อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 มิถุนายน 2561 )

อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมค่อนข้างจะเชื่อในเรื่อง “โชควาสนา” พอสมควร  และเมื่อมาชิมไวน์ที่ อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่(INGLENOOK WINERRY)  และได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของไร่ไวน์แห่งนี้  ก็ยิ่งทำให้ผมมีความเชื่อในเรื่อง “โชควาสนา” มากขึ้นอีก

               อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยนัก  แต่ อิงเกิลนุค เป็นผู้ผลิตไวน์ที่มียี่ห้อ FRANCIS COPPOLA ซึ่งแน่นอนว่า  จะเป็นคอปโปล่า คนอื่นไปไม่ได้   นอกจาก ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง  “THE GODTATHER”

               เมื่อมาทำ WINE TASTING ที่ไร่อิงเกิลนุค  ผมจึงได้รู้ว่า  ไร่ไวน์แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เป็นตำนาน และ ถูกขายให้แก่บุคคลที่เป็นตำนานอีกคนหนึ่ง  และ  ไวน์อิงเกิลนุคก็กำลังจะเป็นไวน์ในตำนานในอนาคต


(สำนักงานของไร่ไวน์ อิงเกิลนุค)

               ไร่ไวน์แห่งนี้  บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ไร่ไวน์นีโบม-คอปโปล่า (NIEBAUM – COPPOLA ESTATE)  เพราะประวัติของไร่ไวน์แห่งนี้  ย้อนกลับไปหาบุคคลที่มีชื่อว่า กัปตัน กุสตาฟ นีโบม ซึ่งเป็นกัปตันเดินเรือ และ เป็นผู้ผลิตไวน์ชาวฟินแลนด์ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว    

               ในปีค.ศ. 1858  นีโบม เริ่มงานอาชีพนักเดินเรือด้วยการลงเรือไปอลาสก้า ในเรือที่เป็นเจ้าของร่วมกันโดย รัสเซียและอเมริกัน   ขณะนั้น  เขาอายุ 16 ปีเท่านั้น


(ปราสาท หรือ ที่เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า ชาโตว์ ในไร่อิงเกิลนุค ถือเป็นชาโตว์แห่งแรกของนาปา วัลเลย์)

               หลังจากนั้นไม่นาน  เขาก็ค่อยๆเขยิบฐานะการทำงานขึ้นมาจนเป็นกัปตันเรือในที่สุด 

               ต่อมา  เขาได้ร่วมกับเพื่อนๆเปิดบริษัทการค้าและเดินเรือ ชื่อบริษัท HANSEN , NYBOM & CO  เพื่อค้าขนสัตว์ และ หนังสิงโตทะเล  กิจการประสบความสำเร็จอย่างดีเรื่อยมา  และเนื่องจากนีโบม ค้าขายสินค้าส่วนใหญ่ของเขาที่ ซาน ฟรานซิสโก  เขาจึงยึดเมืองนี้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของเขา


(กัปตันนีโบม (คนที่สองจากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทเดินเรือด้วยกัน)

               เป็นที่น่าสังเกตว่า  ยุคที่นีโบมประสบความสำเร็จทางการค้านี้  เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่ ไฮนดริค ชิลิมานน์  ค้าขายทางทะเลระหว่างรัสเซีย และ ยุโรปจนร่ำรวยมหาศาล   และต่อมาก็เป็นผู้ลงทุนขุดค้นเมืองทรอยด้วยหวังสมบัติที่ฝังอยู่ในเมืองนั้น


(ไฮนดริค ชิลิมานน์ นักล่าสมบัติ)

               อาจเป็นเพราะนีโบมได้ภรรยาเป็นเชื้อสายฝรั่งเศส  เขาจึงมีความสนใจในเรื่องการทำไวน์  และเริ่มมองหาที่ดินสักผืนที่มีความเหมาะสมในการปลูกองุ่น เพื่อทำไวน์

               แรกทีเดียว  นีโบมต้องการจะซื้อที่ดินในฝรั่งเศส   แต่ภรรยาไม่เห็นด้วย เพราะต้องเดินทางไกลเกินไป  

               ดังนั้น  ในปีค.ศ. 1879  กัปตันนีโบม จึงตัดสินใจซื้อที่ดินจำนวน 450 เอเคอร์ หรือประมาณ 1138 ไร่  ในพื้นที่ที่เรียกว่า รุธเธอร์ฟอร์ด ในเขตที่ปัจจุบันนี้เรียกขานกันว่า  นาปา วัลเลย์  เพื่อทำธุรกิจไวน์ 

               ไร่ไวน์นี้มีชื่อเรียกว่า อิงเกิลนุค


(ผลผลิตไวน์ในปีค.ศ. 2016)

               นีโบมจริงจัง และ หลงไหลกับผลิตไวน์อย่างมาก  เขาเดินทางไปยุโรปบ่อยๆ  เยี่ยมเยียนไร่ไวน์ในฝรั่งเศส  เยอรมัน  สเปน  โปรตุเกส  และ อิตาลี  เขาขนเอาหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์จากยุโรปกลับมาหลายร้อยเล่มมาสะสมอยู่ในไร่ของเขา 

               และยังได้สั่งซื้อไวน์จากหลายประเทศของยุโรปเข้ามาเพื่อศึกษาอีกด้วย

               ต้นองุ่นที่อยู่ติดที่ดินที่เขาซื้อมานั้น  เป็นองุ่นคุณภาพต่ำที่ชื่อ มัลวอยซี่ สีดำ (BLACK MALVOISIE)   นีโบมจึงตัดสินใจโค่นทิ้งต้นองุ่นเหล่านี้ทั้งหมด  แล้วซื้อพันธุ์ ซูวิยอง บลองซ์(SAUVIGNON BLANC) จาก ซาน โฮเซ(SAN JOSE) มาปลูกแทน 

               และได้สั่งซื้อองุ่นอีกหลายพันธุ์จากยุโรป  อาทิ  ปิน็อต นัวร์(PINOT NOIR) , เกรนาเช่ (GRENACHE) ,  คาริกนาน(CARIGNAN)  ,  ทานแนต(TANNAT)  ,  คาแบร์เน ซูวิยอง(CARBERNET SAUVIGNON)  , เมอร์ล็อต(MERLOT)  ,  ไวท์ รีสลิง(WHITE RIESLING)  และ  เชนิน บลองซ์(CHENIN BLANC)  และอีกหลายพันธุ์มาปลูก  เพื่อสร้างไวน์คุณภาพดีขึ้นมา  


(ผู้เขียน กับปราสาทอิงเกิลนุค)

               ด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษในขั้นตอนการผลิตไวน์  เช่น  คัดเอากิ่งก้านต่างๆ และ  ใบองุ่นออกเสียก่อนที่จะเอาไปทำไวน์ และ  ทำการบรรจุไวน์ใส่ขวดเพื่อออกขาย 

               ก่อนอื่นต้องทราบว่า  ในสมัยนั้น  การขายไวน์ในอเมริกา  เขาจะส่งกันในถังใหญ่ๆเลย  ยังไม่มีใครคิดจะส่งกันด้วยขวด   จึงถือว่า  นีโบมเป็นคนแรกที่ขายไวน์ด้วยการบรรจุขวด

               ผลของความตั้งใจ และ เพียรพยายามของนีโบม นี่เอง  ทำให้ไวน์ อิงเกิลนุค กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในหมู่ผู้ดื่มไวน์  และทำให้ไวน์ อิงเกิลนุค ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในเทศกาล WORLD’S FAIR  หรือ WORLD EXPO  ที่กรุงปารีส ในปีค.ศ. 1889

               ขอเรียนเป็นเกร็ดเล็กๆว่า  งานเอ็กซ์โปคราวนี้ที่ปารีส  โลกได้รู้จักกับสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ที่เป็นกล่าวขานจนแม้ทุกวันนี้ คือ หอไอเฟิล 


(หอไอเฟิล ในปีค.ศ. 1889  ปีที่จัดงานแสดงสินค้า)

               อิงเกิลนุค รักษาคุณภาพของไวน์ให้อยู่ในระดับสูงนับแต่นั้นเรื่อยมาจนกระทั่ง งาน PANAMA-PACIFIR INTERNATIONAL EXHIBITION ที่จัดที่ซาน ฟรานซิสโก ในปีค.ศ. 1919 

               ในงานนี้เอง  ที่ไวน์จาก อิงเกิลนุคได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศในการประกวดไวน์มากที่สุดถึง 19 เหรียญทองด้วยกัน   เกินกว่าที่ใครๆในวงการไวน์ของคาลิฟอร์เนียจะคาดคิด

               กัปตันนีโบม เสียชีวิตก่อนหน้านั้นในปีค.ศ. 1908  ทิ้งทรัพย์สมบัติล้ำค่าให้ภรรยาของเขาเป็นผู้ดูแลต่อ 

               ก่อนหน้าที่ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า จะเข้ามาซื้อกิจการหลายสิบปี

               พบกันสัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *