อียิปต์โบราณ ใช้ช้างในการทำสงครามหรือไม่(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 มีนาคม 2563)

อียิปต์โบราณ ใช้ช้างในการทำสงครามหรือไม่(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อดูภาพสลักตามวิหารโบราณของอียิปต์  จะพบว่า  พาหนะที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ในการทำสงครามจะมีเพียง วัว ควาย ม้า รถศึกเทียมม้า  หรือ เรือ เท่านั้น 

               ทำไม  ชาวอียิปต์โบราณจึงไม่ใช้ช้างศึกในการทำสงคราม  ทั้งๆที่ช้างเป็นสัตว์พื้นเมืองของอัฟริกา


(เกาะช้าง หินหลายก้อนมีลักษณะคล้ายส่วนต่างๆของช้าง-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ที่เมืองอัสวาน  ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศอียิปต์  มีเกาะกลางแม่น้ำไนล์เกาะหนึ่งชื่อ  เกาะช้าง (ELEPHANTINE ISLAND)  เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานกันมาตั้งแต่อียิปต์โบราณ ประมาณราชอาณาจักรเก่า(THE OLD KINGDOM) ในช่วง 2886 ถึง 2181 ปีก่อนคริสตกาล   จนกระทั่งในยุคอียิปต์คอปติค(COPTIC)  ซึ่งก็คือ  ยุคที่ชาวอียิปต์นับถือศาสนาคริสต์เกือบทั้งประเทศ

               ข้อสันนิษฐานบางกระแสบอกว่า  ชื่อดังกล่าวอาจจะได้มาจากก้อนหินที่อยู่รอบๆเกาะมีลักษณะคล้ายส่วนหัว หรือ ส่วนบั้นท้ายของช้าง

แต่อีกกระแสบอกว่า  เพราะบนเกาะดังกล่าวเคยเป็นตลาดกลางที่ค้าขายสินค้าจากอัฟริกา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  งาช้าง  มาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่า


(เครื่องประดับ ที่ทำด้วยงาช้าง และ หินกึ่งอัญมณี จากยุคอาณาจักรใหม่)

               เราจึงได้เห็นเครื่องประดับโบราณเป็นสร้อยคอทำด้วยงาช้าง  และ  พัดมือถือของฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่มีด้ามจับทำด้วยงาช้างสลักพระนามของตุตันคาเมน ทั้งสองชิ้นสร้างในยุคอาณาจักรใหม่(THE NEW KINGDOM) ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล

               หรือประมาณ 3600 ปี ถึง 3100 ปีที่แล้ว


(พัดมือถือของตุตันคาเมน)

               แต่ดูเหมือนว่า  อียิปต์โบราณจะไม่ได้นำช้างตัวเป็นๆมาใช้งานในเวลานั้นเลย

               ต่อมา  ประวัติศาสตร์บันทึกว่า  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อครั้งยกทัพไปทำสงครามในอินเดียประมาณ 327 – 326 ปีก่อนคริสตกาล   ก็ได้ประจักษ์ว่า  กองทัพของอินเดียใช้ช้างเป็นพาหนะในการทำสงคราม  ซึ่งสร้างความแตกตื่นแก่ทหารของอเล็กซานเดอร์เป็นอย่างมาก

               ต่อมา  เมื่อฮานนิบาล(HANNIBAL) ยกทัพจากเมืองคาร์เธจ(CARTHAGE) ซึ่งก็คือ ประเทศตูนีเซีย ในปัจจุบัน ข้ามช่องแคบยิบรอลต้า ไปยังคาบสมุทรไอบีเรียน(IBERIAN PENNINSULAR) ซึ่งก็คือ สเปนในปัจจุบัน  แล้วเดินทัพขึ้นไปเพื่อจะทำสงครามกับ สาธารณรัฐโรมัน(ROMAN REPUBLIC)  หมายจะยึดกรุงโรมในราว 218 ปีก่อนคริสตกาล

               สงครามครั้งนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า  สงครามพิวนิค ครั้งที่ 2 (SECOND PUNIC WAR )


(ภาพวาดตามจินตนาการ การเดินทัพ ของ ฮานนีบาง ที่จะไปทำสงครามพิวนิค ขณะเดินทางข้ามเทือกเขาเอลป์ ทำให้ช้างต้องตายไปเป็นจำนวนมาก-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ฮานนิบาล ได้นำช้างศึกไปร่วมรบกับเขาด้วย  แต่น่าเสียดายว่า  ช้างศึกเหล่านั้นต้องล้มตายไปมากมายระหว่างเดินทางข้ามเทือกเขาพีเรนิส(PYRENEES) เพราะไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาวมากๆมาก่อน

               ครั้งนั้น  กองทัพช้างของฮานนีบาลได้สร้างความตื่นตกใจให้แก่กองทัพของโรมันไม่น้อยทีเดียว   แต่ช้างก็มีจุดอ่อน  ซึ่งเมื่อพวกโรมันจับทางถูก  ใช้คบเพลิง และ ไฟในการต่อสู้ ก็สามารถแก้เกมส์จนช้างศึกเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบให้แก่กองทัพของฮานนิบาลแต่อย่างใด

               และในที่สุดก็ลงท้ายด้วยความพ่ายแพ้ของฮานนิบาล  ทั้งๆที่เกือบจะเอาชนะพวกโรมันได้อยู่แล้ว


(วิหารคอม ออมโบ)

               ที่น่าสนใจบนเส้นทางล่องเรือสำราญในแม่น้ำไนล์  ที่วิหารคอม ออมโบ ซึ่งเป็นวิหารอียิปต์ในรูปแบบศิลปเกรโก -โรมัน สันนิษฐานว่าสร้างในราว 180 -50 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคของราชวงศ์ปโตเลมี ที่เป็นชาวกรีก


(ภาพสลักภายในวิหาร คอม ออมโบ แสดงภาพช้าง)

               บนผนังจะมีรูปสลักที่ค่อนข้างจะแปลก   เพราะมีรูปสัตว์ที่ไม่ว่าจะดูยังไงก็น่าจะเป็นช้าง ปรากฎอยู่ 

               จะเห็นว่า  ช่วงเวลาของการแกะสลักที่วิหารคอม ออมโบ นั้น   เกิดขึ้นหลังจากสงครามพิวนิค ครั้งที่ 2  ของฮานนีบาลอยู่ประมาณ 30 ปีเศษ  จึงน่าจะเป็นไปได้มากที่  ชาวอียิปต์โบราณเริ่มจะรู้จักควบคุมบังคับ และ รู้จักเอาช้างมาใช้หลังจากที่ได้เห็น หรือ ได้รู้ว่า  ชาวคาร์เธจสามารถเอาช้างมาใช้ในการทำสงครามแล้ว

               แม้ว่าจะภาพสลักการใช้ช้างในสมัยของฟาโรห์ปโตเลมี  แต่ก็ไม่มีบันทึกที่ชัดเจนยืนยันได้ว่า  ฟาโรห์ใช้ช้างในการทำสงครามที่ไหน  กับใคร 

               เพียงแต่บอกได้ว่า  อียิปต์โบราณได้ใช้ช้างในช่วงท้ายๆของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง 

               สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ กับ ผม  โทร 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ  Line ID 14092498   

               สัปดาห์หน้า  จะขอเปลี่ยนบรรยากาศไปพูดถึงอินเดียกันครับ

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .