นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกไล่ออกจากห้องเช่า เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 สิงหาคม 2565)

นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกไล่ออกจากห้องเช่า  เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บรรดารัฐมนตรี และ เพื่อนที่รู้จักกันในอดีตที่ไปพบเขาที่บ้านเช่า  ต้องขอร้องแกมบังคับให้ นายกุลจาริลาล  นันดา รับเงิน 500 รูปีต่อเดือนนี้   แม้ว่า  เงิน 500 รูปีในปีค.ศ. 1992 ไม่ได้มากมายอะไรเลย

               อันที่  เงิน 500 รูปีต่อเดือนถือว่าน้อยมากในวันนั้น  แทบจะไม่สามารถใช้ชีวิตเดือนชนเดือนได้อยู่แล้ว 

               หลายท่านอาจจะสงสัยว่า   เขาไม่มีญาติพี่น้อง  หรือ  ลูกหลานใดๆที่พอจะช่วยเหลือเขาได้เลยหรือ 

               คำตอบก็คือ มี  แต่ทำไม  ไม่มีความช่วยเหลือใดๆมาถึงเขาเลย  เรื่องนี้ผมจะเล่าต่อในตอนถัดไปครับ 

               แต่ตอนนี้ขอเล่าเรื่องราวความเป็นมาของนายกุลจาริลาล นันดา เสียก่อน

เขาเกิดในแคว้นปัญจาบ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน จบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์  เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายแรงงาน  เคยทำงานด้านวิจัยเรื่องปัญหาการจ้างงานมาตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย อัลลาฮาบาด(ALLAHABAD UNIVERSITY) ในรัฐอุตตรา ประเทศ ระหว่างปีค.ศ. 1920-1921  

จากนั้น  เขาก็ไปทำงานในมหาวิทยาลัย NATIONAL COLLEGE ที่เมืองบอมเบย์ ในฐานะศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ในปีค.ศ. 1992  

ต้องไม่ลืมว่า   ในช่วงนั้นอินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียอย่างโหดร้าย

               ปีเดียวกันนั้นเอง  เขาได้เข้ารวมขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ  ซึ่งเป็นสาเหตุของการได้รับเงินบำนาญเดือนละ 500 รูปี หลังจากที่ประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ  


(การเดินเพื่อประท้วงเรื่องเกลือ หรือ SATYAGRAHA ที่นำโดย มหาตมะ คานธี – ภาพจากกูเกิ้ล)

               จากนั้นก็เข้ามาร่วมทำงานกับ สมาคมแรงงานโรงทอผ้าในเมืองอาเมดาบาด ในรัฐกุจราฐ  ทำให้เขาถูกอังกฤษจับไปคุมขังหลายครั้ง  เช่น  ในช่วงที่เขาเข้าร่วมเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำเกลือของชาวอินเดีย(SATYAGRAHA)ร่วมกับ มหาตมะ คานธี เป็นต้น

ตอนนั้น  เกลือเป็นสินค้าต้องห้าม  ผูกขาดไว้ให้แก่รัฐบาลอังกฤษในการผลิตแต่เพียงผู้เดียว   ชาวอินเดียจะต้องควักเงินซื้อเกลือจากอังกฤษ  ทั้งที่เกลือนั้นผลิตจากน้ำเกลือในอินเดียด้วยซ้ำ

               หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ  เขาก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีค.ศ. 1957  และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงาน  หลังจากนั้น   เขาก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปี ค.ศ. 1962  และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงาน และ การจ้างงานในช่วงปีค.ศ. 1962-1963

               และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการภายใน(MINISTER FOR HOME AFFAIRS) ระหว่างปีค.ศ. 1963-1966


(เยาวหะราล เนห์รู กับ คานธี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ในช่วงนั้น  อินเดียปกครองโดยพรรคคองเกรส ของตระกูลคานธี โดยมีนายเยาวหะราล เนห์รู (JAWAHARLAL NEHRU) เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947 เรื่อยมายาวนานถึง 18 ปี 

               เนห์รู เริ่มป่วยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962  จนกระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม ปีค.ศ.1964   เขาเริ่มรู้สึกไม่สบายมาก  แต่ก็ไม่ได้พบแพทย์ 

               เขาเข้านอนตอน 23.30 น. ตามปกติ  และตื่นตอน 06.30 น. เขารู้สึกปวดที่หลังอย่างมาก   หลังจากที่แพทย์ตรวจดูอาการ  หลังจากนั้นไม่นาน  อาการป่วยของเขาก็ทรุดลงอย่างฉับพลัน และเสียชีวิตอย่างกระทันหันในเวลา 13.44 น. ของวันที่ 27 พฤษภาคม

               รัฐสภาลงมติให้นายกุลจาริลาล นันดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว (CARETAKER PRIMINISTER หรือ INTERIM PRIMINISTER) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีเวลาเพียง 13 วันเท่านั้น


(ลาล บาฮาดูร์ ชาสตรี – นายกรัฐมนตรีของอินเดีย- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ชะตากรรมของนาย กุลจาริลาล นันดา ซ้ำร้อยอีกครั้ง  แต่จะซ้ำรอยอย่างไร  โปรดติดตามในสัปดาห์หน้าครับ

               สนใจร่วมเดินทางเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา กับผม  ระหว่างวันที่ 16 -23 ตุลาคมนี้  เชิญติดต่อได้

http://www.whiteelephanttravel.co.th/wp-content/uploads/2022/06/INDIA-AHMEDABAD-OCT-2022.pdf

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .