ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 11)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 มิถุนายน 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 11)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แรกทีเดียว  ผมกะจะเขียนเรื่องเล่าจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ต่อ ตามคำขอของท่านผู้อ่าน  แต่เมื่อคิดจะกลับมาเขียนใหม่หลังจากที่หยุดเขียนไปเป็นปี  มันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะต้องอ่านย้อนหลังว่า  เขียนไปถึงไหนแล้ว และอ่านต่อไปว่าจะเขียนเรื่องอะไรต่อ  

               จึงต้องขอเวลาอีกสักนิดครับ

               พอดีได้อ่านความเห็นที่น่าสนใจของเพื่อนชาวฮินดู  เกี่ยวกับการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และ ไว้อาลัยต่อการสูญเสียบุคคลในครอบครัวของญาติหรือคนที่รู้จัก  ซึ่งช่วงหลังนี้จะเห็นเขียนคำว่า RIP  กันมาก   ก็เลยคิดว่า  น่าจะนำมาขยายต่อครับ

               ก่อนอื่นต้องเข้าใจแนวคิดในการพูดคำว่า RIP ซึ่งย่อมาจากคำว่า  REST IN PEACE  มีความหมายว่า  ขอให้พักผ่อนอย่างสบาย  หรือ หลับอย่างเป็นสุข  นั้น มาจากโลกตะวันตก ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก

               ชาวคริสต์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝังศพ  และเชื่อว่า  วิญญาณของผู้ตายจะสิงสถิตอยู่กับร่างในหลุมฝังศพไปตลอดเพื่อรอวัน “ตัดสินครั้งสุดท้าย” (JUDGEMENT DAY)  อันเป็นวันที่พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาจะลงมารับวิญญาณของผู้ตายในหลุมฝังศพ  เพื่อจะตัดสินว่า  


(ภาพเขียนสีปูนเปียก เรื่อง  การตัดสินครั้งสุดท้าย  ฝีมือของ  ไมเคิลแองเจโล ในสมัยศตวรรษที่ 16  บนผนังห้องของโบสถ์ ซีสทีน ในนครวาติกัน  ครึ่งล่างของภาพคือผู้ที่ถูกส่งไปลงนรก  ส่วนครึ่งบนของภาพก็คือ  ผู้ที่ถูกส่งไปขึ้นสวรรค์) 

ใครทำความดี  ก็จะให้ไปสวรรค์   แต่ใครทำความชั่ว  ก็จะให้ไปลงนรก 

นี่คือสาเหตุที่วิญญาณผู้ตายที่นับถือศาสนาคริสต์จะต้อง พักผ่อนอย่างสงบในโลงศพ (RIP) เพื่อรอวันที่พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาจะลงมาตัดสิน

แต่ในส่วนของชาวฮินดู   เขาเชื่อในเรื่องวัฎจักรของการเวียนว่ายตายเกิด  และ  การไปสู่การหลุดพ้น ที่เรียกว่า  MOKSHA  หรือ  ที่แปลเป็นไทยว่า  โมกษะ

ส่วนการไปเกิดใหม่นั้น  จะไปดีหรือไปร้าย  ก็ขึ้นอยู่แต่ “กรรม” (KARMA)  ของแต่ละคนที่ทำกันมา 

ปกติ  ชาวฮินดูจะเผาศพทันทีในวันที่เสียชีวิต  หรือ ในวันรุ่งขึ้น  หลังจากนั้น  ก็จะมีพิธีทำบุญทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายที่เรียกว่า เทราห์วิน (TERAHVIN) หมายถึง  การทำบุญให้ผู้ตาย 13 วัน

ในช่วง  4 วันแรกของเทราห์วิน  ครอบครัวผู้ตายจะต้องหยุดประกอบอาชีพหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ  หลังจากนั้นจนครบ 13 วัน  สมาชิกครอบครัวจะถูกห้ามไม่ให้ไปที่วิหาร หรือ ไปแตะต้องเทวรูปเป็นอันขาด  เพราะถือว่า  ร่างกายมีมลทิล  หรือ  ไม่สะอาด

การทำบุญที่สำคัญที่สุดก็คือ  วันที่ 13  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการไว้ทุกข์  เพราะคำว่า  เทราห์วิน  ในภาษาสันสกฤต แปลว่า  13 

หลักการของวันสุดท้ายของ  เทราห์วิน  ก็คือ  แจกอาหารให้แก่คนยากคนจน และ เลี้ยงอาหารให้แก่พราหมณ์ ผู้มาประกอบพิธี  เพื่อส่งให้ผู้ตายไปเกิดใหม่  ตามแรงบุญ  หรือ  แรงกรรม ที่เจ้าตัวได้ทำมา

นอกจากนี้  ก็อาจจะมีการทำพิธี ปูจา (PUJA) ซึ่งเป็นพิธีที่แสดงความเคารพอย่างสูง  การให้เกียรติ  การเคารพบูชา  ที่จะใช้ ไฟ  ดอกไม้ และ น้ำ เป็นส่วนประกอบสำคัญ  จากนั้น  ก็จะมีการมอบอาหารให้แก่พราหมณ์ผู้ทำพิธีด้วย   ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ  

คำว่า ปูจา  ต่อมาก็ได้กลายเป็นคำว่า  “บูชา” ในภาษาไทย

จะเห็นว่า  แนวคิดในการปฎิบัติต่อผู้ตายของ ชาวคริสต์  และ  ชาวฮินดู นั้น  แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง   ดังนั้น  ชาวฮินดูที่รู้จักประเพณีที่แท้จริง   เขาจะไม่แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของคนที่รัก หรือ คนที่รู้จักด้วยคำพูดว่า  RIP


(มุมมองเรื่องเปรต ของชาวฮินดูในอินเดีย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เพราะมันเชื่อมโยงต่อไปกับแนวความคิดที่ว่า  วิญญาณที่อยู่ในหลุมฝังศพ จะมีสภาพเป็น  “เปรตา”(PRETA)  ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า  จากไป  ตาย หรือ คนตาย  หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ  วิญญาณของผู้ตาย  ซึ่งมักจะหมายถึง  วิญญาณที่หิวโหย (HUNGRY GHOSTS) เพราะไม่สามารถกินอาหารได้ด้วยเหตุผลหลายๆประการ


(มุมมองเรื่อง เปรต  ของชาวพม่า – ภาพจากวิกิพีเดีย)

วัฒนธรรมไทยก็รับเอาแนวคิดเรื่อง “เปรตา” มาเหมือนกัน  แต่เรียกว่า “เปรต” 

ดังนั้น  ความเชื่อในศาสนาฮินดู เมื่อพูดว่า  RIP จึงหมายถึง  การบอกให้ผู้ตายพักผ่อนในหลุมฝังศพอย่างสงบ  ไม่ให้ไปผุดไปเกิดใหม่  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควร

จึงควรพูดว่า  OM SHANTI ออกเสียงว่า  โอม  ชานติ  แปลว่า  สันติภาพ และ ความสงบเงียบ ซึ่งเป็นบทสวดบทหนึ่งในคัมภีร์พระเวท ที่ชาวฮินดูนิยมมาก

เพื่อส่งวิญญาณให้ไปเกิดใหม่ หรือ ไป โมกษะ หรือ ไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งมีรายละเอียดมาก

ศาสนาพุทธ ก็มีความเชื่อในเรื่องหลังความตายหลายๆอย่างที่คล้ายกับ ความเชื่อของศาสนาฮินดู   และทั้งพุทธ คริสต์ และ ฮินดู  ต่างก็เชื่อในเรื่อง  นรก และ  สวรรค์ เหมือนกัน  

และเชื่อในเรื่องผลกรรมของแต่ละคน  ที่จะนำทางไปสู่สวรรค์ หรือ  นรก  คล้ายๆกัน  

แต่จะพูดแบบใด  ขอให้ไปสู่สุขคติ  หรือ  OM SHANTI  หรือ  RIP  ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านนะครับ  ผมแค่เอามาเล่าให้ฟังเท่านั้น

สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย  ซึ่งมีหลายเส้นทาง กับผม   ติดต่อโทร  088 578 6666 หรือ Line ID 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า   สวัสดีครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .