อันเนื่องมาแต่ผ้าอนามัย 2 รูปี(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 ธันวาคม 2564)

อันเนื่องมาแต่ผ้าอนามัย 2 รูปี(ตอน1)  

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมได้ชมคลิปวิดีโอที่มีคำบรรยายว่า  ยูเอ็นได้เชิญชายชาวอินเดียคนหนึ่งไปพูดใน สหประชาชาติถึงความทุ่มเทของเขาในการผลิตผ้าอนามัยของผู้หญิง จนสามารถผลิตออกมาได้ในราคาที่ถูกมากคือ 2 รูปีต่อชิ้น  เพื่อให้ผู้หญิงชาวอินเดียในท้องถิ่นห่างไกลและยากจนสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้


(อัคชัย กุมาร ในภาพยนตร์เรื่อง PAD MAN)

               เพราะที่ผ่านมา  ผู้หญิงเหล่านี้ต้องใช้ผ้าหลายผืนมาทบกันเพื่อใช้แทนผ้าอนามัย  ซึ่งเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดโรคจากการติดเชื้อได้ง่าย

               หลังจากติดตามข่าวดูก็พบว่า  ไม่ใช่เรื่องจริง  หากแต่เป็นเรื่องราวในภาพยนต์อินเดียเรื่องหนึ่ง ชื่อ  PAD MAN  ที่ออกฉายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 

               ที่สำคัญก็คือ  ภาพยนต์เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้ผ้าอนามัยในหมู่ผู้หญิงอินเดีย  และ  ยังก่อให้เกิดการสร้างงานให้แก่ผู้หญิงจำนวนมากในการผลิตผ้าอนามัยด้วย

               ภาพยนต์แบบนี้  อินเดียเรียกว่า  ART FILM  ซึ่งมักจะไม่มีฉากเต้นรำ วิ่งไล่กันตามท้องทุ่งในแบบฉบับของภาพยนต์แบบ  COMMERCIAL FILM

มีแง่มุมที่น่าสนุกอยู่หลายเรื่อง  รวมทั้งเรื่องราวของตัวเอกของเรื่อง  และ  ชื่อของเขา  จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ


(ในปลิวโฆษณาของภาพยนต์เรื่อง  PAD MAN)

               ภาพยนต์เรื่อง PAD MAN  นำแสดงโดย อัคชัย กุมาร (AKSHAY KUMAR) ปัจจุบันอยู่ในวัย 54 ปี เขาเป็นดารายอดนิยมหนึ่งในห้าอันดับแรกของอินเดีย  และน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ อามิตตาป ปัจจัน ดารายอดนิยมตลอดกาลของอินเดียด้วย

               เขาเป็นชาวฮินดูเกิดที่เมืองอัมริตสา รัฐปัญจาบ ซึ่งเป็นถิ่นของชาวซิกห์  โตขึ้นมาหน่อยก็ย้ายมาอาศัยอยู่ในเขต ชานด์นี ชอวค์ (CHANDNI CHOWK) ในเดลีเก่า  ซึ่งเป็นย่านคนมีเงินหน่อยแต่อยู่ในเขตเสื่อมโทรมที่สร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมกุล  แตกต่างจากเขตนิวเดลี ที่เป็นเมืองใหม่วางแผนสร้างโดยชาวอังกฤษในช่วงหลัง

               อาจเป็นเพราะบิดาของเขาเป็นทหารผู้ชื่นชอบในกีฬามวยปล้ำ   อัคชัย กุมาร จึงชอบเล่นกีฬาหลายชนิด  เขาฝึกฝนจนกระทั่งได้สายดำของกีฬาเทควนโด

               เมื่อบิดาลาออกจากทหาร  แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองมุมไบ นครหลวงของโลกภาพยนต์ของอินเดีย ที่เรียกว่า  BALLYWOOD  

เขาเคยบอกพ่อของเขาว่า   อยากเป็นนักแสดง

               เมื่อเริ่มเป็นหนุ่ม  อัคชัย กุมาร บอกพ่อของเขาว่า  อยากเรียนวิชาศิลปะการต่อสู้   พ่อของเขาจึงส่งเขามาที่กรุงเทพฯเพื่อเรียนศิลปะการต่อสู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวยไทย


(อัคชัย กุมาร ในภาพยนต์เรื่อง  BACHCHAN PANDEY  จะออกฉายในอินเดีนในเดือนมีนาคม ปี 2565)

               ตอนนั้นบิดาของเขาทำงานกับองค์กร UNICEF  จึงน่าจะมีฐานะดีพอที่จะส่งเสียเขาได้

               หลังจากที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 5 ปี  เขาก็ได้ย้ายไปทำงานในอีกหลายที่ เช่น  เมืองกอลกัตตา ,  ดักกา เมืองหลวงของบังคลาเทศ  แล้วย้ายกลับมาทำงานที่เดลี เป็นพนักงานขายจิวเวลลี 


(ฉากเต้นระบำที่มีหางเครื่องมากมาย  เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับภาพยนต์ COMMERCIAL ของอินเดีย)

               ขณะเดียวกันเขาก็เปิดสอนศิลปะการต่อสู้ด้วย  ซึ่งบังเอิญบิดาของลูกศิษย์คนหนึ่งทำงานในบริษัทโมเดลลิ่ง  จึงแนะนำให้เขาเข้ามาสู่วงการโมเดลลิ่ง  และเริ่มได้บทหางเครื่องที่เต้นเป็นฉากหลังเมื่อตัวเอกของเรื่องมีฉากร้องเพลง  หรือ  เต้นรำ

               วันหนึ่ง  เขาตัดสินใจเดินเข้าไปบริษัทสร้างภาพยนต์ของ ปราโมด ชัคกราวาร์ธี (PRAMOD CHAKRAVARTHY)  พร้อมด้วยแฟ้มผลงานการแสดง และ ประวัติของเขาเพื่อสมัครเป็นผู้แสดงภาพยนต์

               ในวันนั้นเขาได้เซ็นสัญญากับ ปราโมด เพื่อเป็นดาราแสดงนำในภาพยนต์เรื่อง  DEEDAR  แต่น่าเสียดายว่า   ภาพยนต์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านรายได้นัก

               นั่นคือปีพ.ศ.2534  หรือเมื่อ 30 ที่แล้ว  และ ถือเป็นก้าวแรกในวงการภาพยนต์บอลลีวู้ด


(อัคชัย กุมาร ขณะถ่ายทำภาพยนต์กับ นางเอก คาทรินา คาอิฟในลอนดอน อังกฤษ เมื่อพ.ศ. 2550  ทั้งสองเป็นคู่พระนางที่แฟนๆบอกว่า  เคมีลงตัวกันอย่างมาก และ ได้แสดงภาพยนต์คู่กันอีกหลายเรื่อง)

               หลังจากนั้น  เขาได้แสดงภาพยนต์อีกหลายเรื่อง และความนิยมในตัวเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายมาเป็นดาราดังที่มีผลงานการแสดงกว่า 114 เรื่อง  มีรายได้รวมจากการแสดงจนถึงปี พ.ศ. 2557 คือ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ  คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 15,757 ล้านบาท  

               อาจเป็นเพราะมีบิดาเป็นทหารมาก่อน  เขาจึงบริจาคเงินช่วยทหารที่เจ็บป่วย หรือ บาดเจ็บ มาโดยตลอด  รวมทั้งบริจาคเงินการกุศลให้หลายองค์กรการกุศลหลายแห่ง

               ในปี พ.ศ. 2552  เขาได้รับเครื่องราชอิสรยาภรณ์ ปัดมา ศรี(PADMA SHRI) จากรัฐบาลอินเดีย ในฐานะผู้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดลำดับที่ 4 ที่ประชาชนธรรมดาจะได้รับ

               เป็นดาราอีกคนหนึ่งที่น่าชื่นชม  ทั้งในโลกการแสดงและโลกแห่งความจริง

               รออ่านเรื่อง “ชื่อ” ของเขาต่อในสัปดาห์หน้าครับ  

               ผมกำลังจะเดินทางไป รัฐกุจราฎ และ รัฐโอดิสสา  เพื่อชมสิ่งมหัศจรรย์ของศาสนาฮินดูแบบเจาะลึก  ในช่วงต้นปีหน้า  หากท่านผู้อ่านสนใจจะร่วมเดินทางไปด้วยกัน  เชิญติดต่อไปที่ 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .