หนังอินเดียที่ผมรัก(ตอน3-จบ)

สัพเพเหระ                         (4 สิงหาคม 2565)

หนังอินเดียที่ผมรัก(ตอน3-จบ)

โดย                เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               หนังอินเดียที่ผมรักอีกเรื่องหนึ่งก็คือ PADMAN นำแสดงโดย อัคชัย กุมาร(AKSHAY KUMAR) เป็นหนังสไตล์ศิลปะอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การชม


(แผ่นโฆษณาหนังเรื่อง PADMAN)

               หนังของอัคชัย กุมาร เท่าที่เห็นมักจะสอดแทรกมุมมองในเรื่องของวัฒนธรรมอินเดียเสมอๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง PADMAN  หรือ TOILET

               ทั้งสองเรื่องยังฉายอยู่ใน NETFLIX ขณะนี้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2565)

               PADMAN แปลง่ายๆก็คือ ผู้ชายขายผ้าอนามัย  ซึ่งผ้าอนามัยของสตรีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากสำหรับผู้หญิงอินเดียโดยเฉพาะผู้หญิงในเขตชนบทห่างไกล 

               เพราะผู้หญิงในเขตห่างไกลเหล่านี้  มักจะใช้ผืนผ้ามาทำเป็นผ้าอนามัย  ใช้แล้วก็ซักแล้วนำมาใช้ใหม่  ซึ่งในทางสาธารณะสุขถือว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิดในสุภาพสตรี

               ลักษมี คือชื่อของตัวเอกที่รับบทโดย อัคชัย กุมาร ผู้มีพื้นเพทางงานช่างโลหะ  มองเห็นประเด็นนี้จากภรรยาที่เพิ่งจะแต่งงานของตัวเอง  จึงไปหาซื้อผ้าอนามัยจากร้านขายยามาให้ภรรยาใช้   แต่ด้วยราคาที่แพงมากในสายตาของภรรยาคือราคา 55 รูปี   ภรรยาของเขาจึงปฎิเสธที่จะใช้


(ลักษมี  ลงทุนแกะผ้าอนามัยที่ซื้อมา เพื่อศึกษาว่าจะผลิตขึ้นมาเองได้อย่างไร)

               ลักษมี จึงต้องคิดค้นวิธีการที่จะทำผ้าอนามัยขึ้นมาเองในราคาถูกเพื่อภรรยาจะได้นำไปใช้   จึงกลายเป็นที่มาของ  PADMAN  แต่ผมจะไม่เปิดเผยรายละเอียดให้มากเกินไป  เพราะไม่ต้องการทำลายบรรยากาศการชมของท่านผู้อ่านครับ

               จุดที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ก็คือ   การสอดแทรกวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาได้อย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง  และ ให้ความรู้แก่ผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวฮินดูด้วย


(ภาพเทศกาล โรโจ เพื่อเฉลิมฉลองการย่างเข้าสู่วัยสาว – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ประเพณีที่ว่านี้เรียกว่า โรโจ (RAJA FESTIVAL) ออกเสียงว่า  โรโจ  เป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมมากในรัฐโอดิสสา  และ  รัฐใกล้เคียง

               ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง และ ให้เกียรติแก่เด็กหญิงที่เจริญวัยเข้าสู่เด็กสาว  หรือ วัยเริ่มมีประจำเดือน

               ผมจะเขียนเรื่องเทศกาล โจโร โดยละเอียดในคอลัมน์ “ซอกซอนตะลอนไป” ในหน้าหนังสือพิมพ์แนวหน้าดอทคอม  โปรดรออ่านนะครับ

               เป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนความเชื่อดั่งเดิม  ไม่ว่าจะในสังคมไหนๆก็ตาม  โดยเฉพาะเรื่องผ้าอนามัย ที่ผู้หญิงถือว่าเป็นความลับของผู้หญิง  เป็นเรื่องที่น่าอับอายที่จะพูดกับผู้ชายแม้กับสามี   แม้แต่สังคมไทยเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว  การจะไปซื้อผ้าอนามัยจากร้านก็ยังต้องส่งสัญญาณ และ  พูดเบาๆเท่านั้น 

               แตกต่างจากในปัจจุบันที่มีการโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์อย่างชัดเจน

               บรรยากาศในหนังเรื่อง PADMAN น่าจะใกล้เคียงกับประเทศไทยเมื่อ 50 -60 ปีที่แล้ว


(ลักษมี คิดค้นจนสามารถผลิตผ้าอนามัยราคา 2 รูปี และ ช่วยสร้างงานให้แก่ผู้หญิงในชนบทจำนวนมากให้มีงานทำ จนในที่สุดองค์การสหประชาชาติก็เชิญเขาไปพูดในที่ประชุมของสหประชาชาติ)

               แต่ลักษมี ในหนังเรื่องนี้ไม่ยอมทิ้งความตั้งใจของตัวเองที่จะทำให้ชีวิตของภรรยาปลอดภัยด้วยผ้าอนามัยที่ตัวเองคิดค้นขึ้น   แต่เรื่องยากก็คือ  จะทำอย่างไรให้ผ้าอนามัยมีราคาถูกลง   และจะต่อสู้กับความเชื่อดั่งเดิมของสังคมผู้หญิงอย่างไรให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัย

               หนังเรื่องนี้ร้อยเรียงรายละเอียดเล็กๆเอาไว้ได้ดี  และเชื่อมโยงกันดีมาก  ที่ผมชอบมากก็คือตอนที่ภรรยามักจะช่วยยัดชายเสื้อของสามีลงไปในกางเกงให้สามีเสมอๆ   และ  หนังก็มาเก็บรายละเอียดนี้อีกครั้ง   แต่ในอีกแบบหนึ่ง   ผมจะไม่บอกว่าเป็นแบบไหน

               ความงดงามอีกจุดหนึ่งของหนังเรื่องนี้  ก็คือการเลือกที่จะจบเรื่องได้อย่างราบรื่น และ ฉลาด

               เป็นอีกเรื่องที่ผมอยากแนะนำให้ชม


(ภาพโฆษณาของหนังเรื่อง TOILET)

               อีกเรื่องที่มีแนวการเดินเรื่องคล้ายๆกันก็คือ  TOILET ที่นำแสดงโดยอัคชัย กุมาร เช่นกัน  โครงเรื่องผูกกับปัญหาการไม่มีห้องน้ำใช้ในบ้าน ซึ่งทำให้ทั้งผู้ชาย  และ ผู้หญิงในหมู่บ้านจะต้องเดินเท้าไปยังท้องทุ่งตั้งแต่ก่อนตะวันรุ่ง  เพื่อจัดการกับธุระส่วนตัว

               ลำพังผู้ชายคงจะไม่เดือดร้อนเท่าไหร่นักในการหาที่เหมาะๆ   แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว  มันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ที่จะหาบริเวณที่มีพุ่มไม้สูงพอที่จะบดบัง และห่างไกลจากถนนที่คนสัญจร

               นอกจากจะไม่สะดวกแล้ว  ยังเสี่ยงต่อการถูกงูเงี้ยวเขี้ยวขอกัดเอาอีก

               ฝ่ายภรรยาเมื่อรู้ว่า  บ้านสามีของตัวเองที่เพิ่งจะแต่งงานมาด้วยไม่มีห้องน้ำ  เธอจึงเรียกร้องขอให้สามีจัดการสร้างห้องน้ำภายในบ้านของตัวเอง

               เป็นเรื่องขึ้นมาเลยทีเดียว   เพราะบิดาของสามีเป็นวรรณะพราหมณ์  มีความเชื่อว่าการมีห้องน้ำในบ้านตัวเอง เป็นเรื่องอัปมงคล

               ดังนั้น  สำหรับบ้านที่มีอาณาบริเวณบ้านที่กว้างขวางพอ  ก็จะสร้างห้องน้ำในอาณาเขตของรั้วบ้าน  แต่อยู่นอกตัวบ้าน

               สำหรับครอบครัวที่ยากจนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย  เพราะไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะสร้างห้องน้ำในอาณาเขตของบ้านได้  

               TOILET  สะท้อนภาพความเชื่อเก่าๆของอินเดีย  ที่ถูกนำเอาไปอ้างอิงกับความศักดิ์สิทธิ์ ที่ตัวเอกของเรื่องต่อต่อสู้ เพื่อเอาชนะ  โดยมีการหย่าร้างกับภรรยาสาวเป็นเดิมพัน    

การต่อสู้เริ่มตั้งแต่การหาทางไม่ให้ภรรยาต้องเดินเข้าทุ่ง  จะเป็นวิธีไหน ขอให้ไปดูในหนังนะครับ

               แต่ในที่สุด  ความขัดแย้งก็ขยายวงไปสู่การต่อสู้กันระหว่างแนวคิดเก่าซึ่งอ้างอิงพระคัมภีร์ กับแนวคิดใหม่  กับเรื่องความรัก และ การหย่าร้างระหว่าง ลักษมี กับภรรยา   กระแสเรื่องการหย่าร้างโหมกระพือจนผู้หญิงในหมู่บ้านออกมาเรียกร้องต่อสามีของตนเองให้สร้างห้องน้ำในหมู่บ้าน

               กระแสโหมแรงจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ  

               เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว  รัฐบาลอินเดียในสมัยนางอินทิรา คานธี ได้สร้างนโยบายให้ทุกบ้านจะต้องมีห้องน้ำโดยรัฐบาลจะจ่ายเงินค่าสร้างห้องน้ำให้ด้วยซ้ำ   แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

               เพราะชาวบ้านเอาโถส้วมไปทำอย่างอื่นแทน หรือ ไม่ก็ทิ้งไป

               นโยบายของรัฐบาลอินเดียในเรื่องห้องน้ำเพิ่งจะมามีผลจริงๆก็ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง  ซึ่งผมจะเอามาเขียนถึงอย่างละเอียดอีกครั้ง 

               ปิดท้ายด้วยการขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดูนะครับ  แม้ว่า  หนังเรื่อง TOILET จะปูเรื่องค่อนข้างยาวสักหน่อย  แต่ก็ทนดูเอาหน่อยครับ

ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา อินเดีย ซึ่งจะบรรยายชมด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565  ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

               สวัสดีครับ

Posted in สัพเพเหระ.