“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 20)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 มีนาคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 20)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จังหวะชีวิตของมนุษย์แต่ละคน  จักหานักเขียน หรือ  นักวางพล๊อตเรื่องที่เก่งที่สุดมาเขียน  ก็ยากที่จะเขียนได้ดีเท่านี้

               สิ่งหนึ่งที่หม่อมมณี ก็อาจจะไม่มีรู้มาก่อนก็คือ   หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสี ทิวงคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าหน้าแบ่งทรัพย์สินต่างๆที่อยู่ในวังบูรพา (ในส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์) ออกเป็น 7 ส่วนเท่าๆกัน ให้แก่ทายาททั้ง 7 (อ่านรายชื่อทายาททั้ง 7 ในตอนก่อนหน้านี้)  

               ทายาททั้ง 6 ต่างก็ได้รับส่วนของตัวเองไปแล้ว   ยกเว้นของพระองค์จิรศักดิ์ เพราะตอนนั้นพระองค์จิรศักดิ์ กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ  ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้รับสั่งให้พระคลังข้างที่เก็บรักษาเอาไว้ เพื่อให้พระองค์จิรศักดิ์มารับไปในโอกาสต่อไป 


(สนใจซื้อหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ที่คุณเพชรชมพู โทร  099 425 9112 รายได้มอบให้แก่ มูลนิธิ มณี สิริวรสาร เพื่อเป็นกองทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้)

               เมื่อหม่อมมณี เดินทางถึงกรุงเทพ  ศาลก็แต่งตั้งให้เธอเป็นผู้จัดการมรดกในส่วนของพระองค์จิรศักดิ์  จากนั้น หม่อมมณี พร้อมด้วยพระองค์อาภัส ก็เดินทางไปตรวจดูทรัพย์สินต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายคราม  และ เพชรนิลจินดา

               แม้ว่าจะมีบางรายการสูญหายไปบ้าง  หม่อมมณี ก็ยอมเซนต์รับของเอาไว้ตามคำแนะนำของผู้อำนวยการพระคลังข้างที่

               พระองค์อาภัส  บ่นรู้สึกเสียดายที่ รูปหล่อแพะทองคำที่ท่านได้รับมรดกไปก่อนหน้านี้  ท่านได้ขายไปแล้วตั้งแต่ตอนที่ประทับอยู่ในอังกฤษ   เพราะของที่สวยงามและมีชิ้นเดียวในโลกชิ้นนี้  หาไม่ได้อีกแล้ว 

               ไม่ทราบว่า  ตอนนี้อยู่กับใคร 

               สิ่งหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบมากก็คือ  คุณหญิงมณี มักจะให้รายละเอียดบรรยากาศของบ้านเมืองในเวลานั้นๆอย่างละเอียด  และมีแง่มุมแนวคิดค่อนข้างดี  คุณหญิงเขียนเอาไว้ว่า   

               “ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ่อค้าจีน) กลับมามีฐานะร่ำรวยขึ้นทุกที   วิธีหากินของพ่อค้าจีนหลังสงครามโลกใหม่ๆวิธีหนึ่งซึ่งคนไทยพอใจและสนับสนุนมากก็คือ……ยอมให้พ่อค้าจีนเอาที่ตินของตนไปทำการก่อสร้างตึกแถว   โดยคนจีนจะให้เงินค่าหน้าดินแก่เจ้าของที่ดินก้อนหนึ่ง  และเมื่อสร้างตึกแถวเสร็จแล้ว ก็ยกกรรมสิทธิ์ให้เจ้าของเก็บเงินค่าเช่าจากตึกแถวได้  และมีสัญญาว่า  ภายในกำหนด 8 – 10 ปี กรรมสิทธิ์ตึกแถวพร้อมที่ดิน จะกลับคืนมาเป็นของเจ้าของที่ดินโดยสิ้นเชิง” 


(ตึกแถวบนถนนพาหุรัต ปีพ.ศ. 2452 ภาพจากเฟสบุ๊ค ประเทศไทยก่อนและหลัง2475)

               แล้วพ่อค้าคนจีนจะได้อะไร 

               พ่อค้าเหล่านี้จะได้เงินที่เรียกว่า “แป๊ะเจี๊ยะ” หรือ “เงินกินเปล่า” จากจากผู้เช่าตึกแถวเท่านั้น  ซึ่งก็ทำให้ได้กำไรอย่างงดงาม  เป็นการจับเสือมือเปล่าที่ให้ผลตอบแทนที่งดงาม   ในขณะที่เจ้าของที่ดินก็ไม่รู้สึกว่า  ตนเองสูญเสียอะไร 

               ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง   มีผู้คนจำนวนมากที่กลัวภัยสงครามยอมขายที่ดินในราคาถูกๆ  เพื่ออพยพออกไปอยู่นอกกรุงเทพ     เมื่อสงครามสงบ ราคาที่ดินก็กลับพุ่งขึ้นหลายสิบเท่า 

               พวกเศรษฐีที่มีที่ดินก็ชอบที่จะปลูกบ้านให้ฝรั่งเช่า   ส่วนคนไทยที่มีเงินเหลือใช้  ก็มักจะหารายได้ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้พ่อค้าคนจีน   สมัยนั้นกฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 1.5 เท่านั้น    แต่พ่อค้าคนจีนยอมให้ดอกเบี้ยถึง 2 เปอร์เซ็นต์ 

               นั่นคือเมื่อประมาณหลังปีพ.ศ. 2490 เล็กน้อย

               อันที่จริง   ห้องแถว น่าจะเริ่มมีในประเทศไทยมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5   แต่พ่อค้าคนจีนเริ่มจะคิดวิธีทำธุรกิจแบบนี้ในช่วงปีพ.ศ. 2490 เป็นต้นมา   ทำให้ธุรกิจห้องแถวเฟื่องฟู 

               คุณหญิงมณี ยังได้เขียนเอาไว้ว่า

               “ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  จึงเห็นประจักษ์ชัดเจนว่า  อิทธิพลของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ……ได้เสื่อมทรามลงไปจนแทบไม่เหลืออยู่เลย   แต่ความนิยมสิ่งของทุกๆอย่างที่มาจากสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ” 

               คุณหญิงมณี ยังได้เขียนว่า

               “สังคมผู้ดีชั้นสูงในเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไป   สมัยก่อนนั้นบรรดาเจ้านายพวกขุนนางตระกูลเก่าๆ เป็นผู้มีอิทธิพล  ซึ่งทุกคนย่อมต้องเกรงใจ และเคารพนับถือ   แต่มาบัดนี้  ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว  พวกที่มีบทบาทสำคัญ และมีชื่อเสียงคือพวกพ่อค้า  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจีน”

               หลังจากอาศัยอยู่ในตำหนักของพระองค์หญิงรำไพ นานพอสมควร  หม่อมมณีก็ย้ายออกมาเช่าบ้านที่ตรอกไปดีมาดี  ลูกๆทั้งสามต่างก็แยกย้ายไปเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ 

               เดชนศักดิ์ เข้าโรงเรียนคริสเตียนวิทยาลัย  ส่วนทินศักดิ์ และ ลูกสาวอรมณีก็ไปเข้าโรงเรียนมาแตร์เดอี   ทุกเช้า  หม่อมมณี จะนั่งรถยนต์ ที่พระองค์อาภัส ขับไปส่งลูกๆไปโรงเรียนทุกวัน

               ชีวิตของหม่อมมณี ในเมืองไทยดูเหมือนจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น  เข้ากับสังคมเมืองไทยได้มากขึ้น  ได้พบปะสังสรรค์รับประทานอาหารที่บ้านเพื่อนฝูงมากขึ้น   วันสุดสัปดาห์ก็มีงานเลี้ยงที่บ้านกันเป็นประจำ   ดูหนังที่เช่ามาจากยูซิส(USIS) หรือ สำนักข่าวสารเมริกัน


(เยาวราช  เมื่อปีพ.ศ. 2493)

               หม่อมมณี ยังได้สร้างคอร์ต แบดมินตันไว้ภายในบ้าน  สำหรับเพื่อนๆมาเล่นกันในวันสุดสัปดาห์ และยังมีการเล่นไพ่บริดจ์  หรือ ไพ่โป๊กเกอร์

               แต่ละเดือนก็มักจะได้รับเชิญไปงานสังคมนอกบ้านที่มีงานลีลาศไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง  และมักจะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆไม่ต่ำกว่า 10 คู่ขึ้นไป   จะออกไปเต้นรำกันทุกคู่จนงานเลิก   ตอนดึกก่อนกลับบ้านก็ต้องแวะรับประทานข้าวต้มที่ราชวงศ์ หรือ เยาวราช  กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตีสองตีสามเสมอ


(หนังสือนิยาย “พลนิกรกิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต)

               ใครเคยอ่านหนังสือนิยาย “พล นิกร  กิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต  ก็จะเห็นว่า  ป.อินทรปาลิต ได้ดึงเอาชีวิตของไฮโซยุคนั้นมาเป็นเค้าโครงในการเขียนนิยายเรื่องนี้ 

               ชีวิตแบบนี้  แม้จะมีความสุขเพราะวันๆไม่ต้องทำอะไร   แต่หม่อมมณี เริ่มรู้สึกไม่พอใจ  เพราะไม่ตรงกับอุดมคติของเธอตั้งแต่สมัยที่เรียกอ๊อกซ์ฟอร์ด 

               มารี เพื่อนสนิทเคยบอกกับหม่อมมณีก่อนที่จะแต่งงานกับ พระองค์จิรศักดิ์ว่า   อย่าลืมตัวจนกลายเป็นพวกเศรษฐีขี้คร้าน(THE IDLE RICH)  

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *