ศักดิ์ศรีของประเทศ และ กระทรวงต่างประเทศ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป         (22 สิงหาคม  2557)

ศักดิ์ศรีของประเทศ และ กระทรวงต่างประเทศ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แรกทีเดียว   วางแผนว่าจะเขียนเรื่อง อียิปต์ และ การฆ่าตัวตายของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7   แต่มีเหตุต้องเอาเรื่องนี้มาเขียนเสียก่อน   เพราะอดรนทนไม่ไหวจริงๆ

               ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ไปประเทศอินเดียนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา  คงจะไม่ทราบว่า   สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย   ได้เปลี่ยนระเบียบการขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดียเสียใหม่   ทำให้ผู้ขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย จะต้องไปที่สถานทูตอินเดียเพื่อสแกนลายนิ้วมือทุกคน  และ ทุกครั้งที่ขอวีซ่า

               เรียกว่า   อินเดียเอามาตรฐานการขอวีซ่า ของประเทศสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ และ สหภาพยุโรปมาใช้กับคนไทยเลยทีเดียว


(เจดีย์พุทธคยา) 

               จะว่าไป   การออกระเบียบ หรือเปลี่ยนระเบียบในการขอวีซ่า  เป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดของทุกประเทศ   หรือแม้แต่จะห้ามคนใดคนหนึ่งเข้าประเทศของเขาก็ได้  

               แต่ที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ศักดิ์ศรีของประเทศไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ    

               ในช่วงหลายปีหลังนี้  ประเทศอินเดียเข้มงวดกับการขอวีซ่าของคนไทยมากขึ้นทุกวัน  จากแรกเริ่มเดิมทีที่การขอวีซ่าของคนไทยค่อนข้างจะง่ายมาก   ต่อมา  ก็ออกกฎให้คนไทยที่อยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ต้องไปแสดงตัวที่สถานทูต   


(สถูปที่สารนาถ)

               และในขณะนี้   ระเบียบใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  ผู้ยื่นขอวีซ่าเข้าอินเดียทุกคนต้องไปสแกนลายนิ้วมือที่สถานทูต 

               เมื่อมาดูในส่วนของชาวอินเดียที่จะยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยก็พบว่า  ขณะนี้    สิ่งที่ชาวอินเดียต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่าก็คือ   พาสปอร์ตที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนจนถึงวันเดินทางกลับ , ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ  ,  ค่าธรรมเนียน   ,  รูปถ่าย 

และ ใบเสร็จที่ออกโดยธนาคาร แสดงการแลกเงินจากเงินรูปีอินเดีย มาเป็นเงินยูเอส ดอลลาร์ เป็นจำนวน 500 ดอลล่าร์ 


(สถูปที่กุสินารา)

               ที่ต้องมีใบเสร็จที่แสดงการแลกเงินตราต่างประเทศจากธนาคารก็เพราะ   เพื่อเป็นการยืนยันว่า   บุคคลที่มีชื่อตามพาสปอร์ต ได้ทำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้จ่ายในต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว 

ส่วนเงินที่แลกไปจำนวน 500 เหรียญดอลล่าร์  จะถูกนำไปใช้จริงในต่างประเทศหรือไม่   ไม่มีใครยืนยันได้    


(ริมแม่น้ำคงคาที่ท่าน้ำเมืองพาราณาสี)

               แต่การขอวีซ่าอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่า  สะดวกกว่า  ใช้เวลาน้อยกว่า  ก็คือ    การทำวีซ่าที่จุดหมายปลายทาง  ที่เรียกว่า VISA ON ARRIVAL 

               ชาวอินเดียได้รับสิทธิจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการยื่นขอวีซ่าแบบ VISA ON ARRIVAL  โดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินเพียง 1,000 บาท  และไม่ต้องแสดงเอกสารอะไรเลย 


(สาวอินเดียอาบน้ำทั้งชุดส่าหรี)

               ทุกวันจะมีคนอินเดียยืนเข้าคิวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอทำวีซ่ากันแน่นสนามบิน  ประมาณว่า  ในเครื่องบินแต่ละลำจะมีผู้โดยสารชาวอินเดียไม่ต่ำกว่า 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ยื่นขอวีซ่าแบบ VISA ON ARRIVAL 

เพราะสะดวกกว่าในการยื่นขอซ่าที่อินเดีย  แม้จะต้องรอคิวที่สนามบินค่อนข้างนานก็ตาม 


(สาธุ หรือ ฤษี) 

               ก็ไม่รู้ว่า   เราจะเปิดสถานกงสุลในอินเดียให้สิ้นเปลืองทำไม 

               จากคำบอกเล่าของคนอินเดีย   เมื่อมาถึงสนามบินแล้ว  หากต้องการความรวดเร็ว  ก็เดินไปที่ช่องตรวจที่ไม่มีเจ้าหน้าที่   ถือพาสปอร์ตไว้สักครู่จะมีเจ้าหน้าที่มาหา   เอาพาสปอร์ตสอดเงิน 200 บาทยื่นเข้าไป  ไม่เกิน 10 นาทีก็เรียบร้อย


(เดี๋ยวนี้ในอินเดียมีร้านขายเหล้าให้คนท้องถิ่นแล้ว)

               เรื่องนี้  ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคงต้องไปว่ากันเองนะครับ     

               สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ   ตอนที่ประเทศอินเดียจะออกกฎการสแกนลายนิ้วมือนั้น   กระทรวงการต่างประเทศไม่ทราบเรื่องเลยหรือ   หรือทราบเรื่องแล้วได้ทำโต้แย้งอะไรไปบ้าง

               โดยปกติ   การให้วีซ่าแก่ประชาชนของแต่ละประเทศ   มักจะขึ้นอยู่บนหลักการ “ต่างตอบแทน”   หมายความว่า   หากคนของเขาเดินทางมาประเทศไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า   คนของเราก็จะได้สิทธิ์ในการเดินทางไปประเทศของเขาก็ไม่ต้องของวีซ่าเช่นกัน  

               ยกเว้นว่า   เขาจะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าเรามากๆ   ถืออำนาจการต่อรองเหนือกว่าเรา   หรือ พูดง่ายๆก็คือ   เขาไม่ให้น้ำหนัก  หรือ ไม่แยแสต่อประเทศเราเลย   


(ร้านขายถั่วริมถนน)

               ยกตัวอย่างในอดีต  เยอรมันเคยยกเว้นการทำวีซ่าของคนไทยที่จะเข้าประเทศ   และเราก็ยกเว้นวีซ่าให้แก่คนเยอรมันด้วย   ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่นๆล้วนต้องกำหนดให้คนไทยทำวีซ่าทั้งสิ้น

               แต่สุดท้าย   เมื่อคนไทย  เข้าประเทศเขาแล้วแอบหนีไปทำงาน   ทั้งที่เป็นงานผิดกฎหมาย  เช่น การค่าประเวณี จนถึง  การทำงานรับจ้างธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ      

เขาก็ยกเลิกระเบียบดังกล่าวเสีย  โดยที่คนเยอรมันที่จะเดินทางมาประเทศไทย   ก็ยังคงไม่ต้องขอวีซ่าเหมือนเดิม    เพราะเขาถือว่า  เขาเหนือกว่าเรา   

               แต่ถามว่า   ระหว่างไทยกับอินเดียนั้น   เราต้องงอนง้อขอให้นักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวประเทศอย่างมากหรืออย่างไร  จนต้องให้สิทธิพิเศษมากมายจนถึงกับสามารถมาทำวีซ่าที่ปลายทางได้ 

               ผมไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย    แต่ก็คิดว่า   อินเดียไม่น่าจะเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากมาย หรือ  นักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายเงินต่อหัวในประเทศเรามากมายจนเราต้องให้น้ำหนักมากขนาดนั้น

               ตอนหน้าครับ   ผมจะเปรียบเทียบระเบียบการในการทำวีซ่าของทั้งสองประเทศ  และ ศักดิ์ศรีของประเทศเรา  และ กระทรวงการต่างประเทศ    สวัสดีครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *