อ่านไซอิ๋ว สามจบคบไม่ได้

เส้นทางสายไหม (2)  

อ่านไซอิ๋ว สามจบคบไม่ได้
โดย  เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

“เส้นทางสายไหม” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็เพราะ  เป็นเส้นทางการค้าที่นำเอา “ผ้าไหม” ของประเทศจีนไปขายในยุโรปเมื่อประมาณ 2 พันกว่าปีที่แล้ว

ตอนนั้น  ยุโรปยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอยู่เลย

ว่ากันว่า  จูเลียส ซีซาร์ เคยใส่ผ้าไหมของจีน เดินเข้าไปในโรงละคร   กลายเป็นที่โจษขานของชาวโรมันไปทั่วว่า  ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น

ทั้งนี้เพราะ   ผ้าไหมในยุคนั้นราคาแพงมากๆ   แพงกว่าทองคำด้วยซ้ำเมื่อเทียบตามน้ำหนัก

กองคาราวาน เดินทางนำเอาผ้าไหมไปสู่โลกตะวันตก ผ่านเข้าไปในอาณาจักรโรมัน  และ โรมันไบแซนไทน์(ปัจจุบัน ก็คือ ประเทศตุรกี)   เป็นการถ่ายเท แลกเปลี่ยน ทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญของโลก

ทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงไหมกันในเมืองเบอร์ซา(BURSA)ประเทศตุรกี  จนเมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าไหมของตุรกีไปแล้ว

เมืองดิจอง (DIJON)ในประเทศฝรั่งเศส  ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ ตัวไหม ถูกนำมาเผยแพร่จนเมืองดิจอง กลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยง  และเป็นศูนย์กลางผ้าไหมในฝรั่งเศส

อีกสิ่งหนึ่งที่โต้แย้งกันมานานว่า ใครเป็นผู้คิดค้นกันแน่  ก็คือ  เส้นก๋วยเตี๋ยว  กับ เส้นสปาเก็ตตี้   ก็เกิดจากการถ่ายเททางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับยุโรปนั่นเอง

(ปัจจุบันนี้   เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า   จีนเป็นผู้คิดค้นอาหารที่เป็นเส้นเป็นคนแรกของโลก)

ในทางกลับกัน  พ่อค้ากองคาราวานก็นำเอาผลไม้ที่ตนเองไม่เคยเห็นมาก่อนกลับสู่จีน   และทำการเพาะปลูกจนได้ผลไม้ที่มีรสชาติดีในเมืองทูรูฟาน  ตามที่ผมได้เขียนถึงไปในตอนที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น  เส้นทางสายไหม ยังเป็นสะพานที่นำเอาศาสนาสำคัญ 2 ศาสนาเข้ามาสู่จีน  คือ ศาสนาพุทธ และ ศาสนาอิสลาม

ปีค.ศ. 629 หรือเมื่อประมาณ 1384 ปีที่แล้ว   หลวงจีนองค์หนึ่งลักลอบเดินทางหนีออกจากเมืองซีอาน  โดยไม่ทูลขออนุญาตจากฮ่องเต้ ถังไท้จง เสียก่อน  โดยมีจุดประสงค์ที่จะไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป  หรือ อินเดียในปัจจุบันมาสู่ประเทศจีน

พระสงฆ์รูปนั้นรู้จักกันในนาม  พระถังซัมจั๋ง (XUANZHANG) พระหนุ่มที่อายุเพียง 27 ปีเท่านั้น

(รูปหล่อสำริดของพระถังซัมจั๋ง ที่เมืองซีอาน)

แม้ว่าในนิยาย “ไซอิ๋ว” ที่มีตัวละครเอกในเรื่อง เช่น เห้งเจีย  ตือโป้ยก่าย และ ซัวเจ๋ง  จะบอกว่า  พระถังซัมจั๋ง เดินไปทางไปพร้อมกับลูกศิษย์ดังกล่าว    แต่ข้อเท็จจริงก็คือ   ท่านเดินทางโดยลำพังเพียงคนเดียว พร้อมด้วยม้าอีกตัว  และ ความกล้าหาญเต็มหัวใจ

ท่านออกจากด่าน ยี่เหมิน ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่อยู่ในอำนาจของราชวงศ์ถัง และใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าจะถึงเมือง ทูรูฟาน   ขณะนั้นในบริเวณเมืองทูรูฟาน   มีอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งตั้งอยู่   เรียกว่า   อาณาจักรเกาชาง  ซึ่งก็นับถือศาสนาพุทธเช่นกัน

(ทางเข้าไปยังเมืองเก่าเกาชาง ต้องนั่งรถเทียมล่อเข้าไป)

เมื่อทราบว่าพระถังซัมจั๋งจะเดินทางผ่านมา  กษัตริย์แห่งเมืองเกาชางก็เตรียมการต้อนรับท่านอย่างดียิ่ง    และนิมนต์ให้พระถังซัมจั๋ง จำพรรษาอยู่ที่เมืองเกาชางตลอดไป

แต่ท่านปฎิเสธ

ในเมืองโบราณเกาชาง  ยังปรากฏสิ่งก่อสร้างคล้ายเจดีย์  ซึ่งมีพระพุทธรูปดินปั้นประดิษฐานในกรอบเล็กๆรายรอบเจดีย์อยู่หลายแห่ง   สะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในบริเวณนี้เมื่อกว่า 1200 ปีที่แล้ว

(เจดีย์กลวงภายในเมืองเกาชาง ที่เชื่อกันว่า พระถังซัมจั๋ง เคยจำพรรษาที่นี่)

ไม่ไกลจากเมืองเกาชางเท่าไหร่นัก   ปรากฏเทือกเขารูปร่างแปลกทอดตัวยาวหลายกิโลเมตร  ภาษาจีนเรียกว่า  ฝ่อเยี่ยนซาน  แปลเป็นไทยว่า  ภูเขาเปลวเพลิง

(ฉากหลังของรูปปั้นตัวละคร “ไซอิ๋ว” ก็คือ ภูเขาเฟลวไฟ)

ผมเคยมาชมภูเขาที่ว่านี้ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนมาก  รู้สึกได้เลยว่า   อากาศบริเวณใกล้ๆภูเขาเปลวไฟมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณที่ไกลออกไปมาก   ในนิยาย “ไซอิ๋ว” จึงมีบทหนึ่งที่กล่าวว่า

พระถังซัมจั๋ม เดินทางมาถึงภูเขาเปลวไฟ พร้อมด้วยเห้งเจีย  และ สานุศิษย์คนอื่นๆ    เปลวไฟร้อนมากจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้   ต้องให้เห้งเจียไปขอยืมพัดจากปีศาจมาพัดให้ไฟดับลง

(เห้งเจีย นำหน้าพระถังซัมจั๋ง  สร้างขึ้นให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก)

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง “ไซอิ๋ว” ก็ตาม   คนๆนั้นจะต้องเป็นคนที่มีจินตนาการที่กว้างไกลมาก  ที่สามารถผสมผสานจิตนาการ เข้ากับเรื่องจริง และสถานที่จริง   เพื่อให้เด็กๆได้อ่านสนุก

(สองวัฒนธรรมมาเจอกัน   ชาวมุสลิมอุยกูร์ ชนพื้นเมืองของทูรูฟาน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับ กับตัวละคร “ไซอิ๋ว” )

มีคำกล่าวว่า   เด็กคนไหนอ่าน “สามก๊ก” ครบสามจบ  คบไม่ได้  เพราะจะเป็นเด็กแก่แดด    แต่ก็มีคำกล่าวอีกเช่นกันว่า   ผู้ใหญ่คนไหนอ่าน “ไซอิ๋ว”  สามจบ   ก็คบไม่ได้เช่นกัน

เพราะ จะฝันเฟื่องแบบเด็กไปเลย

ท่านผู้อ่าน   อ่านไปกี่จบแล้วครับ

(ภาพโดย  ศุภสิน  คลองน้อย)


ซอกซอนตะลอนไป 4   (16 สิงหาคม 2556)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *