กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 เมษายน 2559 )

กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมกำลังพากรุ๊ปเดินทางไปเที่ยวเยอรมันตอนใต้ตามโปรแกรม  “เจาะเกราะบาวาเรีย” ของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล  เอเยนซี่  ก็เลยคิดว่า   น่าจะเอาเรื่องราวที่น่าสนใจของ กษัตริย์ ลุดวิกที่ 2 แห่ง บาวาเรีย (LUDWIG II OF BAVARIA)มาเล่าให้ฟัง  เปลี่ยนบรรยากาศจากการพูดถึงชีวิตของคุณหญิงมณี สิริวรสาร ผ่านทางหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร”  

               เมื่อพูดถึงแคว้นบาวาเรีย  ก็ต้องรู้จักกับตระกูลวิทเทลสบาค (HOUSE OF WITTELSBACH) ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่ปกครองแคว้นบาวาเรียมาเป็นเวลาช้านาน  เริ่มตั้งแต่ประมาณปีค.ศ. 1180 เรื่อยมาจนกระทั่งปีค.ศ. 1918  หรือ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง 


(ตราประจำตระกูลวิทเทลสบาค)

               เมื่อเป็นตระกูลเก่าแก่  ก็ย่อมจะต้องมีสมาชิกของตระกูลหลายคนที่ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆของยุโรปมากมาย  บางคนก็ได้รับตำแหน่ง ผู้เลือกตั้งตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ,  บางคนได้ดำรงตำแหน่ง อาร์คบิชอปแห่งโคโลจญ์ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่เป็นผู้เลือกตั้งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

               นอกจากนี้  ก็ยังมีสมาชิก  2 คน ได้ดำรงตำแหน่ง จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์   และยังไปเป็นกษัตริย์ของประเทศต่างอีกหลายประเทศ  เช่น โบฮีเมีย(ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก) , ฮังการี  , เดนมาร์ก  นอร์เวย  และ กรีซ 

               ความรุ่งเรืองของตระกูลวิทเทลสบาค ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ จนถึงปลาย ค.ศ. 1400  จากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมถอยอำนาจลงเรื่อยๆ  จนมีฐานะเป็นผู้ปกครองแคว้นเล็กๆที่ไม่มีอำนาจอะไรในยุโรป 

               กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2(LUDWIG II) เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาเยอรมัน  หรือที่เรียกอีกอย่างว่า  พระเจ้าหลุยส์ ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(LOUIS II OF BAVARIA)  มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1845 สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2388 ถึง พ.ศ. 2429)  ประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 ของไทย


(พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย)

               สิ่งที่ทำให้พระนาม “ลุดวิก ที่ 2” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก   มิใช่เพราะความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน   แต่เป็นเพราะจินตนาการที่สุดบรรเจิดจนเกินเหตุ  ในเรื่องของสถาปัตยกรรม และ การก่อสร้าง   

               เพราะพระองค์เป็นผู้สร้างพระราชวังที่สวยงามไว้หลายแห่งในแคว้นบาวาเรีย  เช่น  พระราชวังนอยชวานสไตน์(NEUSCHWANSTEIN)  ,  พระราชวังลินเดอร์ฮอฟ(LINDERHOF)  และ  พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ(HERRENCHIEMSEE) 


(ปราสาทนอยชวานสไตน์)

               แม้ว่าตัวพระราชวังทั้งสาม  จะเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก  ทั้งในแง่ความสวยงาม  ความแปลกประหลาดพิสดาร  และ ความมหัศจรรย์ในการสร้าง   แต่สิ่งที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ 

               บุคลิกภาพของ กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างพระราชวังทั้งสาม

               ลุดวิก ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ขณะอายุเพียง 18 ปี ซึ่งจะว่าเด็กก็ไม่ใช่  เพราะกษัตริย์ในยุโรปจำนวนไม่น้อยที่ขึ้นครองราชย์ขณะอายุประมาณนี้  อาทิเช่น  จักรพรรดิฟร้านซ์ โจเซฟ(FRANZ JOSEPH) แห่งราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ของออสเตรียก็ขึ้นครองราชย์ขณะอายุ  18 ปีเช่นกัน  

               แต่ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กษัตริย์ ลุดวิก ที่  2 ก็คือ   ทันทีที่ขึ้นครองราชย์   แทนที่จะเริ่มคิดวางแผนในการบริหารปกครองประเทศ   พระองค์กลับสั่งให้ตามหาตัวคีตกวีชื่อดังของเยอรมัน คือ  ริชาร์ด ว๊ากเนอร์(RICHARD WAGNER)  ให้มาทำงานด้านดนตรีให้พระองค์ 

               ว่ากันว่า  พระองค์ต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้สินต่างๆที่ ว๊ากเนอร์ ทำไว้ก่อนหน้านั้น  ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสมควร   เพื่อให้ว๊ากเนอร์สามารถมาทำงานให้พระองค์ได้ 

               จากนั้น   ก็ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ (ว่ากันเช่นนั้น) ในการวางแผนก่อสร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่  สองแห่งแรกที่วางแผนสร้างก็คือ  พระราชวังนอยชวานสไตน์  และ พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ 


(พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ)

               พระราชวังนอยชวานสไตน์ นั้นตั้งอยู่บนยอดเขา ที่ความสูงประมาณ 800 เมตร ในขณะที่พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ถูกวางแผนให้สร้างอยู่บนเกาะๆหนึ่งในทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของแคว้นบาวาเรีย

               นับว่าเป็นงานมหาโหดทั้งคู่  ที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสร้างในสถานที่ธรรมดาทั่วๆไปมากมายหลายเท่า   


(พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ที่ตั้งอยู่ในเกาะในทะเลสาบ)

               แล้วพระราชวังนอยชวานสไตน์ก็เริ่มก่อสร้างขึ้นก่อนในปี ค.ศ. 1869  ตามมาด้วยพระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ที่เริ่มก่อสร้างในอีก 9 ปีต่อมา 

               ทุกครั้งที่ผมพานักท่องเที่ยวไปชมพระราชวังนอยชวานสไตน์  แม้ว่าจะนั่งรถขึ้นไป   แต่ก็ยังต้องมีช่วงสั้นๆที่ต้องเดินขึ้นเขา  รวมทั้งการเดินชมภายในพระราชวังที่ต้องปีนบันไดหลายต่อหลายช่วง  ทุกคนยังรู้สึกเหนื่อยเลย 

               นึกถึงพวกแรงงานที่ต้องแบกหิน  ดิน  ปูน  ทราย ขึ้นมาก่อสร้างพระราชวังกันบนยอดเขานี้  จะยากลำบากสักขนาดไหน

               แม้ว่า  พระราชวังนอยชวานสไตน์  และ  พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ  ซึ่งเริ่มสร้างมาเมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว   จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนกระทั่งวันนี้  

               แต่เนื่องจาก  เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแคว้นบาวาเรีย ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากทุกปี  ทางการของแคว้นบาวาเรียจึงพอจะมีรายได้ที่จะทำการบูรณะ  และ สร้างต่อให้เสร็จตามแผนการเดิมที่พระเจ้าลุดวิก ที่  2 ได้วางเอาไว้ 

               สัปดาห์หน้าค่อยพูดถึงพระเจ้าลุดวิกกันต่อครับ 

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *