อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 เมษายน 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอียิปต์ มีเรื่องแปลกประหลาดมากมายที่คนในยุคปัจจุบันนี้อาจคาดไม่ถึง  หรือ พิศวงเป็นอย่างยิ่ง

               เรื่องแรกก็คือ  ตามกฎมณเฑียรบาล   ฟาโรห์จะต้องอภิเษกสมรสกับ พี่สาว หรือ น้องสาวของตัวเอง  เพื่อสิทธิในการขึ้นครองราช   เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ยังไม่อาจสรุปลงไปอย่างฟันธงได้ว่า  การอภิเษกสมรสนั้น  เป็นแค่พิธีกรรม  หรือ  เป็นพฤติกรรมสามีภรรยาจริงๆ


(รูปสลักของ ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ที่อยู่ตรงเท้าก็คือ มเหสี เนเฟอร์ทารี มเหสีเอกของรามเซส)

               เพราะฟาโรห์บางองค์ก็มีลูกกับมเหสีที่เป็นพี่สาวหรือน้องสาวของตัวเองเหมือนกัน  

               ยิ่งไปกว่านั้น  ประวัติศาสตร์ยังระบุว่า   ฟาโรห์รามเซส ที่ 2 ก็ยังเอาลูกสาวมาเป็นมเหสีด้วยซ้ำ

               นอกจากนี้  ยังมีบันทึกว่า  บรรดาสมาชิกของราชวงศ์อียิปต์โบราณมีการสังหารกันในครอบครัวของตัวเอง   เช่น  พี่ฆ่าน้อง  น้องฆ่าพี่  ลูกฆ่าพ่อ เป็นต้น

               และเรื่องการสังหารกันนี้  นอกจากมาสังหารเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์แล้ส   บางรายก็มีสาเหตุเกี่ยวข้องจากเรื่องความเชื่อทางศาสนา  หรือ  พูดให้ตรงประเด็นก็คือ  เรื่องของบรรดาเทพพระเจ้าของอียิปต์นั่นเอง

               ในยุคอาณาจักรใหม่ของอียิปต์ (1570-1069 ปีก่อนคริสตกาล )  และในสมัยของฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 4 ซึ่งขึ้นครองราชในปี 1350 ก่อนคริสตกาล  ต่อจาก ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ผู้เป็นบิดา

               แม้จะมีความสัมพันธ์เป็นพ่อลูกกัน   แต่พ่อลูกคู่นี้ก็มีความเห็นในเรื่องศาสนาที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว   กล่าวคือ  อาเมนโฮเทป ที่ 3 ผู้พ่อนับถือศาสนาอียิปต์โบราณที่นับถือเทพเจ้าจำนวนมากที่สืบทอดต่อๆกันมาเป็นเวลาช้านานนับพันปี 


(เทพเจ้า รา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               โดยมีเทพเจ้าสูงสุดที่นิยมนับถือกันมาแทบทุกสมัยก็คือ เทพเจ้า รา

               แต่ระบบศาสนาของอียิปต์โบราณ มักจะถูกผูกขาดการติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าโดยชนชั้นนักบวชเพียงชนชั้นเดียว  คล้ายๆกับชนชั้นวรรณะพราหมณ์ ของศาสนาฮินดู


(ภาพสลักในวิหารเอ็ดฟู แสดงให้เห็นนักบวช(ยืนตรงกลาง) ในขบวนแห่ของเทศกาลโอเปต (OPET FESTIVAL) ของอียิปต์โบราณ)

               เมื่อศาสนาอียิปต์โบราณถูกผูกขาดด้วยชนวรรณะนักบวช  ความมั่งคั่งร่ำรวยจึงหลั่งไหลไปสู่บรรดานักบวชเหล่านี้    นอกจากความมั่งคั่งแล้ว  ความเชื่อถือ  นับถือ  ก็ตามมาด้วย จนแทบจะแยกไม่ออกว่า  นับถือเทพเจ้า หรือ  นับถือนักบวชกันแน่

               ซึ่งก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์ในยุคกลาง ที่สันตะปาปาแห่งโรม จะอ้างสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าจากสวรรค์ ในการสวมมงกุฎให้แก่จักรพรรดิ    เริ่มจากจักรพรรดิ ชาร์เลอเมน ของพวกแฟรงค์ในปีค.ศ. 800  และ กลายมาเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจในการปกป้องศาสนาจักรโรมันคาธอลิค ที่เรียกว่า  อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในเวลาต่อมา


(สันตะปาปา ลีโอ ที่ 3 สวมมงกุฎให้แก่ จักรพรรดิ ชาร์เลอเมน แห่ง แฟร้งค์ – ภาพจาก กูเกิ้ล)

               แต่เหตุการณ์ของอียิปต์เกิดขึ้นก่อน อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ นานกว่า 2 พันปี

               บางครั้ง  นักบวชของอียิปต์โบราณก็ทรงอำนาจมากถึงขนาดยึดอำนาจขึ้นครองบัลลังก์เป็นฟาโรห์แทนเสียเองก็มี

               ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4 ขึ้นครองราชโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองธีบส์ หรือ เมืองลักซอร์ในปัจจุบัน   แต่พระองค์ทรงมีแนวคิดที่แตกต่างไปจากพระบิดาของพระองค์คือ  อาเมนโฮเทป ที่ 3 และ  แตกต่างจากฟาโรห์ทุกพระองค์ก่อนหน้า

               เพราะพระองค์ปฎิเสธแนวความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าจำนวนมากตามอย่างของบรรพบุรุษ  แล้วตั้งความเชื่อใหม่ขึ้นมา  โดยมีเทพเจ้าที่เคารพเพียงองค์เดียว  เรียกว่า  อะเตน  ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือน พระอาทิตย์  ซึ่งความเชื่อเก่าเรียกว่า  รา   

               จะว่าไป   แนวคิดของ  อาเมนโฮเทป ที่ 4  ดูเหมือนจะไม่ได้เคารพเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์   แต่เคารพ แสงของพระอาทิตย์ หรือ อะเตนมากกว่า


(ฟาโรห์ เอคเคนนาเตน กับ มเหสี เนเฟอร์ตีติ กำลังทำพิธีบูชา ต่อ  อะเตน หรือ  แสงของพระอาทิตย์)

               ตามบันทึกบอกว่า  แนวคิดเรื่องเทพเจ้าองค์เดียว ของอาเมนโฮเทป ที่ 4 เกิดขึ้นในปีที่ 5 ของการขึ้นครองราชของพระองค์  ด้วยเหตุนี้  พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระนามเสียใหม่ เป็น อัคเคนนาเตน

               เพราะ อาเมนโฮเทป นั้นแปลว่า  เป็นที่พอพระทัยของเทพอามุน  ซึ่งเป็นเทพเจ้าเก่าของศาสนาอียิปต์โบราณ   ส่วน อัคเคนนาเตน นั้นแปลว่า  เป็นที่รักของ อะเตน

               คำว่า  อาเมน ในชื่อ “อาเมนโฮเทป” นั้น มาจากคำว่า  เทพอามุน   ส่วน ชื่อใหม่ “อัคเคนนาเตน” นั้น  คำว่า “นาเตน”  ก็หมายถึง  อะเตน

               จากนั้น  พระองค์อาจจะรู้สึกว่า  การประทับในเมืองธีบส์ไม่ปลอยภัย  จึงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอยู่ทางเหนือของเมืองธีบส์ไปประมาณ 400 กิโลเมตร

               เพื่อเป็นเมืองหลวงที่จะสามารถประกาศศาสนาใหม่ตามแนวคิดของพระองค์ได้อย่างราบรื่น

               ความฝันของพระองค์จะเป็นจริงหรือไม่  รออ่านตอนหน้าครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 6 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .