น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 มกราคม 2565)

น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               อันที่จริง   อินเดียก็เคยเกิดรัฐประหารขึ้นครั้งหนึ่ง   แต่น่าสนใจอย่างมากตรงที่  เป็นการปฎิวัติจากพลเรือน  ไม่ใช่ทหาร

               การปฎิวัติในครั้งนี้   ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  การประกาศภาวะฉุกเฉิน ของอินเดีย  โดยนายกรัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี ผู้นำจากพรรคคองเกรส หรือ  INDIAN NATIONAL CONGRESS


(นางอินทิรา  คานธี  ถ่ายภาพคู่กับ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ในปีค.ศ. 1971  เป็นช่วงใกล้เคียงกับสงครามระหว่างอินเดีย กับปากีสถาน)

               เรื่องนี้คงต้องท้าวความย้อนหลังกันยาวสักนิด  แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ  จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

               ระหว่างปีค.ศ. 1967 จนถึงปีค.ศ. 1971  การเมืองของอินเดียเริ่มเบี่ยงเบนออกไปจากแนวทางประชาธิปไตย  ในช่วงนั้น พรรคคองเกรส ที่มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ  และเมื่อได้อิสรภาพจากอังกฤษ  นายกรัฐมนตรีคนแรกก็คือ นายเยาวหราล เนห์รู  ผู้เป็นบิดาของนางอินทิรา คานธี

               ในช่วงเวลานั้น   พรรคคองเกรส ได้รับความนิยมจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่ปีค.ศ. 1947 เรื่อยมาจนถึงปีค.ศ. 1967 เป็นเวลารวม 20 ปี  อินเดียมีนายกรัฐมนตรี 5 คน  ทั้งหมดล้วนเป็นสมาชิกพรรคคองเกรสทั้งสิ้น


(สัญลักษณ์ ของพรรค INDIAN NATIONAL CONGRESS)

               คนที่ 5 ก็คือ  นางอินทิรา คานธี

               ในช่วงนั้น   ว่ากันว่า   นางอินทิรา แทบจะหยิบใครก็ได้ที่นางต้องการขึ้นมาเป็น “ผู้นำฝ่ายบริหารรัฐ” ได้เลย  เรียกว่าสามารถชี้เป็นชี้ตายแก่ใครก็ได้

               เมื่ออำนาจมีมากจนแทบจะล้นฟ้า  มนุษย์เราก็สามารถเหลิงอำนาจได้  นายกฯอินทิรา คานธี พยายามรวบอำนาจทุกอย่างเอาไว้ในมือ   พูดง่ายๆก็คือ  “เผด็จการ”  นั่นเอง  ทำให้เกิความแตกแยกภายในพรรคคองเกรสเอง

               สมาชิกส่วนหนึ่งมีความจงรักภักดีต่อตระกูลคานธี เป็นอย่างยิ่ง   แต่อีกฝ่ายจะไม่เห็นด้วยการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ


(การลงนามร่วมกันระหว่าง นายพล A.A.K.NIAZI ของปากีสถาน กับ นายพล JAGJIT SINGH AURORA ของอินเดีย ลงนามในฐานะตัวแทนของ บังคลาเทศ ในการสงบศึก ที่กรุงดักกา ประเทศบังคลาเทศ  เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปีค.ศ. 1971 ยังผลให้บังคลาเทศเป็นประเทศเกิดใหม่)

               แต่ยามที่ดวงคนจะดี  มันก็พุ่งแรงแซงโค้ง   ในวันที่ 16 ธันวาคม  ปีค.ศ. 1971  กองทัพภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี ประสบชัยชนะในการทำสงครามกับปากีสถาน ศัตรูตลอดกาล เพื่อช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก ให้แยกประเทศออกมาเป็นอิสระ กลายเป็นประเทศบังคลาเทศ

               ในวันนั้น  มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก  โดยที่อินเดียสามารถควบคุมตัวทหารของปากีสถานได้กว่า 93000 คนได้


(เครื่องหมายอิสริยาภรณ์สูงสุดของอินเดียที่มอบให้แก่พลเรือน เรียกชื่อว่า  ภารตะ รัตนา (BHARAT RATANA) )

               ทำให้นางอินทิรา คานธีได้รับการมอบเหรียญตราเกียรติยศสูงสุดของฝ่ายพลเรือน ที่เรียก  ภารตะ รัตนา(BHARAT RATNA) ในเดือนมกราคม ปีค.ศ. 1972

               อำนาจของนางในช่วงนั้น  ส่งประกายอำมหิตไปทั่ว  แม้กระทั่ง นายอินเดอร์ มาลโฮทรา นักเขียนจากหนังสือพิมพ์ THE ECONOMIST  ได้พูดถึงนางว่า  “ทรงอำนาจราวจักรพรรดินีก็ไม่ปาน”

               ซึ่งผิดหลักการของการปกครองระบบ สาธารณรัฐของอินเดีย (THE REPUBLIC OF INDIA)

               แต่ในขณะเดียวกัน  บรรดาสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่แทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ก็เรียกขานนางด้วยคำประชดประชัดว่า   เป็นพระแม่ทุรคา (DURGA) เทพธิดาองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู ที่อวตารมาปราบอสูรมหิชาสุรา หรือ  อสูรควาย

               และเป็นเทพธิดาที่กระหายเลือดด้วย


(พระแม่ทุรคา )

               ช่างเป็นภาพที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง  ที่สะท้อนภาพความขัดแย้งทางการเมืองของอินเดียในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

               ขณะเดียวกัน   ความสัมพันธ์ของนางอินทิรา คานธี กับ ศาลฎีกาของอินเดีย เริ่มมีการปีนเกลียวกัน  เนื่องมาแต่มาตรการของรัฐบาลที่ต้องการจะตัดเงินที่จ่ายให้แก่ “มหาราชา” ในรัฐต่างๆ ที่อินเดียได้จ่ายมานานนับตั้งแต่อินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษ

               แต่ศาลฏีกามีความเห็นว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะทำแบบนั้นได้  เพราะเป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปีค.ศ. 1950 และ จะเป็นการกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ  

               นางน่าจะเป็นคนที่ไม่ยอมใครง่ายๆ  และ  มองเห็นว่า  น่าจะเป็นเกมส์ที่จะเรียกความนิยมของประชาชนได้มาก  จึงให้สภาผู้แทนราษฎร (LOK SABHA) ผ่านกฎหมายมาตรา 26 แก้ไข  เพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้

               ความขัดแย้งร้าวลึกระหว่าง ฝ่ายบริหาร ,  ฝ่ายนิติบัญญัติ  กับ  ฝ่ายตุลาการ

               แล้วคราวซวยของนางอินทิรา  คานธีก็มาถึง

               แต่จะเป็นเรื่องอะไร  โปรดรออ่านต่อในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .