คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน3-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 ตุลาคม 2563)

คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน3-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากศาลสูงท้องถิ่น(HIGH COURT) ตัดสินเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี 1981  ให้ข่าน ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเดือนละ 179.20 รูปี  แต่ข่านไม่ยอมรับ และ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกากลางของประเทศ(SUPREME COURT) เพื่อให้ตัดสินยกเลิกคำตัดสินของศาลสูงท้องถิ่น

               วันที่ 23 เมษายน ปีค.ศ. 1985   ศาลฏีกากลางของอินเดีย(SUPREME COURT) มีมติเป็นเอกฉันท์  ตีกลับไม่รับคำร้อง และ ยืนยันว่า  คำตัดสินของศาลสูงท้องถิ่น(HIGH COURT) ถูกต้องแล้ว 

ศาลฏีกา ยังสรุปคำสั่งว่า  “ไม่มีความขัดแย้งระหว่างคำสั่งของมาตร 125(THE SECTION 125)  และ กฎหมายส่วนบุคคลของมุสลิม(THE MUSLIM PERSONAL LAW)  ในประเด็นเรื่อง  สามีชาวมุสลิมจำต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้แก่ภรรยาที่เขาหย่าร้าง ซึ่งไม่อาจจะดูแลตัวเองได้”

               ชาห์ บาโน ยังต้องได้รับเงินค่าเลี้ยงดูเดือนละ 179.20 รูปีต่อไป

               ก่อนหน้านั้น 1 ปีคือปีค.ศ. 1984   อินเดียมีการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี(INDIRA GANDHI)  ถูกลอบสังหาร 


(ราจีฟ คานธี  กับ นางโซเนีย ภรรยา ชาวอิตาเลี่ยน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรส)

               เป็นชัยชนะแบบถล่มทลายของ พรรคเนชั่นนัล คองเกรส  ของตระกูลคานธี ที่ได้รับเลือกเข้ามา 404 ที่นั่ง จากนั้งหมด 514 ที่นั่ง

               ในขณะที่พรรคภาราติยะ ชันตะ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น  ไม่น่าเชื่อว่า   ในขณะนี้ (ปีค.ศ. 2020) พรรคภาราติยะ ชันตะ เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 ที่มีนาย นเรนทรา โมดี เป็นนายกรัฐมนตรี

               จากผลของการตัดสินของศาลฏีกาในคดีของชาห์ บาโน ทำให้ผู้ชายมุสลิมรู้สึกว่า  คำตัดสินของศาลฏีกาไม่ถูกต้อง  และกดดันเข้าไปยังรัฐบาลของนาย ราจีฟ คานธี

               ต้องไม่ลืมว่า  อินเดียมีประชากร 1350 ล้านคนโดยประมาณ เป็นประชากรชาวมุสลิมประมาณ 14 เปอร์เซนต์ หรือ ประมาณ 189 ล้านคน  การได้คะแนนเสียง   หรือ   สูญเสียคะแนนเสียงจำนวนเกือบๆ 150 ล้านเสียง(ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง)  ถือเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคการเมือง  

               ที่สำคัญก็คือ  สมาชิกบางส่วนของพรรค คองเกรส เป็นมุสลิม  และ เขารู้สึกว่า  ศาลฏีกาตัดสินคดี ชาห์ บาโน อย่างไม่เป็นธรรมกับ สามีมุสลิม ทำให้เขาสูญเสียคะแนนเสียงส่วนนี้ไป   จึงต้องการเรียกคะแนนส่วนนี้กลับคืนมา  ด้วยกรรมวิธีผ่านทางรัฐบาล หรือ รัฐสภา 

               นั่นก็คือ   ให้รัฐสภา ออกกฎหมาย เกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูหลังการหย่าร้างให้เป็นบันทัดฐานในแบบที่ผู้ชายมุสลิมพอใจ


(ครอบครัวคานธี ที่เคยทรงอิทธิพลทางการเมืองของอินเดีย ซ้ายสุดคือ ซานเจย์ คานธี)

               หากจะพูดกันตามจริง   ราจีฟ คานธี เป็นนายกรัฐมนตรีที่เรียกได้ว่า  ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองโดยสิ้นเชิง   และ  ไม่เคยคิดที่จะทำงานในแวดวงการเมืองมาโดยตลอด

               เขามีประวัติการศึกษาในยุโรป    แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่ที่เดียว  เมื่อกลับมาอินเดีย   เขาสนใจการเรียนเป็นนักบิน 

               23 มิถุนายน ปีค.ศ. 1980  ซานเจย์ คานธี น้องชายของเขา ซึ่งเป็นบุคคลที่นางอินทิรา วางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรสต่อจากนาง  ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิต   ราจีฟ จึงต้องกลับมาเพื่อสืบทอดงานการเมืองต่อแทนน้องชาย 

               ในที่สุด  สมาชิกสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคคองเกรส ก็ลงมติผ่านร่างกฎหมาย ที่เรียกว่า กฎหมายปกป้องสิทธิของสตรีมุสลิมจากการหย่าร้าง ปี1986  ซึ่งชื่อกฎหมายฟังดูดีสำหรับสตรีมุสลิม  แต่เนื้อหากลับไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะกำหนดให้ผู้หญิงมุสลิมได้รับการดูแลจากสามีเพียงแค่ 3 เดือนตามความหมายของคำว่า อิดดาห์ ของมุสลิม  เท่านั้น


(เอ็ม เจ อัคบาร์ ผู้สนับสนุนให้ ราจีฟ คานธี ออกกฎหมายสิทธิสตรีมุสลิม)

               ซึ่งหากจะว่าไป   ก็เหมือนกับเป็นการโต้แย้ง  หรือ  กลับมติคำตัดสินของศาลฎีกาแห่งอินเดีย ในคดีของชาห์ บาโน ด้วย   เพียงแต่กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลังต่อคดีของชาห์ บาโน เท่านั้น

               แต่ทุกคดีหย่าร้างของชาวมุสลิมหลังจากนี้  จะต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้เท่านั้น

               เรื่องนี้  สร้างความโกรธแค้นแก่ผู้หญิงมุสลิมส่วนใหญ่   และไม่ใช่แค่ผู้หญิงมุสลิมเท่านั้น   แต่รวมถึงผู้หญิงฮินดู ที่รักความเป็นธรรม  และผู้ชายมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่มีมนุษยธรรม

               ที่สำคัญก็คือ   ผู้ชายมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เช่น  อารีฟ  โมฮัมหมัด ข่าน  เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์สังกัดพรรคคองเกรส ด้วย


(อารีฟ โมฮัมหมัด ข่าน  ผู้คัดค้านการออกฎหมายฉบับนี้  จนต้องแสดงออกด้วยการลาออกจากพรรคคองเกรส)

               เขาไม่เห็นด้วยกับการผ่านกฎหมายฉบับนี้ และ  แสดงออกด้วยการลาออกจากพรรค คองเกรส ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนั้น   นอกจากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้แล้ว   เขายังไม่เห็นด้วยกับ ทาลัค หรือ การบอกหย่าโดยที่ภรรยาไม่สามารถโต้แย้งได้ 

ต่อมาในปีค.ศ. 2004  ก็ได้เข้าสังกัดพรรค ภาราติยะ ชันตะ หรือ BJP  

               ไม่น่าเชื่อว่า  การออกกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ความนิยมในพรรคคองเกรส ตกต่ำลงเรื่อยๆ  จนสุดท้าย การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2019 พรรคคองเกรสได้รับเลือกเข้าเพียงแค่ 52 คน ในขณะที่พรรคภาระติยะ ชันตะ ได้รับเลือกเข้ามา 303 ที่นั่ง  และเป็นรัฐบาลรอบที่สองของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี 


(นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย)

               และเมื่อ ปีค.ศ. 2019  นายโมดี ได้ประกาศให้ กฎทาลัค 3 ครั้ง ของมุสลิม เป็นโมฆะในประเทศอินเดีย  หมายความว่า  หากชายมุสลิมต้องการจะหย่าขาดจากภรรยา   เขาจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายส่วนบุคคลของอินเดียเท่านั้น

               ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่า  นายโมดี จะได้คะแนนเสียงจากผู้หญิงชาวอินเดียเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด   

               ใครจะคิดว่า   การฟ้องหย่าของชายหญิง 2 คน จะสามารถเขย่าบัลลังก์พรรค คองเกรส ของอินเดียให้ตกกระป๋องไปได้จนทุกวันนี้

               สัปดาห์หน้า   พบกับเรื่อง  เทศกาล นวราตรี อันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมฮินดูครับ 

สวัสดีครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .