อียิปต์-ดินแดนมหัศจรรย์ แสนลึกลับ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 ตุลาคม 2559 )

อียิปต์-ดินแดนมหัศจรรย์ แสนลึกลับ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               อียิปต์เป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก  อายุใกล้เคียงกับอารยะธรรมเมโสโปเตเมียของอิรัก   อารยะธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุของอินเดีย  และใกล้เคียงกับอารยะธรรมของจีน 

               เมื่อนับระยะทางจากลุ่มแม่น้ำไนล์ ไปถึงลุ่มแม่น้ำฮวงเหอ ของจีน ไม่น่าจะต่ำกว่า 6000 กิโลเมตร  หรือ ไม่น้อยกว่า 5000 กิโลเมตรไปถึงลุ่มแม่น้ำสินธุของอินเดีย

               แม้จะอยู่ห่างไกลกันขนาดนี้  อารยธรรมของชาติเก่าแก่เหล่านี้  กลับมีความใกล้เคียง  หรือ  คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ 

               การนับทิศของชาวอียิปต์ จะนับตามการไหลของแม่น้ำ  ชาวอียิปต์รู้มานานแล้วว่า  ต้นน้ำของแม่น้ำไนล์จะอยู่สูงกว่าปลายน้ำ  จึงมักจะเรียกต้นน้ำว่า  เหนือ  หรือ  บน


(แผนที่ของอียิปต์  แม่น้ำไนล์ไหลจากทิศใต้ขึ้นไปสู่ทิศเหนือ ไปลงทะเลที่เมืองอเล็กซานเดรีย ชาวอียิปต์โบราณจึงเรียกทางใต้ว่าอียิปต์บน และเรียกทางเหนือว่า  อียิปต์ล่าง)     

               ย้ำนะครับว่า   เรียกว่า  เหนือ  หรือ  บน  ไม่ใช่ทิศเหนือ  ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า UPPER  ส่วนปลายน้ำ ก็จะเรียกว่า  ใต้  หรือ  ต่ำ  ซึ่งก็ไม่ใช่ทิศใต้นะครับ   ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า  LOWER 

               ชาวจีนโบราณจะเรียกทิศตามการไหลของแม่น้ำเช่นกันว่า  บน  หมายถึง ต้นน้ำ  และ  ล่าง หมายถึง  ปลายน้ำ  

               ซึ่งไม่เกี่ยวเรื่องทิศเหนือ และ ทิศใต้อีกเช่นกัน 

               เพราะไม่ว่าชาวอียิปต์โบราณ  หรือ  ชาวจีนโบราณล้วนมีความรู้เรื่องทิศเป็นอย่างดี  เนื่องจากทั้งสองชาตินี้ มีความรู้เรื่องดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างลึกซึ้งยิ่ง

               ดังนั้น   เมื่อผมนำนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวอียิปต์   จึงต้องอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีเสียก่อน   ไม่เช่นนั้น  จะเกิดความสับสน

               เพราะกษัตริย์ทางภาคใต้ของอียิปต์ จะเรียกว่า  กษัตริย์แห่งอียิปต์บน (KINGS OF UPPER EGYPT) ซึ่งจะสวมมงกุฎสีขาว ที่มีลักษณะคล้ายพินโบว์ลิ่ง   


(มงกุฎขาว ซึ่งเป็นมงกุฎของกษัตริย์แห่งอียิปต์บน ที่อยู่ทางทิศใต้ของอียิปต์)

               ในขณะที่กษัตริย์ของภาคเหนือของอียิปต์ จะเรียกว่า กษัตริย์แห่งอียิปต์ล่าง(KINGS OF LOWER EGYPT)  จะสวมมงกุฎสีแดงที่มีลักษณะคล้ายเก้าอี้   


(มุงกุฎแดง ซึ่งเป็นมงกุฎของกษัตริย์แห่งอียิปต์ล่าง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอียิปต์)  

               ผมคิดว่า  หลายท่านคงจะกำลังงงแล้ว 

               ชาวอียิปต์ให้ความสำคัญกับทิศตะวันออก  ว่าเป็นทิศแห่งการเกิด  และ  ให้ทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตาย   ทั้งนี้   ก็มาจากการเห็นว่า  พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกของแม่น้ำไนล์  และ  จะตกทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์

               ชาวอียิปต์โบราณ  จึงถือว่า  ทิศตะวันออกเป็นทิศที่เป็นของคนเป็น  และ  ทิศตะวันตกเป็นทิศของคนตาย  

               ชาวอียิปต์โบราณ จึงเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของตนเองไว้ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์   และ ให้แผ่นดินฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ในการฝังศพ  หรือ  เป็นสุสานนั่นเอง  

               ดังนั้น  ไม่ว่าจะเป็นพีระมิดต่างๆ  หรือ หุบผากษัตริย์ และ  หุบผาราชินี  ที่เกี่ยวข้องกับความตาย  ต่างก็อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์ทั้งสิ้น   ในขณะที่วิหารต่างๆเช่น  วิหารคาร์นัค  วิหารลักซอร์  วิหารคอมออมโบ ฯลฯ  และเมืองธีบส์ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมงคล และ  คนเป็น   ต่างก็อยู่บนฝั่งขวา หรือ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ 


(วิหารคาร์นัค ที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวา  หรือ บนทิศตะวันออกของแม่น้ำไนล์)

               ซึ่งก็ให้บังเอิญมาต้องตรงกันกับความเชื่อของชาวอินเดียโบราณที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสินธุ   ที่มองว่า  ทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งความเป็นมงคล  และ  มองว่า  ทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความอัปมงคล 

               ชาวฮินดูตั้งแต่ยุคโบราณจะมีพิธีถวายสักการะต่อพระอาทิตย์ในตอนเช้าที่ริมแม่น้ำ  เรียกว่า  สุริยะนมัสการ  เป็นการต้อนรับพระอาทิตย์ขึ้นของทุกเช้าวันใหม่ 


(ชาวอินเดิยทำพิธี สุริยะนมัสการ ตอนเช้ามืดที่ริมฝั่งคงคา ในเมืองพาราณสี)

               นอกจากนี้  วิหารฮินดูโบราณ  จะมีหลักว่า  จะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสมอ   จึงมีปรากฎการณ์ของแสงแรกของอาทิตย์จะส่องทะลุ 15 ช่องประตูที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เข้าไปสู่ห้องศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่ตั้งของศิวะลึงค์  


(แสงแรกของพระอาทิตย์ที่ส่องผ่าน 15 ช่องประตูเข้าไปที่ปราสาทหินพนมรุ้ง)

               แนวคิดที่มาตรงกันโดยบังเอิญ 

               ผมกำลังจะนำนักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด  เดินทางไปอียิปต์  ท่องแดนฟาโรห์ ระหว่างวันที่ 3 – 13 ธันวาคม นี้   หากสนใจจะร่วมเดินทางไปด้วยกัน  เชิญสำรองที่นั่งได้ที่  02 651 6900  

               สำหรับผู้สนใจจะร่วมเดินทาง กรุณารีบจองด่วน เพราะต้องใช้เวลาในการทำวีซานานพอสมควร     

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ     

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *