ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 เมษายน 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สัปดาห์นี้  ผมจะพูดเรื่อง ซัปตา มัททริกา  และ เรื่อง ทำไม วิหารพาราสุราเมศวา จึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  

               ในระบบความคิดเรื่องเทพเจ้าทางศาสนาฮินดูนั้น  มีการวางแผน  และ จัดวางเอาไว้อย่างลึกซึ้ง มีปรัชญาความคิดเป็นตัวชี้นำอยู่

               เริ่มจากเทพเจ้าหลัก 3 องค์ คือ พระพรหม  พระวิษณุ และ พระศิวะ ที่รวมเรียกว่า  ตรีมูรติ  ซึ่งหากจะพิจารณาในเรื่องกฎแห่งธรรมชาติ  เทพเจ้าทั้งสาม ก็ทำหน้าที่เพื่อความสมดุลย์แห่งธรรมชาติ  คือ  พระพรหม ผู้สร้าง  พระวิษณุ ผู้ปกครอง และ พระศิวะ ผู้ทำลาย  แล้วย้อนกลับไปเริ่มที่พระพรหม อีกครั้ง  เป็นวัฎจักรที่ไม่สิ้นสุด

               จะด้วยสาเหตุที่พระศิวะ มีฐานะเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย หรือไม่ก็ตาม   เราจึงมักจะเห็น วิหารฮินดูส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ  อาจจะเพราะเพื่อขอพรไม่ให้ตัวเองถูกทำลายก็เป็นได้    

เทพเจ้าที่ได้รับการเคารพรองลงมาก็คือ  พระวิษณุ

               แต่เราแทบจะไม่เห็นวิหารของพระพรหมเลย  เพราะอะไร   เรื่องนี้ผมจะเล่าต่อในตอนต่อๆไป  สำหรับในสัปดาห์นี้  จะเล่าเรื่อง ซัปตา มัททริกา เสียก่อน


(พระแม่ปาร์วาตี  มเหสีของพระศิวะ ซ้ายมือก็คือ พระพิฆเณศวร ขวามือคือ คาร์ติเคยา ทั้งคู่เป็นโอรสของปาร์วาตี-ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               ตรีมูรติ มีมเหสีที่รู้จักกันทั่วไป คือ พระพรหม มีมเหสี คือ พระแม่สรัสวาตี (SARASVATI) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรู้  ภูมิปัญญา  ดนตรี  และ  ศิลปะ  ,  พระวิษณุ มีมเหสี คือ พระแม่ลักษมี  (LAKSHMI) เทพีแห่งความมั่งคั่ง  ความโชคดี  ความอุดมพันธุ์  และที่สำคัญก็คือ  เป็นเทพีแห่งมารดา  ,  พระศิวะ มีมเหสี คือ พระแม่ปาร์วาตี (PARVATI)  เทพีแห่งมารดา   เป็นเทพีผู้มีพลังแห่งสวรรค์ 


(รูปสลักของ พระแม่ลักษมี ที่มีชื่อว่า  คชลักษมี อยู่ที่สถูปทางศาสนาพุทธที่เมือง ซานจี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               และจากการที่ ตรีมูรติ มีมเหสีนี่เอง  ได้เป็นต้นกำเนิดของลัทธิ ชัคติ (SHAKTI) ซึ่งเป็นลัทธิของการบูชาเพื่อขออำนาจ และ พลังต่างๆ  

               ชัคติ เป็นนิกายย่อยของนิกาย ตันตระ ซึ่งแตกออกมาจากศาสนาพุทธ  เมื่อครั้งที่ศาสนาพุทธค่อยๆเสื่อมถอยลงในอินเดีย จากนั้น  นิกาย ตันตระ ก็ค่อยๆพัฒนาจนกระทั่งศาสนาพุทธหายไปจากอินเดียในราวศตวรรษที่ 12


(รูปสลักของพระแม่ สรัสวาตี มเหสีของ พระพรหม – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ลัทธิชัคติ  มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ มัททริกา

               มัททริกา โดยความหมายก็คือ มารดาแห่งสวรรค์    ในศาสนาฮินดู  มัททริกา  จะหมายถึง  กลุ่มของมารดาที่มักจะแสดงตัวร่วมกัน  หรือ พร้อมกัน  เพื่อแสดงพลัง และ ใช้อำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆ  เช่น  ต่อสู้กับความชั่วร้ายในโลก  หรือ  ใช้พลังไปในการทำความดี  

               แต่เนื่องจาก  มเหสีของ ตรีมูทริ  โดยเฉพาะพระศิวะ  และ  พระวิษณุ  เป็นเทพีที่มีลูกของตัวเอง   ความรู้สึกของการเป็นมารดาจึงมีสูง   ดังนั้น  มเหสีทั้งสองของ พระศิวะ และ พระวิษณุ จึงไม่ลงไปปฎิบัติการต่างๆ ในทางร้าย เช่น การทำลายล้าง ด้วยพลังและอำนาจด้วยตัวเอง

               จึงเป็นที่มาของ มัททริกา 

               กลับมาพูดถึง วิหารพาราสุราเมศวา ในเมืองบูห์บาเนสชวา  ด้านข้างของวิหารจะมีรูปสลักของ  มัททริกา 7 องค์เรียงรายกันอยู่ 


(วิหารพาราสุราเมศวา  ผนังด้านหน้าที่เห็น มีรูปสลักของ ซัปตา มัททริกา)

มัททริกาทั้งเจ็ดองค์  รวมเรียกว่า  ซัปตา ทัททริกา  ซัปตา เป็นภาษาสันสกฤต  แปลว่า 7

ซัปตา ทัททริกา ทั้ง 7 องค์จะอยู่เรียงกันไป   ปลายด้านขวา  จะมีรูปสลักของ พระพิฆเณศวร  ซึ่งเป็นโอรสของ พระศิวะ กับ พระแม่ปาร์วาตี วางอยู่  


(พระพิฆเณศร อยู่ริมขาวมือสุด  องค์สีขาว  ปลายสุดอีกด้านก็คือ รูปสลักของ บิระบาห์ดรา)

ส่วนด้ายซ้ายสุด   จะเป็นรูปสลักของ บิระบาห์ดรา (BIRABHADRA) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองดูพระแม่ทั้ง 7  แต่เสียดายว่า  แตกหักเสียหายไปบางส่วน  

       บิระบาห์ดรา  ก็คืออวตารของพระศิวะนั่นเอง   เพราะวิหารพาราสุราเมศวา  เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ  และ  พระแม่ปาร์วาตี

       ว่ากันว่า  พิธีบูชาต่อ ซัปตา มัททริกา ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับวิหารแห่งนี้  จะกระทำกันในตอนเย็น  หรือ ตอนพลบค่ำ

       จึงเป็นคำตอบ หรือ  ข้อสันนิษฐานส่วนหนึ่งว่า   ทำไม   วิหารหลังนี้  จึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

       สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย กับผู้รู้  ติดต่อ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .