ระเบียบการสอบใบขับขี่ใหม่ ใครได้ประโยชน์(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (31 มีนาคม 2560 )

ระเบียบการสอบใบขับขี่ใหม่ ใครได้ประโยชน์(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สัปดาห์นี้  ขอพูดถึงเรื่องในประเทศที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ  ก็คือเรื่องที่กรมการขนส่งทางบกเตรียมจะปรับระบบการสอบใบขับขี่ใหม่ ให้ยากขึ้นกว่าเดิม ด้วยหวังจะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน   การขอใบอนุญาตใบขับขี่ในปีพ.ศ. 2560 – 2561  จะทำให้ยากขึ้น  

               โดยจะเพิ่มเวลาอบรมจาก 4 ชั่วโมง เป็น 5 ชั่วโมง และจะขยายเป็น 15 ชั่วโมงในอนาคต

               ส่วนการสอบภาคภาคทฤษฎีที่ปัจจุบันมี 50 ข้อ  จะเพิ่มข้อสอบเป็น 60 ข้อ โดยใช้เกณฑ์เดิมคือ ผ่าน 90%  ในปีพ.ศ. 2560 

               และจะดึงโรงเรียนสอนขับขี่เอกชนเข้ามาร่วมในการสอน และ อบรมด้วย 

               ผมคิดว่า  กรมการขนส่งทางบกกำลังเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า

               หลักการของการสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ก็คือ  การทดสอบว่า  บุคคลผู้นั้นมีความสามารถในการบังคับรถยนต์ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่   และมีความรู้เรื่องกฎจราจรเพียงพอที่จะนำพายานพาหนะไปตามถนน และ ให้เป็นตามกฎจราจรหรือไม่   


(นี่คือไฟจราจร) 

               ขั้นแรกของการสอบใบขับขี่ก็คือ  ผู้สอบจะต้องมีความรู้เรื่องกฎจราจรดีทุกอย่างเสียก่อน   หมายความว่า   เขาจะต้องรู้ว่า  ไฟแดงหมายความว่าอะไร  ไฟเขียวหมายความว่าอะไร  ไฟเหลืองหมายความว่าอะไร

               และต้องรู้ว่า   ป้ายจราจรบนถนนต่างๆ  บังคับให้คนขับรถต้องทำอะไรบ้าง  และ  อื่นๆ 

               หลังจากนั้น   ผู้สอบใบขับขี่ก็จะต้องสอบการบังคับรถยนต์ให้สามารถเดินหน้า  ถอยหลัง  เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา  วิ่งไปตามถนน  และ บังคับรถให้จอดชิดฟุตบาทได้ตามกฎข้อบังคับ  ก็ถือว่าสอบผ่านสามารถมีใบอนุญาตขับขี่ได้  


(สัญญาณจราจร)

               วิธีการที่ผมว่ามานี้   เป็นหลักสากลที่ทั่วโลกทำกัน  และในประเทศไทยก็ทำกันมาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว  

               ยกตัวอย่าง ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา  เขาจะแบ่งข้อสอบใบขับขี่ออกเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มแรกจะเป็นเรื่องกฎจราจร และ เครื่องหมายจราจรมี 15 ข้อ  กลุ่มที่ 2 จะเป็นส่วนความรู้ทั่วไปในการขับขี่รถยนต์ และ สถานการณ์ต่างๆบนท้องถนนที่ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนจะต้องประสบและแนวทางในการแก้ปัญหา มี 25 ข้อ 

               กลุ่มแรก  ห้ามตอบผิดแม้แต่ข้อเดียว   หากตอบผิดก็ถือว่าสอบตก    ในขณะที่กลุ่มที่ 2 สามารถตอบผิดได้ไม่เกิน 5 ข้อ หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์   หากตอบผิดเกิน 5 ข้อ  ถือว่าสอบตก

               ก่อนสอบ  ผู้เข้าสอบสามารถอ่านคำถาม และ คำตอบของข้อสอบทุกข้อได้ก่อน   หรือแม้กระทั่งสามารถหาอ่านได้ตามเว็บไซต์ของหน่วยงานสอบใบขับขี่ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ “ความลับ” หากแต่เป็น “ความรู้”  ที่รัฐต้องการให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  

               หากสอบข้อเขียนตกในวันนี้   ผู้สอบสามารถเข้าสอบใหม่ได้ในวันรุ่งขึ้น  และทำแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ  จนกว่าจะสอบข้อเขียนได้  โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

               เมื่อผ่านการสอบข้อเขียนแล้ว   ก็สามารถสอบการขับขี่จริงได้เลย  โดยจะมีเจ้าหน้าที่นั่งคู่ไปด้วย    หากสอบขับขี่รถไม่ผ่าน  ผู้สอบจะต้องรออีก 2 เดือน  กว่าที่จะกลับมาสอบขับขี่ได้อีกครั้ง

               ถ้าสอบการขับขี่รถผ่าน   ก็จะได้รับการยืนยันว่า  เป็นผู้สอบผ่าน และจะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์


(ตัวอย่างใบขับขี่ของสหรัฐอเมริกา)

               ส่วนใบขับขี่ตัวจริง   เจ้าตัวจะต้องไปรับกับตุลาการ หรือ ที่เราเรียกว่า ศาล นั่นแหละ   เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์   เพราะเวลาผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจร และได้รับใบสั่ง  เขา หรือ เจ้าของรถยนต์ ก็จะต้องไปรายงานตัวต่อศาล และ จ่ายเงินค่าปรับกับศาล 

               ไม่ใช่ไปจ่ายตามธนาคาร  หรือ  ร้านสะดวกซื้อแบบที่ประเทศไทยกำลังจะทำกัน

               (ระเบียบเกี่ยวกับการสอบใบขับขี่ และ การจ่ายเงินค่าใบสั่ง อาจแตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละรัฐของอเมริกา)   

               ผมยังจำได้ว่า   ตอนที่ผมสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของรัฐหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกานั้น  ผมก็ไปอ่านข้อสอบ และ คำตอบที่หน้าห้องสอบ แล้วเข้าไปสอบ  ครั้งเดียวก็ผ่าน  จากนั้นก็ไปสอบการขับขี่รถยนต์   ครั้งเดียวก็ผ่าน 

               ไม่ยุ่งยากแบบที่กรมการขนส่งกำลังจะทำในประเทศไทย  สัปดาห์หน้าผมจะมาว่าต่อ  ว่า  การเปลี่ยนระบบการสอบใบขับขี่ให้ยุ่งยากมากขึ้น  ใครได้ประโยชน์ครับ

               ผมจะนำทัวร์ไปชม พิงค์มอส ดอกวิสทีเรีย เริ่มจากโตเกียวไปจบที่โอซาก้า  ระหว่างวันที่ 9 – 15 พฤษภาคม นี้  ไหว้พระใหญ่ไดบุทซึคามาคุระ  และอีกมากมาย  สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 ครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *