มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน10-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 มีนาคม 2567)

มหาราชา-นาวาบ-และนิซาม คนแปลกคน(ตอน10-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

อาจพูดได้ว่า   มหาราชา ไจซิงห์ พราบฮาการ์ แห่ง อัลวาร์  ปิดฉากการเป็นมหาราชาโดยมีสาเหตุจาก “หมา”  เพียงตัวเดียว

จากหนังสือ FREEDOM AT MIDNIGHT ของ โดมินิค ลาปิเอร์  ไม่ได้ระบุถึงวันเดือนปีที่เกิดเหตุการณ์  และ  ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลที่สามที่เข้ามาเกี่ยวพัน  ผมจึงต้องใช้วิธีประมาณการเอา

พิจารณาจากเงื่อนไขของเหตุการณ์ และ เวลาแล้ว  มีโอกาสอย่างมากที่เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 1931 – 1936  ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว  ผู้สำเร็จราชการของอินเดีย ก็คือ ท่านลอร์ด วิลลิงดอน (LORD WILLINDON)


(ผู้สำเร็จราชการ ลอร์ด วิลลิงดอน -ภาพจากวิกิพีเดีย)

เหนืออื่นใด  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในพระราชวังของมหาราชาแห่งอัลวาร์  เหตุการณ์ที่ไม่มีคนนอกเข้ามารับรู้ได้  จึงแทบจะไม่มีบันทึกใดๆที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเลย  

ยกเว้นจากหนังสือเล่มที่ว่านี้เท่านั้น

เหตุการณ์เกิดขึ้นวันหนึ่ง   เมื่อเลดี้ มารี อาดีเลด (MARIE ADELAID) ภริยาของ ผู้สำเร็จราชการ วิลลิงดอน ได้เดินทางมาที่พระราชวังของมหาราชาแห่งอัลวาร์เพื่อรับประทานอาหารเที่ยง  น่าจะเป็นคำเชิญของมหาราชา


(เลดี้ มารี อาดิเลด ภริยาของผู้สำเร็จราชการ ลอร์ด วิลลิงดอน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่รายละเอียดไม่ได้บอกว่า   เป็นงานเลี้ยงในโอกาสอะไร  และ  มีแขกมาร่วมงานเลี้ยงมากน้อยเท่าไหร่  

คราวซวยมาเยือน  เมื่อเลดี้ มารี อาดีเลด ได้นำสุนัขที่พระนางเลี้ยงติดตัวมาด้วย  และ จะขอนำเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวโต๊ะอาหาร   ตอนนี้  มหาราชาจะต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอาอย่างไรกับหมาตัวนี้


(มหาราชา ไจ ซิงห์ แห่งอัลวาร์ ผู้มุ่งมั่น และ ดุดันในแนวทางของตนเอง -ภาพจากวิกิพีเดีย)

เพราะหมาตัวนี้ไม่ใช่หมาธรรมดาๆทั่วไป   แต่เป็นหมาของภริยาของผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ  ความเกรงกลัวต่อผู้สำเร็จราชการก็มีอยู่   แต่ดูเหมือนว่า   ความกลัวต่อการที่มีหมาเข้ามาเดินเพ่นพ่านในพระราชวังจะมีพลังมากกว่า

มหาราชา ไจ ซิงห์  จึงขอให้เลดี้ มารี  ทิ้งหมาเอาไว้ข้างนอก   แล้วค่อยเข้ามาร่วมโต๊ะอาหาร

เลดี้ มารี น่าจะเป็นคนหัวรั้นพอสมควร  เธอคิดว่าหากทำตามที่มหาราชาบอก  เธอจะเสียหน้า  จึงปฎิเสธ   และยืนยันที่จะนำหมาเข้าไปด้วย

น่าจะมีการเจรจากันอยู่พักใหญ่  ในที่สุด  เลดี้ มารี ก็สะบัดกระโปรงกลับออกไปโดยไม่ได้เสวยอาหารเที่ยง

เป็นเรื่องช็อคต่อแขกที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก  แต่ที่ช็อคไปกว่านั้นก็คือ  ราชสำนักอังกฤษ ที่บอกว่า  ไม่สามารถยอมรับในพฤติกรรมของมหาราชา ไจ ซิงห์ ได้อีกต่อไป

ในช่วงนั้น  ราชสำนักอังกฤษอยู่ในช่วงรอยต่อของกษัตริย์ เอ็ดเวิร์ด ที่ 8 (EDWARD VIII) ที่กำลังจะสละราชสมบัติ เพื่อไปแต่งงานกับ นางวอลลิส ซิมป์สัน(WALLIS SIMPSON)  กับการตัดสินใจขึ้นครองราชของพระเจ้าจอร์จที่ 6(GEORGE VI)

ต้องไม่ลืมว่าขณะนั้น   อินเดีย อยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอังกฤษ เรียกว่า  ยุค บริติช ราช (BRITISH RAJ)   คำตัดสินของราชสำนักอังกฤษถือว่าเป็นเด็ดขาด

หลังจากพิจารณาโทษของมหาราชา  ซึ่งคงจะรวบยอดตั้งแต่คดีรถยนตร์โรลลส์ รอยส์  ต่อเนื่องกับความหัวแข็งของพระองค์  และมาลงท้ายด้วยคดีเลดี้ มารี   อังกฤษก็คิดบัญชีแบบทบต้น รวมดอกอย่างสาสม และอาจจะมีเหตุผลอื่นที่มหาราชา มีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนอังกฤษควบคุมลำบาก

มหาราชา ไจ ซิงห์ ถูกขับออกจากราชบัลลังก์ในปี 1937   พระองค์ต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส   และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 1937

ไม่ปรากฎหลักฐานว่า  พระองค์เสียชีวิตจากสาเหตุใด   แต่ที่แน่ๆ  มันเริ่มต้นมาจาก “หมา” ตัวหนึ่งแน่นอน

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .