พิธีต่ออายุฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ (ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 มกราคม 2563)

พิธีต่ออายุฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ (ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทำไม ในเมืองซัคคารา ซึ่งเป็นดินแดนของคนตาย (NECROPOLIS) หรือ สุสานที่ใช้ฝังศพของฟาโรห์  จึงมีลานกว้างขนาดใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่า   ใช้ในการทำพิธีเฮบ เสด หรือ พิธีต่ออายุการขึ้นครองราชของฟาโรห์ออกไปอีก 30 ปี

               เพราะฟาโรห์เป็น คนเป็น  ไม่ใช่คนตาย

               เรื่องนี้  มีผู้รู้อธิบายว่า  ลานกว้างขนาดใหญ่ที่ว่านี้  อิมโฮเทป(IMHOTEP) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของฟาโรห์ ซอร์เซอร์ เจตนาสร้างให้เพื่อว่า ฟาโรห์ซอร์เซอร์จะได้นำไปใช้ในโลกหน้า  หรือ  ในโลกหลังความตายนั่นเอง 


(ผู้เขียน ที่พีระมิดแบบขั้นบันได)

               ถ้าเป็นไปตามข้อสันนิษฐานที่ว่านี้จริง  ก็แสดงว่า  จะต้องมีลานขนาดใหญ่แบบนี้  อยู่ในเมืองเมมฟิส(MEMPHIS)  ซึ่งเป็นเมืองคนเป็น (ACROPOLIS) ในยุคนั้นด้วย   

เพราะเมืองเมมฟิสในขณะนั้น มีฐานะเป็นเมืองหลวงของอียิปต์โบราณ

               ลานกว้างในเมืองเมมฟิสนี้  เพื่อให้ฟาโรห์ได้ใช้ในพิธีต่ออายุของพระองค์จริงๆในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

               หลักฐานที่เชื่อถือได้ระบุว่า  ฟาโรห์ซอร์เซอร์ ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์แรกของราชวงศ์ที่ 3 ในยุคอาณาจักรเก่า (THE OLD KINGDOM) ครองราชอยู่ประมาณ 19 ปี   หากระยะเวลาในการครองราชเป็นเช่นนี้จริง  ก็แสดงว่า   ฟาโรห์ซอร์เซอร์ อาจจะไม่คยผ่านพิธีเฮบ เสด มาเลยก็ได้ 

               แต่นั่นเป็นการสันนิษฐาน  เพราะพระองค์อาจจะครองราชนานกว่านั้นก็ได้   เนื่องจากตามที่ผมได้บอกไปแล้วในบทความตอนที่ 1 ว่า  ขึ้นอยู่กับปฎิทิน และ เหตุการณ์สำคัญของแต่ละยุค  ที่อาจจะทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันก็ได้

               การนับระยะเวลาในการครองราชย์  บางครั้งก็นับจากประเพณีการนับปศุสัตว์(เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเก็บภาษี)  ซึ่งในบางสมัยมีการนับปศุสัตว์ปีละครั้ง  บางสมัยอาจจะนับปีละ 2 ครั้ง  หรือ บางสมัยอาจจะนับ 2 ปีครั้งก็ได้  จึงอาจเป็นเหตุให้  นักประวัติศาสตร์นับเวลาของการขึ้นครองราชผิดไป

               นี่ยังไม่นับ  คติโบราณของอียิปต์ ที่กำหนดให้ 1 เดือนมี 3  สัปดาห์  และ  1 สัปดาห์มี 10 วัน  แทนที่จะเป็น 7 วันอย่างในทุกวันนี้

               เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรทำให้การกำหนดนับระยะเวลาในทุกเรื่อง  ไม่เฉพาะเพียงระยะเวลาในการครองราชย์เท่านั้น ที่อาจจะผิดเพี้ยนไปได้

               สมมติว่า  ฟาโรห์ทำการปราบกระทิง หรือ วัวดุได้แล้ว (ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม)  ฟาโรห์ก็จะเดินมาที่ตำหนัก  หรือ ปะรำพิธี ที่อยู่ด้านข้างของลาน  เพื่อจะทำพิธีราชาภิเษก  หรือ ต่ออายุการครองราชออกไปอีกครั้ง


(ตำหนัก  หรือ ปะรำพิธี ที่ฟาโรห์จะขึ้นไปเพื่อทำพิธีขั้นสุดท้ายของ พิธีเฮบ เสด)

               ว่ากันว่า  ฟาโรห์จะขึ้นไปบนตำหนักแรก  แล้วทำการแต่งองค์ทรงเครื่องตามแบบของอียิปต์ล่าง  แล้วสวมมงกุฎแดง ที่เป็นของอียิปต์ล่าง   จากนั้นก็ถอดออก   แล้วเดินไปที่ตำหนักที่สอง

               ฟาโรห์จะแต่งองค์ทรงเครื่องตามแบบของอียิปต์บน แล้วสวมมงกุฎขาว ที่เป็นของอียิปต์บน  จากนั้นก็ถอดออก  แล้วเดินไปที่ตำหนักถัดไป 

               ที่นี่เอง  ฟาโรห์จะแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่อีกครั้ง  แล้วทำการสวมมงกุฎสองชั้น  คือ  มุงกุฎของอียิปต์ล่างและอียิปต์บนทับกัน  เรียกว่า  มงกุฎสองชั้น (DOUBLE CROWN)  


(มงกุฎสองชั้น ของอียิปต์โบราณ  ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า  ฟาโรห์พระองค์นี้  มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะครองบัลลังก์อียิปต์ออกไปอีก  30 ปี

               เป็นการจบพิธี เฮบ เสด


(เทพฮอรัส ถือเครื่องหมายการเฉลิมฉลองพิธี เฮบ เสด ในมือ  ปลายสุดก็คือรูปกบ 3 ตัว  ซึ่งกบแต่ละตัวก็คือตัวเลข 1 แสน  หมายถึง ให้ฟาโรห์มีอายุยืนยาว 3 แสนปี)

               สนใจร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับ ผม และ ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่ ซึ่งมีออกเดินทางทุกเดือน   ติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ  LINE ID  14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .