เส้นทางสายไหม (1)

ซอกซอนตะลอนไป 3

เส้นทางสายไหม (1)
โดย  เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ใกล้ถึงเดือนตุลาคมแล้ว  เดือนที่เหมาะสมที่สุด  หากคิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวบนเส้นทางที่รู้จักกันดีทั่วโลก  คือ เส้นทางสายไหม  หรือ ที่ฝรั่งเรียกว่า  SILK ROAD ที่ว่าเหมาะสมก็เพราะเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบาย   กำลังอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง  และที่สำคัญก็คือ  ผลไม้หลากหลายบนเส้นทางสายนี้กำลังสุกได้ที่ทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น  แคนตาลูป ที่ชาวจีนเรียกว่า  ฮามิกวา  แปลว่า  แตงจากเมืองฮามิ  ,  องุ่น  , ทับทิม , ลูกท้อ  ,  สาลี่ ,  ส้ม  และอื่นๆอีกมากมาย

แม่ค้าขายแคนตาลูป หรือ ฮามีกวา)

ผลไม้เหล่านี้  ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผลไม้พื้นเมืองของจีน    แต่ถูกนำเข้ามาจากโลกตะวันตก คือ ยุโรป    ตั้งแต่เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว    และด้วยภูมิอากาศที่เหมาะสม   ผลไม้เหล่านี้ก็ได้รับการขยายพันธุ์บนพื้นที่ต่างๆตามเส้นทางสายไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในทะเลทรายทะคลามะกัน  หรือ ทะเลทรายโกบี  ในเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเมืองหนึ่งก็คือ  ทูรูฟาน (TURPAN)

(สาวๆในชุดพื้นเมืองของทูรูฟาน)

เมืองทูรูฟานเป็นโอเอซีสกลางทะเลทราย ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเป็นอันดับ 2 ของโลก  รองลงมาจาก ทะเลเดดซี ที่อยู่ในจอร์แดน และ อิสราเอล

ดูจากสภาพภูมิประเทศแล้ว   ไม่น่าที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้    เพราะพื้นที่แถบนี้   มีปริมาณน้ำฝนเพียงปีละประมาณ 6 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง

เรียกว่า  น้ำฝนยังตกไม่ทันถึงพื้น   ก็ระเหยกลายไปไอน้ำขึ้นไปเสียแล้ว

แต่สิ่งมหัศจรรย์ที่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า   สร้างมาตั้งแต่สมัยใด ใครเป็นคนสร้าง  ที่เป็นตัวทำให้อาณาบริเวณนี้กลายเป็น  โอเอซิสที่สมบูรณ์ที่สุดกลางทะเลทราย

นั่นก็คือ  อุโมงค์ส่งน้ำใต้ทะเลทราย  ที่จีนเรียกว่า   คานเอ๋อจิ่ง

ที่ว่ามหัศจรรย์ก็เพราะว่า    ในขณะที่บนพื้นดินที่แห้งแล้งมาก  จนถึงขนาดว่า  ถ้าเอาน้ำสักถังราดลงไปที่พื้น   น้ำจะซึมหายไปในพริบตา

แต่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ  3 – 5 เมตร   มีอุโมงค์ส่งน้ำที่ขุดด้วยน้ำมือมนุษย์ยาวหลายร้อยกิโลเมตรจากเทือกเขาเทียนซาน  ลากยาวมาที่เมืองทูรูฟาน

ในขณะที่พื้นดินข้างบนแห้งผาก   แต่ในอุโมงค์ส่งน้ำข้างล่าง  กลับมีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปี

ผมเคยตักน้ำขึ้นมาดื่ม   รสชาติหวานเป็นธรรมชาติดีจริงๆ

เมืองทูรูฟาน จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในทะเลทรายแห่งนี้   ผมไม้ที่ปลูกก็เช่น  แตงโมที่หวานเฉียบ  แคนตาลูป ที่เดี๋ยวนี้ก็ถูกส่งมาขายในประเทศไทยแล้ว  และ  องุ่นหลากหลายพันธุ์

นั่งรถผ่านไปตามหมู่บ้าน   เราจะเห็นสิ่งก่อสร้างเป็นกำแพงสี่ด้านที่มีช่องระบายอากาศให้ลมผ่าน    ข้างในจะแขวนพวงองุ่นที่สุกแล้วเอาไว้   ให้อากาศที่แห้งและร้อนเป็นตัวอบให้องุ่นเหล่านี้แห้งไปเองตามธรรมชาติ  จนกระทั่งองุ่นแห้งสนิท  จนหลุดจากขั้วตกลงมาที่พื้น

กลายเป็น ลูกเกด ชั้นดีของทูรูฟาน   เพราะไม่มีเม็ด

(แม่ค้าขายลูกเกดไร้เม็ด)

ทั้งหมดนี้   เป็นผลจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหม

และในทางกลับกัน  กองคาราวานที่นำเอาผ้าไหมไปขายในยุโรป  ก็ได้ติดเอาผลไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในยุโรปสมัยนั้นไปด้วย   เมื่อไปเจออากาศ และพื้นดินที่เหมาะสม  และได้รับการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆขึ้น

ผลไม้ที่ว่านี้ก็เลยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งยุโรป    ใครไปถึงก็ต้องขอชิมดูว่าจะมีรสชาติอร่อยสมคำร่ำลือหรือไม่

ผลไม้ที่ว่าก็คือ  ส้ม

ส้มดังกล่าวถูกนำไปจากประเทศจีนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว  ไปปลูกและพัฒนาพันธุจนกระทั่งกลายเป็นส้มพันธุ์ดี  ไม่มีเม็ด  และให้รสชาติที่หวานอมเปรี้ยวกำลังดี

มีชื่อเรียกขานว่า   ส้มวาเลนเซีย   ปลูกอยู่ในเมืองวาเลนเซีย ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ในภาคตะวันออกของประเทศสเปน

(ส้มที่มีชื่อเสียงของเมืองวาเลนเซีย ของสเปน ผลผลิตจาก เส้นทางสายไหม)

ในขณะที่ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของจีน  เกิดความวุ่นวายในประเทศจนไม่มีใครคิดจะพัฒนาพันธุ์ส้มให้ดีขึ้นมา   และในที่สุด  สเปนก็พัฒนาพันธุ์ส้มจนล้ำหน้าจีนไปแล้ว

คุยเรื่อง  เส้นทางสายไหม อยู่ดีๆ   ทำไมมาจบลงที่ประเทศสเปนล่ะนี่     ตอนหน้าค่อยมาพูดถึงเส้นทางสายไหมกันต่อครับ

ใครที่อยากไปเที่ยว  เส้นทางสายไหมกับผมระหว่างวันที่ 11-20 ตุลาคม  ก็ติดต่อได้ที่เบอร์ 02 651 6900 ครับ

(ภาพโดย  ศุภสิน คลองน้อย)


ซอกซอนตะลอนไป 3    (9 สิงหาคม 2556)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *