จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน6-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 ตุลาคม 2564)

จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน6-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อเรือไม้ที่บรรจุรูปเคารพของเทพอามุน-รา ถูกนำลงไปในเรือที่ใหญ่กว่าในแม่น้ำไนล์  

เรือลำนี้จะได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยหรู  หัวเรือ และ ท้ายเรือ จะตกแต่งเป็นรูปหัวแพะ  ซึ่งเป็นรูปลักษณ์หนึ่งของเทพอามุน-รา  มีชื่อเรียกด้วยภาษาเฮียโรกลิฟ ว่า อูเซอร์ฮัท-อามุน(USERHAT-AMUN)  ที่แปลว่า  หัวเรือที่ทรงพลัง คือ เทพอามุม

พลเรือจะโยงเชือกจากตลิ่งมาที่เรือ  แล้วค่อยๆลากเรือลำนี้ทวนน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ  จนถึงท่าเรือของวิหารลักซอร์


(ภาพในจินตนาการ นักบวชช่วยกันแบกเรือของเทพเจ้า ในขบวนแห่เรือ – ขอขอบคุณเจ้าของภาพ)

               จากนั้น   บรรดานักบวชก็จะช่วยกันแบกเรือที่ประทับของเทพอามุน-รา เดินเข้าไปในวิหารลักซอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เทพอามุน-รา จะประทับเพื่อฮันนีมูนกับมเหสีของพระองค์เป็นระยะเวลาหนึ่ง ช่วงเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามรัชสมัยของฟาโรห์แต่ละองค์

               กล่าวคือ  ในสมัยของฟาโรห์ ธุทโมเซส ที่ 3 ปี 1458-1427 ก่อนคริสตกาล  มีการเฉลิมฉลองกันนาน 11 วัน  แต่เมื่อมาถึงสมัยของ ฟาโรห์รามเซสที่ 3 ปี 1187 ก่อนคริสตกาล  พระองค์ก็ให้ขยายวันเฉลิมฉลองออกไปเป็น 24 วัน  และ ต่อมาก็ขยายออกไปเป็น 27 วัน

               ที่น่าสนใจก็คือ  ผู้ทำหน้าที่แบกเรือนี้ จะเป็นนักบวช กับ ฟาโรห์เท่านั้น  ชนชั้นอื่นๆของสังคมไม่มีสิทธิ์เด็ดขาด  อย่างเก่งก็ได้แต่นั่งชมขบวน  เช่น  บรรดานายทหารชั้นสูง  

               ถ้าเปรียบกับสังคมของฮินดูโบราณก็คือ  ผู้มีหน้าที่ขับเคลื่อน ราชรถ จะเป็นของชนชั้นวรรณะพราหมณ์ และ  วรรณะกษัตริย์ เท่านั้น

               นอกจากข้อมูลที่บอกว่า  พิธีโอเปต เป็นการฮันนีมูนของเทพอามุน-รา กับมเหสีมุทแล้ว  ต่อมาก็มีแนวคิดใหม่บอกว่า  เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟาโรห์โดยตรง

               เพราะเมื่อขบวนเรือแห่มาถึงวิหารลักซอร์ ซึ่งฟาโรห์จะมารออยู่แล้ว  หรือ  อาจจะมาพร้อมกับขบวนแห่  ฟาโรห์ ก็จะเข้าไปในห้องประสูติ (BIRTH ROOM)  พร้อมกับเทพอามุน-รา

               จากนั้นก็จะเป็นพิธี แต่งงาน ระหว่างฟาโรห์ และ เทพอามุน-รา (ยืนยันว่า พิมพ์ไม่ผิดครับ)

               การแต่งงานครั้งนี้เพื่อยืนยันถึง  ความอุดมพันธุ์ของฟาโรห์  และ  เป็นการสถาปนาความเป็นผู้ปกครองอย่างถูกต้องตามกฎแห่งสวรรค์ในการปกครองอียิปต์ต่อไป คล้ายๆกับราชพิธี เฮบเสด(HEB SED) ที่กระทำกันที่ เมืองเมมฟิส  เพื่อยืนยันว่า  ฟาโรห์มีความสามารถในการปกครองแผ่นดินต่อไปอีก 30 ปี


(ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ประทับอยู่ตรงกลาง ระหว่างเทพอามุน-รา กับ เทพีมุท เป็นการประกาศว่า  พระองค์มีศักดิ์ศรีเท่ากับเทพเจ้า  เพราะ  ฟาโรห์ ก็คือ บุคคลที่พระเจ้าส่งลงมาปกครองอียิปต์)

               เหตุผลที่บอกว่าพิธีโอเปต เป็นการยืนยันความอุดมพันธุ์ของฟาโรห์ก็เพราะจะกระทำกันในเดือนที่ 2 ของฤดูน้ำท่วม  ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก  ฟาโรห์ซึ่งได้รับการเคารพว่าเป็นบุคคลที่เทพเจ้าส่งมาปกครองแผ่นดิน  ก็จะต้องเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่า  ปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะอุดมสมบูรณ์


(ขบวนแห่เรือของเทพเจ้า  เดินทางออกจากวิหารลักซอร์ ไปตามถนนสฟิงซ์ – ขอขอบคุณเจ้าของภาพจากอินเตอร์เนต)

               คล้ายกับ พิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของไทยในปัจจุบันนี้

               เทพอามุน-รา จะประทับอยู่ในวิหารลักซอร์จนกระทั่งถึงกำหนดวันที่ต้องกลับไปยังวิหารคาร์นัคของพระองค์  คราวนี้ขบวนเรือของอามุน-รา จะเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง  โดยจะเดินทางกลับทางพื้นดิน


(ถนนสฟิงซ์ ที่เริ่มต้นจากวิหารลักซอร์ ไปยังวิหารคาร์นัค)

               ขบวนจะแห่แหนกันไปตามถนนสฟิงซ์ ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลอียิปต์กำลังขุดค้นบูรณะให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุดตลอดระยะทางเกือบ 3 กิโลเมตร และดูเหมือนจะบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมเปิดให้ประชานเดินชมได้

               ระหว่างทางดังกล่าว  จะมีศาลเจ้าขนาดเล็กวางเรียงรายข้างถนนเป็นระยะๆ  ว่ากันว่า  เพื่อให้ขบวนได้มีโอกาสพัก  และ  นักบวชจะสามารถทำพิธีบูชาเทพเจ้าที่อยู่ในศาลเจ้าดังกล่าวได้

               ลองหลับตานึกภาพดูนะครับว่า  บรรยากาศของการเฉลิมฉลองในยุคนั้น จะมีความคึกคัก สนุกสนานกันสักแค่ไหน  ทั้งเสียงดนตรี  และ  เสียงสวด จะช่วยทำให้ผู้มาร่วมพิธีมีความรู้สึกเหมือนได้อยู่ร่วมกับเทพเจ้าจริงๆเลยทีเดียว

ถนนสายนี้จะตัดตรงจากวิหารลักซอร์ ไปเข้าทางประตูด้านข้างของวิหารคาร์นัค  จากนั้น  เรือที่ประทับของเทพอามุน-รา ก็จะถูกแบกกลับไปประดิษฐานในห้องศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง

เป็นอันจบพิธี  และ  สิ้นสุดการฮันนีมูนของเทพอามุน-รา กับ  มเหสีมุท

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแนวคิดที่คล้ายกัน  พิธีกรรมที่เหมือนกันของพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู  กับ เทศกาลโอเปต ของอียิปต์โบราณ  ทั้งๆที่ประเทศทั้งสองอยู่ห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร

เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากทีเดียว

ผู้สนใจจะเดินทางไปเที่ยวชม  อินเดีย , อียิปต์ ,  ตุรกี และ ประเทศอื่นๆที่เต็มไปด้วยอารยธรรม แบบเจาะลึกจริงๆกับผม   โปรดรอสักนิดนะครับ  เมื่อรัฐบาลเปิดให้เดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวในตอนกลับเข้าประเทศ  เราจะเดินทางไปด้วยกันครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .