เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 ตุลาคม 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วิหารสุริยะเทพแห่งโมเดห์รา มีความแปลกกว่าวิหารฮินดูอื่นๆ  ตรงที่นอกจากอาคารสำคัญหลัก สองอาคารแล้ว  ยังมีอาคารเก็บน้ำใต้ดินที่ตั้งอยู่ติดกันอีกด้วย

               อาคารหลักสองอาคารก็คือ กุดดามานดาปา(GUDHAMANDAPA)  หรือ ส่วนที่ประดิษฐานของเทพเจ้า  และ ซับบามานดาปา (SABHAMANDAPA)  ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงการร้องรำทำเพลงเพื่อถวายแด่เทพเจ้า

               ส่วนที่สาม ซึ่งอยู่ถัดมาก็คือ มุนดา (KUNDA) มีความหมายว่า  สระเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า STEPWELL


(แผนผังของอาคาร และ อาคารเก็บน้ำใต้ดิน)

               สิ่งก่อสร้างทั้งสาม  จะวางตัวเรียงกันในแนวทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก   กล่าวคือ  อาคารศักดิ์สิทธิ์จะหันประตูไปทางทิศตะวันออกเสมอ  เพื่อรับแสงอาทิตย์แรกเมื่อพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า  


(ภาพที่มองจากอีกด้านหนึ่งของสระ  จะเห็น ซับบามานดาปา (SABHAMANDAPA) อยู่ถัดไป) 

               เพราะตามความเชื่อในศาสนาฮินดู  ถือว่า  ทิศที่ศักดิ์สิทธิ์  หรือ  ทิศมงคล ก็คือทิศตะวันออก  และเป็นทิศของเทพ  ซึ่งน่าสนใจมากตรงที่ไปสอดคล้องต้องกันกับแนวคิดของศาสนาอียิปต์โบราณพอดี  

               เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะให้คำจำกัดความของบ่อน้ำที่ว่านี้  เพราะมันสวยงามอย่างมาก   มากกว่าจะเป็นเพียงแค่บ่อน้ำ  ดูแล้วน่าจะเป็นเหมือนอาคาร  หรือ  วิหาร ที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม  แต่แทนที่จะสร้างสูงขึ้นไปในอากาศ  กลับสร้างลึกลงไปในพื้นดิน 


(ภาพซ้ายมือก็คือ สุริยเทพ ส่วนขวามือก็คือ  พระวิษณุ)

               เมื่อเปรียบเทียบการเดินไปรอบๆมณฑป ชมภาพแกะสลักบนหินทรายที่สวยงาม  กับการเดินลงไปชมภาพแกะสลักในบ่อน้ำใต้ดินแล้ว  แทบจะมีบรรยากาศเหมือนกันเป๊ะเลย   

               ผมจึงสมัครใจที่จะเรียกว่า  อาคารเก็บน้ำใต้ดิน 

               แล้วน้ำเหล่านี้มาจากไหน ?

               แน่นอนว่า  น้ำส่วนหนึ่งก็คือน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล  อีกส่วนหนึ่งก็คือน้ำซับ  หรือ น้ำจากใต้ดิน ที่ค่อยๆไหลซึมออกมาตลอดทั้งปี  จนกระทั่งมากพอที่จะเป็นบ่อเก็บน้ำได้ 

               บ่อน้ำแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นเพียงเพื่อถวายแด่สุริยะเทพเท่านั้น  ไม่ได้มีเจตนาจะให้ประชนชนนำไปใช้อุปโภคบริโภคกัน  ลักษณะของมันจึงมีรูปทรงเป็นบ่อน้ำสี่เหลี่ยม  เหมือนสระศักดิ์สิทธิ์ในวิหารคาร์นัค ที่เมืองลักซอร์ ประเทศอียิปต์ 


(น้ำในสระ ที่เขียวไปด้วยตะไคร่น้ำ เพราะไม่ได้ผ่านการใช้งานเลย)

               ในอดีต  น้ำในสระคงจะอยู่ในระดับค่อนข้างเต็มพอสมควร  แต่ในปัจจุบัน  อาคารเก็บน้ำใต้ดินจำนวนมาก ซึ่งประมาณว่ามีอาคารเก็บน้ำใต้ดินในรัฐคุชราฎมากกว่า 180 บ่อ  กำลังแห้งขอดลงไปทุกวัน

               สาเหตุก็มาจาก  ฝนเริ่มตกน้อยลง  นอกจากนี้  น้ำใต้ดินก็ค่อยๆเหือดแห้งหายไปด้วย   เพราะประชาชนนิยมขุดบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้  ทำให้น้ำใต้ดินหายไปจนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก  จนไม่เกิดน้ำซึม หรือ น้ำซับอีกเลย  

               เมื่อเดินชมไปรอบๆ กุดดามานดาปา  ก็จะเห็นงานช่างแกะสลักที่ประณีต ละเอียด ตามผนังโดยรอบ  ส่วนใหญ่จะบรรยายถึง สุริยะเทพ กำลังทรงรถเทียมม้า 7 ตัว  และใกล้ๆกันนั้น  มักจะมีรูปสลักของ พระวิษณุ อยู่ด้วย


(ภาพอีโรติค จากกามสูตร)

               ที่แน่นอนและขาดไม่ได้ก็คือ  ภาพสลักอีโรติค กามสูตร ที่มีอยู่รายรอบไปทั่วทั้งวิหาร 

ในอีกอาคารหนึ่ง  เป็นอาคารสังสรรค์ที่เรียกว่า ซับบามานดาปา (SABHAMANDAPA) ก็มีภาพแกะสลักที่ตามเสาหินต่างๆชวนให้เพลิดเพลินในการชม  


(โค้งบนซุ้มประตู ที่แกะสลักอย่างสวยงาม เรียกว่า โทรานา)

โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า  ซุ้มประตู ที่เรียกว่า โทรานา (TORANA)

               คำว่า  โทรานา นี่เอง ที่กลายเป็นต้นกำเนิดไปสู่อีกหลายภาษา หลายเชื้อชาติ  สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าลงไปในรายละเอียดนะครับ  

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอินเดีย รัฐคุชราฎ และ รัฐโอดิสสา  รวมทั้งได้ไปสมัสการพระบรมธาตุ 2 องค์ของพระพุทธเจ้าด้วย  เราจะมีกรุ๊ปในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2563

               โปรดรอติดตามนะครับ   รับรองว่า  เที่ยวแบบเจาะลึก  ที่พัก 5 ดาว อาหารหลากหลาย  สะดวก และสะอาดครับ

               หรือหากสนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม  เรามีทัวร์ออกทุกเดือนครับ  ที่ใกล้ที่สุดก็คือ  14 – 23 พฤศจิกายน  สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID  14092498 ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .