ภูฐาน – ประชาธิปไตยภูฐาน ก็วุ่นเหมือนกัน แต่ไม่ยุบโรงเรียน

ซอกซอนตะลอนไป   (30 สิงหาคม 2556)

ภูฐาน – ประชาธิปไตยภูฐาน ก็วุ่นเหมือนกัน  แต่ไม่ยุบโรงเรียน

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               ภูฐาน ประเทศเล็กๆในแผนที่ซึ่งมีเนื้อที่เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย  กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปีพ.ศ. 2549  เมื่อเจ้าชายจิกมี่ เกย์เซอร์ นามเกย์ วังชุก รัชทายาทของภูฐาน เสด็จมาเป็นพระราชอาคันตุกะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

               ขณะนั้น  ประเทศภูฐานปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช   แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ประเทศภูฐานได้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และจัดให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน

               มีสองพรรคการเมืองแข่งขันกับชิงตำแหน่ง 47 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือพรรคประชาธิปไตยของประชาชน (PEOPLE’S DEMOCRATIC PARTY) ที่นำโดย นายซังเงย์ เงดุบ (SANGAY NGEDUP)  กับพรรคดรุก เพ็นซุม โชคปา (DRUK PHUENSUM TSHOGPA) ที่แปลว่า ภูฐานประนีประนอม  ที่มีนายจิกมี่ ทินเลย์ (JIGMI THINLEY) เป็นผู้นำ


(กีฬายิงธนู กีฬาประจำชาติของภูฐานที่ไปคว้าเหรียญจากกีฬาโอลิมปิคมาแล้ว)

               ครั้งนั้น  นายจิกมี่ ทินเลย์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 45 ที่นั่งจากทั้งหมด 47 ที่นั่ง และ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

               เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของภูฐานมีพรมแดนติดกับอินเดีย ถึง 3 ด้าน   เว้นแต่ด้านเหนือที่มีพรมแดนติดกับจีน   ดังนั้น  ในอดีตที่ผ่านมา  ภูฐานจึงมีความใกล้ชิดกับอินเดียอย่างมากในทุกด้าน

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ทางด้านเศรษฐกิจ ที่ภูฐานแทบจะต้องพึ่งพาอินเดียเกือบทั้งหมด 

               การก่อสร้างใหญ่ๆของภูฐาน  เช่น  การทำถนนหนทางที่ลดเลี้ยวไปตามไหล่เขา  ต้องพึ่งพาบริษัทของอินเดียล้วนๆ  น้ำมันเชื้อเพลิง   อาหารการกิน  และแม้แต่การเจ็บป่วยของคนที่พอมีสตังค์ก็จะบินไปรักษาตัวในอินเดีย


(ตลาดในเมืองพาโร  ยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั่งเดิมของตนเองเอาไว้)

               แต่พักหลัง   คนภูฐานเริ่มจะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะมีโฆษณาของโรงพยาบาลไทยไปปรากฎในโทรทัศน์ และ ป้ายโฆษณาตามท้องถนนมากขึ้น และการเดินทางมาประเทศไทยสะดวกขึ้น

               คนภูฐานบอกว่า   โรงพยาบาลของไทยมีมาตรฐานดีกว่าของอินเดียมากทีเดียว

               ด้วยความที่ผูกขาดกับอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน   นายกจิกมี่ ทินเลย์ จึงมีมุมมองว่า  การประมูลงานก่อสร้างต่างๆ  ภูฐานน่าจะเปิดกว้างให้แก่ประเทศอื่นๆมากขึ้น   ซึ่งหมายถึง จีน เป็นหลัก

               ภูฐาน ในสมัยของนายกจิกมี่  พยายามที่จะเปิดสัมพันธภาพกับประเทศต่างๆให้มากขึ้น แทนที่จะผูกขาดอยู่กับอินเดียเพียงประเทศเดียว  

               สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่ออินเดีย   จนอินเดียต้องพยายามสร้างแรงกดดันต่อภูฐานว่า  หากภูฐานจะคบหากับใครอื่น  จะต้องได้รับอนุญาต จากอินเดียเสียก่อน

               จนเมื่อรัฐบาลดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี และมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา   คู่แข่งคู่เดิมก็มาประชันกันอีกครั้ง   แต่คราวนี้  สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม

               ในช่วงก่อนหน้าเลือกตั้งไม่นาน   อินเดียเริ่มเข้าแทรกแซง  ด้วยการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อินเดียเคยขายให้ภูฐานในราคาถูกกว่าปกติจนแพงขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด  พร้อมกับมีกระแสข่าวลือออกมาว่า   หากประชาชนเลือกนายจิกมี ทินเลย์ มาเป็นนายกอีก   ประชาชนก็จะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น

               ในที่สุด พรรคดรุก เพ็นชุม โชคปา ซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาเป็น นายชริง ทอบเกย์ (TSHERING TOBJAY)  ก็ชนะเลือกตั้งได้ส.ส. เข้ามา 32 คนจากทั้งหมด 47 คน โดยมีผู้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น    


(แผงขายของริมถนน ขายชีส ที่ทำจากน้ำนมจามรี ที่ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเล็กๆผูกกันเป็นพวง)

               ขณะนี้  เกิดความไม่สบายใจของประชาชนบางส่วนเริ่มที่มีต่อรัฐบาล   เพราะมองว่า  นายกคนใหม่จะเอาใจฝักใฝ่อินเดียมากขึ้น    แต่เรื่องนี้ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป

               ภูฐาน อาจจะไม่ค่อยเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วก็ได้  เมื่อประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน  


(สภาพภูมิประเทศที่ยากลำบากในการเดินทางของนักเรียนที่จะมาโรงเรียน)

               แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิม  และ  ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ  ระบบการศึกษาที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แบบเรียนฟรี   แม้กระทั่งนักเรียนประจำก็ตาม


(เด็กนักเรียนในชุดประจำชาติภูฐาน ระหว่างทางที่เดินกลับบ้าน)

               ภาพที่เห็นที่สร้างความประทับใจก็คือ   นักเรียนที่แต่งกายชุดประจำชาติเดินไปกลับโรงเรียน  ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า   แต่ละคนจะต้องเดินเท้ามาโรงเรียนเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 1 กิโลเมตรขึ้นไป


(โรงเรียนสอนช่างฝีมือศิลปะประจำชาติ ซึ่งได้รับความคิดจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพของไทย)

               เนื่องจากหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ตามไหล่เขาในที่ที่ห่างไกลโรงเรียน   บางโรงเรียนจึงต้องเข้าไปตั้งในจุดที่นักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลมาก   ทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีนักเรียนจำนวนไม่มากนัก


(นักเรียนช่าง แบบเดียวกับวิทยาลัยเพาะช่างของเรา)

               บางแห่งมีนักเรียนเพียงแค่ 5-6 คนเท่านั้น

               แต่ที่น่าดีใจแทนเด็กนักเรียนชาวภูฐานก็คือ   รัฐบาลภูฐานเขาไม่คิดที่จะยุบเลิกโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยๆเหล่านี้   แล้วซื้อรถตู้มาคอยรับส่งนักเรียนแบบที่รัฐบาลบางประเทศคิดจะทำกัน

               เพราะ ภูฐาน เขาวัดความเจริญเติบโตของประเทศ  ด้วยความสุขมวลรวมของประชาชนครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *