ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 มิถุนายน 2562)

ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์ชุดแรก ที่ผมพูดถึงไปในบทความก่อนหน้านี้ก็คือ  ตะขอ ,  แส้  และ  มงกุฎ 2 ชั้น ซึ่งบอกถึงความเป็นฟาโรห์ ผู้ครองแผ่นดินทั้ง อียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง 

               จะเห็นว่า  บนมงกุฎของฟาโรห์บริเวณหน้าผาก จะมีสัตว์อยู่อย่างน้อย 1 ชนิดประดับอยู่    สัตว์ที่ว่าก็คือ  งูเห่ากำลังแผ่แม่เบี้ย

               ตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ  งูเห่า เป็นเทพีที่ชาวอียิปต์ต่ำ(LOWER EGYPT) ให้ความเคารพ  เรียกว่า  เทพี วาดเจต (WADJET)  แต่มักจะเรียกงูเห่าที่ติดอยู่ที่มงกุฎว่า  อูเรอุส (URAEUS) 


(อูเรอุส ประดับอยู่ตรงหน้าผากของฟาโรห์ รามเซส ที่ 2)

               เนื่องจากในพื้นที่ของ อียิปต์ต่ำ คือภาคเหนือของอียิปต์ จะเป็นภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน  มีฝนตกมากกว่าภาคใต้ของอียิปต์  ดังนั้น  พื้นที่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงปากแม่น้ำไนล์  จะเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขัง  เป็นพื้นที่หนองบึง  เต็มไปด้วยป่ากก หรือ  ต้นไม้พุ่ม 

               จึงเป็นที่อาอาศัยของงูเห่า จำนวนมาก

               ในสมัยโบราณ  ใครก็ตามหากถูกงูเห่าฉกกัด   ก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ  ตาย

               ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ   หากเขาหวาดกลัวสัตว์อะไร  ก็มักจะสถาปนาให้สัตว์ชนิดนั้นเป็นเทพเจ้า   หรือ  ในทางตรงกันข้าม   หากเขารักหรือชื่นชมสัตว์อะไร ก็จะสถาปนาให้เป็นเทพเจ้าอีกเช่นกัน 

               งูเห่าจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นเทพเจ้า  แต่ลดดีกรีความโหดร้ายลงมา ด้วยการให้เป็น เทพี  หมายถึง  เทพผู้หญิง   และให้มาประดับอยู่ตรงหน้าผากของฟาโรห์  เพื่อทำหน้าที่ปกป้อง หรือ พิทักษ์ฟาโรห์

               ชาวอียิปต์โบราณจะยึดถือกันว่า  เทพี วาดเจต เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นกษัตริย์  คนธรรมดาไม่สามารถเอาไปใช้ได้    

               แต่กระนั้น  ภาพของเทพเจ้าบางองค์ เช่น  เทพฮอรัส(HORUS)  เทพเจ้าหัวนกอินทรีย์  และ เทพเซธ(SETH)  เทพเจ้าแห่งความชั่วร้าย  ก็มีเทพี วาดเจต ประดับอยู่ที่หน้าผากด้วยเช่นกัน  


(เทพฮอรัส ที่สลักอยู่บนกำแพงของวิหารเอ็ดฟู  ตรงหน้าผากของเทพฮอรัส จะมีเทพี วาดเจต ประดับอยู่) 

               ยืนยันถึงความสูงส่ง และ ศักดิ์สิทธิ์ของ เทพีวาดเจต  ตามความเชื่อแบบอียิปต์โบราณ

               ขณะเดียวกัน  ในพื้นที่ภาคใต้ของอียิปต์ที่เรียกว่า อียิปต์บน (UPPER EGYPT) ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง กันดาร  แตกต่างจากภูมิอากาศของภาคเหนือโดยสิ้นเชิง 

               ในทะเลทรายจะมีสัตว์หลายชนิดที่หากินอยู่ หนึ่งในสัตว์ดังกล่าวก็คือ  นกแร้ง ที่คอยหากินกับทรากศพของมนุษย์ที่เดินทางหลงทิศในทะเลทราย  หาทางออกไม่เจอจนขาดน้ำ และ  อาหาร  และ ตายในที่สุด

               บางครั้ง  นกแร้งพวกนี้จะลงมาจิกกินมนุษย์ที่ยังไม่ทันหมดลมหายใจด้วยซ้ำ  เป็นเรื่องที่น่าสยองขวัญมาก  

               เมื่อหวาดกลัวนกแร้งมากๆ   คนอียิปต์โบราณจึงสถาปนานกแร้งให้เป็นเทพเจ้าเสียเลย  เพื่อช่วยปกป้องชาวอียิปต์   

               ด้วยแนวคิดแบบเดียวกัน  ก็คือเพื่อลดความแข็งกร้าว และ โหดร้ายของนกแร้ง   ชาวอียิปต์จึงสถาปนานกแร้งให้เป็นเทพี   แทนที่จะเป็นเทพ   เรียกชื่อว่า เทพี เนคห์เบท (NEKHBET)  เป็นเทพีสำคัญ หรือ เทพีอุปถัมภ์ของ อียิปต์บน (UPPER EGYPT)

               ด้วยเหตุนี้  จึงถือกันว่า  เทพี เนคห์เบท  หรือ เทพีนกแร้ง  เป็นเทพีแห่งอียิปต์บน  และ   เทพี วาดเจต หรือ เทพีงูเห่า  เป็นเทพีแห่งอียิปต์ล่าง 

               ชาวอียิปต์บน หรือ ภาคใต้ของอียิปต์ จะเคารพนับถือ เทพี เนคห์เบท  ในขณะที่ชาวอียิปต์ล่าง  หรือ ภาพเหนือของอียิปต์  จะเคารพนับถือ เทพี วาดเจท

               เมื่อฟาโรห์ขึ้นครองราชย์  เป็นผู้มีอำนาจเหนือแผ่นดินทั้งอียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง   ที่มงกุฎจึงมีเทพีทั้งสองชนิด เคียงคู่กันตรงหน้าผาก  เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปกปักรักษาฟาโรห์


(หน้ากากทองคำของมัมมี่ ตุตันคามุน จะเห็นเทพี อูเรอุส กับเทพี เนคห์เบท ของอียิปต์ล่าง และ อียิปต์บน ประดับอยู่)  

               จึงถือว่า  งูเห่า  และ  นกแร้ง เป็น เครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกอย่างหนึ่งของฟาโรห์  

               สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับ ผม และ  บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่  สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่  02 651 6900 หรือ  088578 6666 หรือ Line ID 14092498  เรามีทัวร์ออกเดินทางทุกเดือน

               สนใจสั่งซื้อหนังสือ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์”  เล่ม 2 “อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” ก็สามารถสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทรข้างต้น  ปกแข็งราคาเล่มละ 490 บาท

               ท่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังไป 5 ปีได้ที่ บล็อก ซอกซอนตะลอนไป ของ www.whiteelephanttravel.co.th  ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .