ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป    (15 สิงหาคม  2557)

ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมพักอยู่ในหมู่บ้านที่อาปา และ อาแม ของผมเคยใช้ชีวิตในตอนวัยเด็กนาน 2 คืน  ช่างเป็นชีวิตที่สงบเงียบ เหมือนตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมด  ไม่มีเสียงใดๆที่ไม่ใช่เสียงธรรมชาติให้ได้ยินเลย  

               ตอนเช้ามืด  ไก่บ้านที่เลี้ยงไว้ จะทำหน้าที่ของมันในการปลุกคนในหมู่บ้าน   ยกเว้นแต่ตอนที่เราไปพัก  เพราะมีเหลนตัวน้อยๆอายุ 3 เดือน ชื่อ ยิ่วๆ มาแย่งทำหน้าที่ของไก่   เจ้าหนูจะร้องก่อนไก่ขันเพราะหิวนม 

               ปกติ  ยิ่วๆจะอาศัยอยู่ในเมืองกวางโจวกับพ่อแม่   แต่เนื่องจากพ่อของยิ่วๆซึ่งเป็นหลานของผมมาช่วยขับรถให้   หนูน้อยจึงต้องติดตามมาด้วย   ทำให้ท้องทุ่งท้องนามีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นอีกโข


(ยิ่วๆ ผู้ทำหน้าที่ปลุกทุกคนก่อนไก่จะขัน)

               อาหารการกินที่ลูกพี่ลูกน้องของผมพยายามดูแลอย่างเต็มที่ก็คือ  อาหารพื้นบ้านที่หาง่ายๆตามริมรั้ว  ซึ่งผมคุ้นลิ้นมาตั้งแต่เด็ก  และอาหารที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน   เช่น  ผัดเต้าหู้กับต้นหอม    

เต้าหู้ที่ว่านี้เป็นเต้าหู้แข็ง  ที่ต้องเอามาตากแดดทุกวัน  จากนั้นต้องเอาไปต้มน้ำเกลือทุกเช้าแล้วเอามาตากแดดซ้ำ  เพื่อเก็บไว้ได้นานขึ้น  ราคาก้อนละ 1 หยวน  อร่อยทีเดียว


(ร้านขายเต้าหู้แข็ง  ก้อนละ 1 หยวน ประมาณ 5 บาท)

แต่เดิม  ร้านขายเต้าหู้จะขายเฉพาะเฉาก๊วยที่อร่อยมาก  ทั้งเหนียวและนุ่ม ราคากาละมังละ 6 หยวน

เฉาก๊วย มีชื่อเรียกตามภาษาจีนแคะว่า  “เซียน หยิ่น ปั้น”  หรือ เป็นภาษาจีนกลางว่า  “เซียน เหยิน ปั้น”   แปลว่า  ขนมของเทวดา    


(เฉาก๊วย ที่อร่อยที่สุดที่หมู่บ้านชาปี)

               สาเหตุที่เรียก “ขนมของเทวดา” อาจเป็นเพราะว่า  เฉาก๊วย เกิดจากการเอาพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งมาต้มน้ำธรรมดา  โดยไม่ต้องใส่อะไรเพิ่มเติมลงไป     เมื่อน้ำที่ต้มเย็นลง   ก็จะกลายเป็นวุ้นเหนียวๆสีดำอย่างอย่างที่เราทานกัน 

               เหมือนเล่นมายากล    

อาหารที่คุ้นเคยสำหรับชาวจีนแคะอีกอย่างหนึ่งก็คือ  หมูสามชั้นอบผักเค็มตากแห้ง  ที่ชาวจีนแคะจะเรียกว่า  “มุนหั่มช้อย” ที่แปลว่า “นึ่งผักเค็มตากแห้ง”  หรือที่มักจะเรียกเป็นภาษากวางตุ้งว่า  “หม่อยฉ้อยเข่าหยก” ซึ่งรสชาติของ “หม่อยฉ้อยเขาหยก” จะมีรสเค็มนำ 

สำหรับท่านที่สนใจในวิธีทำ  ผมมีลิงค์มาให้ชมพอเป็นไอเดีย     http://www.youtube.com/watch?v=8W3cUuwrmH0 

ลองคลิ๊กเข้าไปดูนะครับ

แต่ผมมีโอกาสได้ชิมหมูสามชั้นที่ปรุงอีกแบบหนึ่ง  เป็นรสชาติหวาน  ซึ่งก็อร่อยไปอีกแบบ 


(หมูสามชั้นแบบหวาน  หาทานได้ไม่ง่ายนักในประเทศไทย)

               อาหารพิเศษคราวนี้ซึ่งผมแทบจะลืมไปแล้ว   เพราะหาทานได้ยากมากในประเทศไทย  ก็คือ  แหน้แหย่น


(แหน้แหย่น  ซึ่งวิธีทำก็เหมือนกับ  วู๊แหย่น หรือ หล่อแพ็ดแหย่น)

“แหน้” เป็นผักล้มลุกชนิดหนึ่ง รสชาติจะเฝื่อนมากสำหรับคนที่ไม่เคยทาน  เอามาปั้นเป็นก้อนกับแป้ง  เหมือนการทำลูกชิ้นเผือกเส้น หรือ  ลูกชิ้นไช้เท้าเส้น


(ต้นแหน้ ซึ่งเป็นพื้นล้มลุก)

แหน้ เป็นอาหารของคนจีนแคะโดยเฉพาะ  สำหรับสุภาพสตรีที่เพิ่งคลอดลูก   เขาจะเอาแหน้ทอดไข่เจียวเหมือนชะอมทอดไข่ของบ้านเรา   หั่นเป็นชิ้นเล็กแล้วเอาไปตุ๋นกับเหล้าที่ทำขึ้นเอง 

เหล้าที่ทำขึ้นเพื่อคนคลอดลูกโดยเฉพาะนี้  ทำจากข้าวเหนียวนึ่งใส่ยีส  แล้วหมักจนกลายเป็นเหล้า  ว่ากันว่า   หากสุภาพสตรีได้ทานไข่เจียวแหน้ตุ๋นเหล้าหลังคลอดแล้ว   จะมีน้ำนมให้ลูกได้มากทีเดียว 

ข้าวเหนียวที่นำไปทำเหล้านั้น  ก่อนจะเอาไปคั้นเป็นเหล้าจะเรียกว่า  “เจา”  สามารถแยกนำไปทำอาหารได้มากมายหลายชนิด  เช่น  เอาไปผัดกับหมู หรือ ไก่  หรือ ใส่แกงจืด ก็ได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ 


(“เจา” ซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่กำลังหมักตัวเป็นเหล้าแล้ว  ก่อนที่จะเอาไปคั้นแยกเหล้าออกมา) 

มาเหมยเสี่ยนคราวนี้  ได้ชิมชาที่อยากชิมมานาน ที่หาไม่ได้เลยในประเทศไทย    เรียกว่า “ปู๊เกียงฉ่า”   

อันที่จริง “ปู๊เกียงฉ่า” ไม่ใช่ชาในความหมายที่เราเข้าใจกัน   เพราะชาที่เราเข้าใจกันนั้น  ทำจากใบชา    แต่ “ปู๊เกียงฉ่า”  เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง  ที่ให้ผมเป็นเม็ดเล็กๆประมาณเม็ดพริกไทย   เอามาตากแห้งแล้วชงดื่มเป็นน้ำชาได้    

จำได้ว่า   ผมเคยดื่มตั้งแต่เด็ก  รสชาติฝาดนิดๆ แต่เมื่อดื่มน้ำเย็นตามลงไป   จะชุ่มคอและหวานคอดี

นอกจากนี้   เมล็ดปู๊เกียงฉ่า  ยังสามารถเอามาทำเป็นหมอนหนุนศรีษะ   เพื่อทำให้ศรีษะเย็นได้อีกด้วย   


(ปู๊เกียงฉ่า  ชาที่ไม่ใช่ชา) 

แค่เวลา 3 วัน ที่ได้มีโอกาสกลับมาพักที่หมู่บ้านที่ อาปา อาแม ของผมเคยอาศัยอยู่ในวัยเด็ก   ได้ไปกราบไหว้สุสานของอากุง อาผ่อ หรือ คุณปู่คุณย่า ซึ่งผมไม่เคยรู้จัก  ไม่เคยพบเห็นตัวจริง

แม้เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้   แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่จะมากราบไหว้สุสานของท่าน  มาดูสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูล  แค่นี้ก็ทำให้เราเต็มตื้นในหัวใจที่รู้ว่า   เรามีที่มาอย่างไร

เลือดในตัวของผมทุกหยด  สืบสายเลือดมาจากอากุงอาผ่อ ผ่านทางอาปา อาแม ของผม  

และมันจะสืบทอดไปยังลูกๆของผมต่อไป   เป็นการย้ำเตือนว่า   เราคือคนจีนแคะ   บ้านเดิมของบรรพบุรุษของเรานั้นมาจาก  “หม่อยแย๊น  หน่ำแค่ว  ชาปี  ส้องหน่ำซัน”

ผมไม่เคยลืม      

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *