ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 กรกฎาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทั้ง 28 รัฐของอินเดีย  ต่างก็มี สภานิติบัญญัติ และ หัวหน้าผู้บริหารรัฐฯ ที่จะมีวาระการทำงาน 5 ปี

               หัวหน้าผู้บริหารรัฐฯ จะมีอำนาจ  และ ศักดิ์ศรีเต็มที่ เท่าที่กำหนดในกฎหมายการบริหารกิจการภายในรัฐ  เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน  ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญกับ การเป็นตัวแทนโดยตรงจากประชาชนค่อนข้างมาก  

               แต่การเป็นมนุษย์  ย่อมมีโอกาสที่จะเห็นผิดเป็นถูก  หรือ หลงไหลในอำนาจจนมืดบอดทางปัญญา   ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างในกรณีของรัฐเบงกอลขณะนี้


(ธงประจำพรรค TMC ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 โดย นางมามตา บาเนอร์จี)

               หลังจากพรรค TMC สามารถคุมเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติได้แล้ว  สมาชิกพรรคก็เริ่มกร่าง และคิดว่าจะทำอะไรก็ได้   และเริ่มใช้อำนาจในทางที่ไม่เกรงใจใคร  จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกพรรค TMC และ พรรค BJP   เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวกว่า 40 คนแล้ว

               ใครจะเป็นคนเข้ามาสงบศึกในครั้งนี้   เพราะฝ่ายแรก คือ TMC เป็นหัวหน้าผู้บริหารรัฐเบงกอล  อีกฝ่ายหนึ่งก็คือ BJP  เป็นพรรคของผู้บริหารประเทศอินเดีย


(บรรดา ผู้ว่าการรัฐฯทั้งหมด ถ่ายภาพร่วมกับ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และ  นายกรัฐมนตรี อินเดีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562)

               แต่ระบบการปกครองของอินเดียถูกวางเอาไว้อย่างแยบยล  และ  คานอำนาจกันอย่างแนบเนียนยิ่ง ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหา

เพราะรัฐธรรมนูญได้วางตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฯ(GOVERNOR) เอาไว้อีกตำแหน่งหนึ่ง  ให้มีฐานะเป็นผู้นำของรัฐฯตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด

ผู้ว่าการรัฐฯ มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยตรงตามที่ประธานาธิบดีจะเห็นสมควร  ขอย้ำว่า “ประธานาธิบดี” เป็นผู้แต่งตั้ง  ไม่ใช่  “นายกรัฐมนตรี”  และ ผู้ว่าการรัฐฯ จะอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี


(คนอินเดีย มักจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองค่อนข้างมาก จึงอาจจะเกิดการกระทบกระทั่งได้)

               เมื่อเกิดความขัดแย้ง  รุนแรงจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต  ผู้ว่าการรัฐฯก็ต้องเข้ามาแทรกแซงเท่าที่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะอนุญาต

               บังเอิญผู้ว่าการรัฐฯคนนี้ คือ นาย จ๊ากดีฟ ธันคาร์(JAGDEEP DHANKHAR) มีพื้นฐานมาจากการเป็นผู้พิพากษา  และ  มีความรู้ทางกฎหมายอย่างลึกซึ้ง  เขาจึงปรึกษาหารือกับ คณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง  หรือ กกต. แล้วก็ได้แนวความคิดหนึ่ง


(นาย จ๊ากดีฟ ธันคาร์ ผู้ว่าการรัฐเบงกอล ตะวันตก)

               จากนั้น  เขาก็เรียกฝ่ายบริหารของรัฐคือ นางมามตา บาเนอร์จี และ คณะรัฐมนตรีของรัฐฯ มาปรึกษาแก้ปัญหา  และ มีข่าวออกมาว่า  นายจ๊ากดีฟ ได้บอกว่า

               เนื่องจากสถานการณ์ด้านการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ   เขาจึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำรัฐ  ยกเว้นการจัดการเลือกตั้งทุกชนิดภายในช่วงเวลา 6 – 7 เดือนข้างหน้า


(นาง มามตา บาเนอร์จี กล่าวขอบคุณประชาชนในวันที่พรรคของนางชนะการเลือกตั้ง)

               เป็นการเปิดไพ่ที่ชาญฉลาดมาก  เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งใดๆในอนาคต 6-7 เดือนข้างหน้า   นางมามตา บาเนอร์จี ก็จะหมดสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐฯ ทันที

               ทันทีที่ คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต   เผยแนวคิดนี้ออกไป  สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐเบงกอล ก็สงบลงใน

               ก่อนอื่น   ต้องทราบก่อนนะครับว่า  คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียนั้น  เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ประธานาธิบดี สามารถออกคำสั่ง หรือ แทรกแซงได้เลย

               ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  คณะกรรมการเลือกตั้งของอินเดียได้แสดงความเที่ยงตรง  เป็นกลาง  จนเป็นที่ประจักษ์ และ ยอมรับจากทุกฝ่ายมาแล้ว

               น่าดีใจแทนคนอินเดีย

               ในตอนหน้า  ผมจะพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่คานอำนาจของแต่ละฝ่ายเอาไว้อย่างชาญฉลาด  จนไม่มีใครที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว 

               ซึ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียยังคงมั่นคงมาจนทุกวันนี้

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .