ว่าด้วย สงกรานต์สี จนถึงวันปีใหม่ของฮินดู

ว่าด้วย  สงกรานต์สี จนถึงวันปีใหม่ของฮินดู

(เทศกาล โฮลี อันสนุกสนานของชาวฮินดู)

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา  เป็นวันจันทร์เพ็ญ หรือ วันบูรณมี และถือเป็นวันสงกรานต์สีตามประเพณีเทศกาลของศาสนาฮินดู ที่ชาวฮินดูเรียกว่า วันโฮลี (HOLI)

(ตามปฎิทินจากโปรแกรม ของอาจารย์ วิเลิศ จิว  จะเห็นว่าวันที่ 6 มีนาคม 2558  เป็นวันบูรณมี หรือ  จันทร์เพ็ญ  อาทิตย์(๑) เล็งกับ จันทร์(๒) สนิทองศาพอดี )

วันนั้นจะมีการเฉลิมฉลอง  สนุกสนานด้วยการสาดสีให้กันและกัน  คล้ายๆกับวันสงกรานต์บ้านเรา

(สงกรานต์สี หรือ เทศกาลโฮลี ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู)

คืนก่อนหน้านั้น คือวันที่ 5 มีนาคม 2558  จะมีการทำพิธีเผาหุ่นของ โฮลีกา (HOLIKA) ซึ่งสมมติให้เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณชั่วร้าย  และเสมือนเป็นการเฉลิมฉลองการตายของ โฮลีกา ด้วย

(ประเพณีการเผา โฮลิกา)

อันว่า  โฮลิกา นั้นเป็นน้องสาวของ กษัตริย์อสุรกาย ที่ชื่อ หิรัญยากาชิปู (HIRANYAKASHIPU)  และ หิรัญยากาชีปู ก็มีน้องชายคนหนึ่งชื่อว่า  หิรัญยักษา (HIRANYAKSHA)

หิรัญยักษา  ก็คือ หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน  ตามที่เรารู้จักกันในภาษาไทย

ตำนานเล่าว่า   ในช่วงแรกๆของการสร้างโลก  เทพวิษณุได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินริมชายฝั่งทะเล   และในบริเวณนั้น  ก็มีนกนางนวลคู่หนึ่งมาสร้างรังของตัวเองเพื่อออกไข่

เมื่อนกนางนวลตัวแม่ออกไข่ตรงริมฝั่งทะเล  น้ำทะเลก็จะขึ้นสูงและกวาดเอาไข่ของเธอลงไปในทะเลทุกครั้ง   ไม่วายว่าแม่นำจะย้ายที่ออกไข่ให้ห่างจากชายฝั่งทะเลเท่าไหร่ก็ตาม  ก็จะเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง นกนางนวลคู่นี้หัวใจสลายที่ต้องเห็นลูกของตัวเองต้องตกลงไปในทะเลทุกครั้ง   จึงได้ขอพรจากเทพวิษณุให้มาช่วยตนเอง

(เทพวิษณุ กับ พระนางลักษมี ทรงครุฑ)

ด้วยความเห็นใจ  เทพวิษณุจึงอาสาที่จะอมน้ำทะเลทั้งหมดเอาไว้  จึงปรากฏเป็นแผ่นดินของโลกขึ้นมา   เพื่อให้นกนางนวลออกไข่ได้โดยไม่ต้องกังวลต่อน้ำทะเลอีกต่อไป    แต่เมื่อนานเข้า   เทพวิษณุก็เหนื่อยอ่อนและเผลอหลับไป

หิรัญยักษา ซึ่งบังเอิญผ่านมา  เห็นเทพวิษณุ หลับไป  ก็ถือโอกาสนี้เข้าทำร้ายพระแม่ธรณีอย่างโหดร้าย   ทำให้พระแม่ธรณีถึงกับกระดูกซี่โครงหักจนโผล่ออกมานอกร่างกาย   กลายเป็นเทือกเขาหิมาลัย

จากนั้น  หิรัญยักษา  ก็ได้เอาตัวพระแม่ธรณีดำดิ่งลงเก็บไว้ใต้ท้องมหาสมุทร  สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวโลกทั้งหลาย

ในที่สุดก็เดือดร้อนถึงเทพวิษณุที่ต้องอวตานมาเป็น วะราหะ(VARAHA) หรือ หมูป่า  เพื่อมาปราบหิรัญยักษา เอาแผ่นดินโลกกลับคืนมา

การต่อสู้ครั้งนี้ยาวนานถึง 1,000 ปี   จบลงด้วยการตายของ หิรัญยักษา

(วะราหะ อวตานของเทพวิษณุ ยืนอยู่เบื้องหน้า หิรัญยักษา)

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น   หิรัญยักษา มีพี่ชายตนหนึ่ง  นามว่า  หิรัญยากาชิปู  มีความโกรธแค้นต่อการตายของน้องชายของตนเองอย่างยิ่ง  ต้องการจะฆ่าเทพวิษณุเพื่อแก้แค้นแทนน้องชาย    จึงเฝ้าบำเพ็ญเพียรสวดมนต์เพื่อสร้างบารมีให้พระพรหม เห็นในความมีเจตนาที่กล้าแข็งของตนเอง

พระพรหม เห็นในความตั้งใจของ หิรัญยากาชิปู  จึงออกปากที่จะให้ “บุญ” ตามที่ หิรัญยากาชิปู ขอ   ซึ่งหิรัญกายาชิปู  ก็ได้ขอให้ตนเองเป็นอมตะ   ใครฆ่าก็ไม่ได้

แต่พระพรหม  ปฎิเสธ  เพราะมันมากไป

หิรัญยากาชิปู  จึงขอพรว่า  ขอให้ตนเองไม่ตายด้วยน้ำมือของสิ่งมีชีวิตใดที่พระพรหมเป็นผู้สร้างขึ้นมา  ขอให้ข้าไม่ตายในอาคาร และภายนอกอาคาร   ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน  ไม่ว่าจะตายบนปฐพี  หรือ กลางอากาศ   ขอให้ไม่ตายด้วยศาสตราวุธใดๆ   ขอให้ไม่ตายด้วยน้ำมือของมนุษย์ และ ไม่ตายด้วยน้ำมือของสัตว์

ขอให้ข้าไม่ตายด้วยน้ำมือของสิ่งมีชีวิต  และ ไม่มีชีวิต  ,  ขอให้ข้าไม่ตายด้วยน้ำมือของกึ่งเทพ(DEMIGOD)  และ อสุร  และไม่ตายด้วยงูยักษ์จากใต้ปฐพี   และขอพรอะไรต่ออะไรอีกมากมาย  เช่น  ขอให้เขาไม่มีใครจะมาเทียมทานได้ในสนามรบ  เหล่านี้เป็นต้น

ในระหว่างที่ หิรัญยากาชิปู  บำเพ็ญตบะอยู่นั้น   บ้านของเขาก็ถูก พระอินทร์ และ บรรดาเทพทั้งหลายบุกเข้าไปยึดครอง   และได้จับตัวนางกายาธู(KAYADHU) ซึ่งเป็นมเหสีของ หิรัญยากาชิปู ไป

นางกายาธู นั้น   ว่ากันว่าเป็นผู้ไม่มีบาป  และกำลังตั้งท้องลูกของ หิรัญยากาชิปู   นางคลอดลูกออกมาเป็นชาย  มีชื่อว่า พราลาดา (PRAHLADA)  และได้รับการเลี้ยงดูจาก  นาราดา(NARADA) ผู้เป็นนักบวชศักดิ์สิทธิ์   ซึ่งสั่งสอนให้ พราลาดา ให้ความเคารพบูชาต่อเทพวิษณุ

สุดท้าย   พราลาดา ก็ได้กลายมาเป็นสาวกผู้นับถือเทพวิษณุ ที่เข้มแข็งที่สุด  แทนที่จะเคารพนับถือ หิรัญยากาชิปู บิดาของเขาด้วยซ้ำ

ด้วยความแค้นดั่งไฟสุม   หิรัญยากาชิปู  จึงตั้งใจที่จะฆ่าลูกชายของตนเองให้ได้  และได้เพียรพยายามหลายต่อหลายครั้ง

ขอข้ามไปเล่าเรื่องสงครามระหว่าง หิรัญยากาชิปู กับ เทพวิษณุ เสียก่อน เดี๋ยวค่อยมาเล่าเรื่องนี้ต่อ

หิรัญยากาชิปู  ตามจนพบ พราลาดา และจะใช้กำลังเข้าทำร้าย   เทพวิษณุจึงต้องอวตานออกมาช่วย พราลาดา เพื่อว่า  พราลาดา จะได้ไม่ต้องต่อสู้กับพ่อของเขา

อวตานครั้งนี้ของเทพวิษณุ เรียกว่า  นรสิงห์(NARASIMHA) มีครึ่งบนเป็นสิงห์  ครึ่งล่างเป็นคน   และสามารถสังหาร หิรัญยากาชิปู ลงได้ ในที่สุด

ทำไม นรสิงห์ จึงสามารถสังหาร หิรัญยากาชิปู ได้ ทั้งๆที่หริญยากาชิปู ได้รับพรอันประเสริฐจากพระพรหมมาแล้ว

ทั้งนี้ก็เพราะ   นรสิงห์ มิได้เป็นทั้งมนุษย์  หรือ  สัตว์  แต่เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์      ตอนที่ นรสิงห์ สังหาร หิรัญยากาชิปู นั้นเป็นเวลาย่ำสนธยา  ซึ่งไม่ใช่ทั้งเวลากลางวัน หรือ เวลากลางคืน   และสถานที่สังหาร หิรัญยากาชิปู ก็อยู่ตรงรอยต่อของอาคาร และ สวน  จึงไม่ใช่อยู่ภายในอาคาร หรือ ภายนอกอาคาร

นรสิงห์ ยังสังหาร หิรัญยากาชิปู บนตักของตนเอง   ซึ่งไม่ใช่บนปฐพี หรือ  กลางอากาศ  และ ยังใช้กรงเล็บของตนเองในการสังหาร ซึ่งไม่ใช่อาวุธ   จากนั้นก็ควักไส้ของ หิรัญยากาชิปู  ออกมาจน หิรัญยากาชิปู ตาย

(ภาพสลักของ นรสิงห์ ตอนสังหาร หิรัญยากาชิปู บนตักของตนเอง)

(ภาพนรสิงห์ สังหาร หิรัญยากาชิปู บนตักของตัวเอง  โดยมี พราลาดา ยืนมองอยู่ข้างๆ)

ย้อนกลับมากพูดถึงความพยายาม ของหิรัญยากาชิปู ที่จะสังหาร พราลาดา ลูกชายของตนเอง

ครั้งหนึ่ง   หิรัญยากาชิปู  ได้ออกอุบายให้ พราลาดา ขึ้นไปนั่งบนกองฟืน พร้อมด้วย โฮลิกา  น้องสาวของ พราลาดา ซึ่งเป็นลูกสาวของ หิรัญยากาชิปู  จากนั้นก็ได้จุดไฟเพื่อให้เผา พราลาดา จนตาย  เพราะ หิรัญยากาชิปู รู้ดีว่า  โฮลิกา มีพรสวรรค์พิเศษที่คอยปกป้องเธอจากไฟ    แต่ พราลดา ไม่มี

พราลาดา จึงสวดมนต์ภาวนาขอพรต่อเทพวิษณุ  เกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่าง  พลังแห่งเทพ และ  มาร   ผลปรากฏว่า   ไฟไม่อาจทำร้ายต่อ พราลาดา ได้  ในขณะที่ โฮลิกา  ต้องตายในกองเพลิงนั่นเอง

ชื่อของ โฮลิกา ต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อของเทศกาล โฮลี  หรือ เทศกาลสงกรานต์สี   และ  การเผาหุ่นโฮลิกา ในคืนก่อนหน้าเทศกาลโฮลี  ก็เป็นการรำลึกถึงตำนานเรื่องเล่าที่กล่าวมานี้

ว่าจะต่อไปถึงเรื่อง  วันขึ้นปีใหม่ของฮินดู  ก็ชักจะยาวไปแล้ว  เกรงท่านผู้อ่านจะเบื่อ   รออ่านในตอนหน้าแล้วกันครับ

สวัสดี

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *