คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 สิงหาคม 2566)

คฑาแห่งอำนาจ-จากอียิปต์โบราณสู่อินเดียปัจจุบัน(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี  ในวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้กำหนดให้วันที่  28 พฤษภาคม 2023 เป็นวันเปิดใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่แทนอาคารรัฐสภาเก่าที่อังกฤษสร้างไว้ให้และเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 1927 ในช่วงที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  ที่เรียกว่า ยุค BRITISH RAJ

ก่อนถึงเวลาเปิดใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่  รัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี ได้ตระเตรียมการรัฐพิธีว่า  ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ก็พบว่า  มีรัฐพิธีครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1947  เมื่อครั้งที่อังกฤษคืนอำนาจในการปกครองกลับมาให้แก่ชาวอินเดีย


(ลอร์ด เมาท์แบตเท่น (ซ้าย) เนห์รู และ  เอ็ดวินนา ภริยาของ เมาท์แบตเท่น – ภาพจาก MUMBAI MIRROR)

ลอร์ด เมาท์แบตเท่น (LORD MOUNTBATTEN) ผู้สำเร็จราชการฯคนสุดท้ายของอินเดีย (VICEROY) ปรึกษากับนายชวาหะร์ลาล เนห์รู (JAWAHARLAL NEHRU) ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียว่า  รูปแบบของการส่งมอบอำนาจอธิปไตยในวันนั้นควรจะเป็นอย่างไร

จะเป็นการจับมือกัน หรือ มอบอะไรให้กันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้


(นายราชาโกปาลาชารี ขณะรณรงค์ต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษในปีค.ศ.1939)

เนห์รู นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ นายจักกราวาร์ตี ราชาโกปาลาชารี(CHAKRAVARTI RAJAGOPALACHARI) ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียอีกคนหนึ่งในยุคแรกรุ่นเดียวกับคานธีว่า  ควรจะทำอย่างไร  เพราะไม่เคยมีใครมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน

นายราชาโกปาลชารี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ของอินเดียอย่างมากคนหนึ่ง ได้ทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์ของอินเดีย  ทั้งทางด้านการเมือง และ ศาสนา

ข้อสรุปของเขามาจบลงที่ราชวงศ์โชละ (CHOLA EMPIRE) ที่สืบต่ออำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงปีค.ศ.1279  ถือว่าเป็นราชวงศ์ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลกราชวงศ์หนึ่ง  อยู่ในเขตทมิลนาดู ทางใต้ของอินเดีย


(อาณาจักรโชละ ที่แผ่นอิทธิพลมาทางตะวันออก และ ภาคใต้ของประเทศไทย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

โชละ เป็น 1 ใน 4 อาณาจักรสำคัญของทมิลนาดู และเป็นความภูมิใจของประวัติศาสตร์อินเดีย  สี่อาณาจักรดังกล่าวประกอบด้วย  อาณาจักรปานดิยา(PANDYA DYNASTY) , อาณาจักรโชละ  , อาณาจักรชีระ(CHERA DYNASTY)  และ  อาณาจักรปัลละวะ(PALLAVA DYNASTY) เรียงตามลำดับ

ที่สำคัญก็คือ  อาณาจักรโชละ ถูกกล่าวถึงในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วย  แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอาณาจักรแม้กระทั่งในยุคนั้น

อาณาจักรโชละ ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมออกมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการค้าขาย   โดยเฉพาะทางภาคใต้ของไทย


(นาฎราช  รูปหล่อทำด้วยบรอนซ์จากสมัยอาณาจักรโชละ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

นอกจากจะเป็นอาณาจักรที่มีความเก่าแก่แล้ว  โชละ ยังมีความรุ่มรวยทางด้านศิลปะอีกด้วย  ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ  รูปหล่อบรอนซ์ของพระศิวะเต้นระบำ ที่เรียกว่า  นาฎราช(NATARAJA) ที่สวยงามและถูกกล่าวถึงมากที่สุด


(ภาพจำลองของการส่งมอบคฑาเซนกอล ให้แก่กษัตริย์องค์ต่อไปของราชวงศ์โชละ – ภาพจาก SANSAD TV)

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของราชวงศ์โชละ  มีประเพณีหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาก็คือ  ประเพณีการส่งต่ออำนาจของกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ไปสู่กษัตริย์พระองค์ต่อไป ด้วยการส่งมอบ เซนกอล (SENGAL) ซึ่งเป็นคฑาแห่งอำนาจทำด้วยทองคำ  

เซนกอล ได้รับการเคารพว่า  เป็นคฑาแห่งความชอบธรรม ซึ่งหมายถึง ความชอบธรรมที่จะปกครองแผ่นดิน  คฑาเซงกอลจะได้รับการสวดให้พรโดยนักบวชที่ได้รับความเคารพอย่างสูงสุดในยุคนั้น และได้รับพรจากพระศิวะภายในวิหารที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี

สนใจเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ กับผม ที่เน้นการบรรยายชมอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม นี้  และในทุกๆเดือน  ติดต่อสอบถาม และ สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .