่ายในการไปทำงานในแต่ละเดือน  ยังมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับเสียอีก 

               ในที่สุดเขาก็ให้ภรรยาลาออกมาเลี้ยงลูก

               ดังนั้น  ในพิพิทภัณฑ์ และ กระทรวงโบราณคดี จึงเกิดภาวะสมองไหล  เจ้าหน้าที่ส่วนที่เหลือจึงเป็นพวกที่ไม่มีทางไป หรือ อยู่ไปวันๆ  จึงไม่สามารถคาดหวังความรู้ความสามารถในทางวิชาการที่จะดูแลรักษาวัตถุโบราณเหล่านี้ได้เลย

               ในอนาคต   อาจจะมีเรื่องประเภทเดียวกับ ใช้กาวอีพ๊อคซี่ติดหนวดตุตันคาเมนอีกก็ได้ 


(หน้ากากของตุตันคาเมน)

               ย้อนหลับมาพูดถึงนักโบราณคดีชาวเยอรมันเมื่อได้ทำการบูรณะหน้ากากของตุตันคาเมนแล้ว   เขาก็ได้เห็นพระนามของฟาโรห์อีกพระองค์หนึ่งอยู่ด้านในของหน้ากาก  เป็นพระนามของ ราชินีมีหนวด คือ  พระนางฮัทเชปซุส(HATSHEPSUT)

               แม้ว่าพระนางฮัทเชปซุส จะเป็นผู้หญิง   แต่พระนางก็ปกครองแผ่นดินอียิปต์โบราณในนามของฟาโรห์ ซึ่งต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

               จึงมีการให้ความเห็นว่า  หน้ากากทองคำที่สวมมัมมี่ของตุตันคาเมนนั้น   แท้จริงอาจเป็นของ พระนางฮัทเชปซุส  แต่ถูกนำมาใช้อีกครั้งกับพระศพของตุตันคาเมน

               เหตุผลหนึ่งที่นักโบราณคดีเชื่อเช่นนี้ก็คือ  ตรงส่วนหูของหน้ากากตุตันคาเมนมีรูขนาดใหญ่ที่เจาะไว้สำหรับใส่ตุ้มหู 

               เขาจึงเชื่อว่า  ตุ้มหูเป็นของผู้หญิง หน้ากากทองคำอันนี้ก็น่าจะเป็นของผู้หญิงด้วย  


(ตุ้มหูของตุตันคาเมน ที่แสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์)

               แต่ภายในห้องแสดงทรัพย์สมบัติของตุตันคาเมน ก็มีตุ้มหูขนาดใหญ่จัดแสดงไว้เหมือนกัน  ซึ่งแสดงว่า  ตุตันคาเมนเองก็คงจะสวมใส่ตุ้มหูด้วย

               ข้อสันนิษฐานว่า  หน้ากากทองคำอาจจะเป็นของ พระนางฮัทเชปซุส  จึงมีข้อโต้แย้ง   

               แต่ที่น่าติดตามต่อไปในอนาคตก็คือ  มีการเอ็กซ์เรย์ผนังห้องเก็บพระศพของตุตันคาเมน แล้วเชื่อว่า  ยังมีห้องอีกห้องหนึ่งอยู่หลังผนังห้องเก็บพระศพดังกล่าว   

               หากมีจริง  งานนี้จะเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เหนือว่าการค้นพบสุสานของตุตันคาเมในด้วยซ้ำ   โปรดอดใจรอครับ   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *