เมื่ออินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 ธันวาคม 2565)

เมื่ออินเดียเริ่มเห็นต่างกรณีคานธี(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ช่วงเทศกาลนวราตรี ในภาคตะวันออกของอินเดีย เช่น รัฐเบงกอลตะวันตก  รัฐโอดิสสา  เขาจะเฉลิมฉลองกันอย่างเข้มข้นสนุกสนานมาก   และเรียกชื่อเทศกาลนี้ว่า  เทศกาล ทุรคา ปูชา(DURGA PUJA)

มีการสร้างอาคารจำลองชั่วคราว ทำด้วยวัสดุการเกษตรเป็นรูปแบบต่างๆเช่น  วิหาร  บางครั้งก็เป็นอาคารที่มีชื่อเสียงของโลก  เช่น  รูปตึกสูง เบิร์จ คาลิฟา ของดูไบ  เพื่อสร้างสีสรร เรียกชื่ออาคารนี้ว่า พันดัล (PANDAL)  


(พันดัล ที่สร้างเป็นรูปมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ในวาติกัน)

สำหรับปี 2565 นี้  มีการสร้าง พันดัล ที่แปลกตาเป็นพิเศษคือ  รูปมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ของวาติกัน ซึ่งสวยงามตื่นตาตื่นใจมาก

ภายในอาคารวิหาร  จะมีรูปปั้นทำด้วยเศษฝางหุ้มกิ่งไม้ห่อด้วยดินเหนียวอีกชั้นหนึ่ง  เป็นรูปตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล ทุรคา ปูชา เช่น  บรรดาอสูร  เทพเจ้า  ประดับประดาในพันดัล

จุดเด่นของเทศกาล ทุรคา ปูชา คือการรำลึกถึงปางของพระแม่ทุรคาปราบอสูรควาย  ที่ชื่อ มหิชาสุรา (MAHISHASURA)  รูปปั้นหลักที่เห็นได้ทั่วไปทุกหนแห่งก็คือ  รูปปั้นพระแม่ทุรคา กำลังเหยียบอยู่บนร่างของอสูรควาย


(พระแม่ทุรคา ปราบอสูรควาย  เป็นภาพที่คุ้นตาชาวอินเดียทั่วไป)

แต่สำหรับปีนี้   สิ่งที่เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วอินเดีย  แต่ออกข่าวเพียงแค่โทรทัศน์ช่องเดียวแล้วเงียบหายไปก็คือ  รูปปั้นที่อยู่ในพันดัลแห่งหนึ่งที่แปลกตาจากอสูรทั่วไป  แต่เป็นรูปลักษณ์ของผู้ชายศรีษะล้าน  สวมแว่นตาทรงกลม ทำให้ผู้ชมนึกไปถึงใครบางคนได้

และคนๆนั้นก็คือ ท่านมหาตมะ คานธี


(ข่าวเรื่อง พันดัล เอารูปปั้นหน้าคล้ายท่านคานธีมาจัดแสดง)

แต่ทันทีที่รูปภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปจนเป็นข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง   เจ้าหน้าที่ผู้ดูแล พันดัล ดังกล่าวก็รีบเอารูปปั้นนั้นออกไปทันที   และ แถลงข่าวว่า เป็นความบังเอิญที่รูปปั้นดังกล่าวทำให้คนทั่วไปคิดไปว่าเป็น ท่านคานธี

หลังจากนั้น   ข่าวนี้ก็เงียบหายไป

ถือเป็นครั้งแรกๆของอินเดีย ที่มีการเอารูปคล้ายของคานธี มาแสดงในเหตุการณ์ที่เหมือนจะสื่อความหมายไปในทางที่ไม่เป็นบวกต่อภาพพจน์ของคานธี

เกิดอะไรขึ้นกับ  คานธี  และ  ภาพพจน์ของท่านคานธี

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา  อินเดียเริ่มมีแนวคิดอีกแบบต่อท่านคานธี  ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลอินเดียมาจากพรรคคองเกรส ของตระกูลคานธี

เรื่องที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับท่านคานธี ในมุมตรงกันข้าม  ก็ปรากฎออกมาเป็นระยะๆ  ซึ่งทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากได้มองเห็นว่า  ยังมีชื่อของผู้รักชาติอีกจำนวนมากที่ถูกลบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จะด้วยความจงใจ หรือ ไม่จงใจก็ตาม


(เนตาจี สุภาษ จันทร โบส)

ผู้รักชาติเหล่านี้  ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ  แม้จะมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ  เช่น  เนตาจี สุภาษ จันทรโบส (NATAJI SUBHAS CHANDRA BOSE) เพราะท่านเคยเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้สถาปนารัฐบาลพลัดถิ่นอินเดียที่มีชื่อเรียกว่า AZAD HIND  ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 1943  โดยมี 11ประเทศ  ประกอบด้วย  ญี่ปุ่น  จีนนานกิง  พม่า   อิตาลี  เยอรมัน ฟิลิปปินส์  รวมทั้งไทย โดยนายควง อภัยวงศ์  ประกาศรับรองรัฐบาลของท่าน

แต่ทำไม  สุภาษ จันทรโบส จึงมีความขัดแย้งกับกลุ่ม INDIAN NATIONAL CONGREES จนถูกคุมขังแบบกักตัวในบ้าน   ทำให้ต้องหนีออกจากประเทศอินเดียในที่สุด

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับ คานธี และ  เนห์รู  แน่นอน

โปรดติดตามครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .