อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟม ทริป(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 พฤษภาคม 2560 )

อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟม ทริป(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว   ผมได้มีโอกาสนำคณะนักท่องเที่ยว ของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล  เอเยนซี่ ไปเที่ยวอียิปต์ตามโปรแกรม อียิปต์- ท่องแดนฟาโรห์ โดยมี ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การสปาฟา หรือ  SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายชม

               อาจารย์พิสิฐ และ ผม มีเรื่องฉงนสงสัยเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ  ทำไม่  อารยะธรรมอียิปต์โบราณ จึงรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย แทบจะหาต้นไม้ไม่ได้เลยสักต้น 

               ต้นไม้ที่พบมาก็คือ สามเหลี่ยมดินแดงปากแม่น้ำไนล์ และ ริมฝั่งแม่น้ำไนล์เท่านั้น


(สนใจหนังสือ ท่องโลกศิลปวัฒนธรรมกับเสรษฐวิทย์ อียิปต์-กรีซ-ตุรกี ติดต่อ 02 651 6900)

               และเป็นเรื่องที่น่าฉงนสงสัยอีกด้วยว่า   ทำไม  สถานที่เที่ยวชมในอียิปต์จึงมีเพียง วิหาร  สุสาน  และ  สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ เช่น  พีระมิด  หรือ หุบผากษัตริย์ เท่านั้น

               ทำไม  เราจึงไม่เห็นพระราชวังของฟาโรห์เลย  แม้แต่สักหลังเดียว 

               จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่มีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ในทะเลทราซาฮารา ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศอียิปต์ระบุว่า   พื้นที่แห่งนี้เมื่อนับหมื่นปีที่แล้ว  เคยเป็นทะเลสาบที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน


(แผนที่อียิปต์  ทางด้านซ้ายของอียิปต์ก็คือ ทะเลทรายซาฮารา)

               นอกจากนี้  ยังค้นพบซากของพืชพันธุต่างๆมากมาย  ที่เคยขึ้นอยู่ในบริเวณแถบนี้อีกด้วย 

               เป็นการย้ำว่า  ในพื้นที่ประเทศอียิปต์ปัจจุบัน  หรือ แม้แต่ในทะเลทรายซาฮารา  ล้วนเคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งมาก่อน  จนเกิดชุมชนเมืองขึ้นในภายหลัง

               ชุมชนเมืองของชาวอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 6000 – 7000 ปีที่แล้ว และ ชุมชนที่มีอายุเก่าแก่มากกว่านั้น  ต่างก็เคยใช้ไม้เป็นวัสดุในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของตนเองมาก่อน 

               ใครที่มีโอกาสไปชม พีระมิดแบบขั้นบันไดซัคคารา(SAQQARA) ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์โซเซอร์ (DJOSER) จากราชวงศ์ที่ 3 ของอียิปต์โบราณ ที่มีอายุประมาณ 4687 ปีแล้ว   ก็จะเห็นหลักฐานการใช้ไม้ในการก่อสร้างของยุคก่อนหน้านั้น   


(คณะนักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ที่ พีระมิดขั้นบันได)

               ถ้าจะพูดให้เห็นภาพว่า ซัคคารา มีความเก่าแก่แค่ไหน ก็ต้องบอกว่า ในขณะที่ ซัคคารา มีอายุ 4687 ปีนั้น  กรุงโรมจะมีอายุเพียงประมาณ 2800 ปีเท่านั้นเอง 

               นักอียิปต์ศาสตร์ระบุว่า  ซัคคารา เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ทำด้วยหินเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ  ออกแบบโดย อิมโฮเทป (IMHOTEP) ซึ่งมีฐานะเหมือน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกแบบสร้าง

               ก่อนหน้ายุคของอิมโฮเทป  การก่อสร้างส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะใช้ไม้เป็นหลัก

               ดังนั้น  อิมโฮเทป  จึงยังรู้สึกผูกพัน ถวิลหา และ ยังจดจำภาพสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้อยู่ในใจ  และนำมาถ่ายทอดเป็นการก่อสร้างที่ทำด้วยหินของเขา

               บริเวณซุ้มทางเข้าของซัคคารา ที่เป็นทางเดินแคบๆ กว้างประมาณหนึ่งเมตรเศษๆ  มีเพดานที่ทำด้วยหินรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม  ซึ่งนักอียิปต์ศาสตร์ระบุว่า  สร้างด้วยเจตนาเลียนแบบเพดานที่ใช้ต้นไม้  หรือ ต้นซุงมาวางเรียงกัน


(ทางเดินแคบๆ บนเพดานมีลักษณะคล้ายขอนไม้วางเรียงกัน)

               นอกจากนี้  ถัดจากซุ้มทางเดินนี้เข้าไป   ก็จะพบประตูปลอมที่สร้างเลียนแบบประตูไม้ ที่เปิดปิดโดยยึดกับกำแพงด้วยบานพับแบบเดียวกับบ้านไม้ในปัจจุบันนี้  

               เพียงแต่ประตูที่นี่ทำด้วยหิน   ไม่สามารถเปิดปิดได้  จึงเป็นเสมือนการจำลองภาพประตูไม้เอาไว้เฉยๆเท่านั้น   

               บนทางเดินที่เชื่อมไปสู่ลานกว้างของพีระมิดแบบขั้นบันได  มีเสาขนาดใหญ่ประมาณ 20 ต้น เรียงรายอยู่สองข้างทางเดิน มีลักษณะเหมือนการเอาต้นไม้ขนาดเล็กกว่าต้นมะพร้าวมามัดรวมกันเป็นเสาเพื่อรับน้ำหนักส่วนที่เป็นเพดานและหลังคา 


(เสาหินในซัคคารา ที่เป็นทรงนูนออก)

               นักอียิปต์ศาสตร์ สันนิษฐานว่า  อิมโฮเทป สร้างเลียนแบบเสาที่ทำด้วยไม้ที่เขาเคยเห็นมาก่อน

               ผมถึงบางอ้อทันทีว่า  เสาที่สวยงามในวิหารของกรีก ที่ทำเป็นทรงเว้าเข้าที่เรียกว่า FLUTING  นั้น   น่าจะได้แนวคิดมาจากเสาของอียิปต์โบราณ  เพียงแต่แทนที่จะนูนขึ้นมา  ก็กลับเว้าเข้าไปแทน 


(เสากรีกที่มีลักษณะเว้าเข้า เป็นภาพสำนักงาน CINCINNATI LIFE INSURANCE)

               ก็สวยไปคนละแบบ

               สนใจเดินทางไปชมอียิปต์  กับ ไอยคุปต์ คอนซอร์เตี้ยม  ติดต่อได้ที่ทุกเอเยนต์ที่คุณรู้จัก

               ว่าจะเล่าเรื่องทำไมจึงไม่เหลือพระราชวังของอียิปต์โบราณให้เห็นแม้แต่แห่งเดียว  แต่ก็ไถลไปเล่าเรื่องอื่นเสียนี่   สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *