อีสฟาฮาน – เมืองโรแมนติค และโรงแรมหรูของอิหร่าน

ซอกซอนตะลอนไป    (6 ธันวาคม 2556)

อีสฟาฮาน – เมืองโรแมนติค และโรงแรมหรูของอิหร่าน

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขณะพักอยู่ในโรงแรมอับบาสซี่(ABBASSI HOTEL) ซึ่งเป็นโรงแรมห้าดาว ในเมืองอีสฟาฮาน(ISFAHAN) ของประเทศอิหร่าน

               ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่ดีมากของอีสฟาฮาน  และของประเทศอิหร่าน  เพราะเป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็น   บางเมืองอากาศเย็นสบายดี  แต่บางเมืองอาจต้องเอาแจ๊กเก็ตมาใส่ทีเดียว 


(ในห้องโถงของโรงแรม) 

               แต่ไม่ว่าจะมีสภาพอากาศอย่างไร  ผมก็ไม่เคยผิดหวังทุกครั้งที่มาเยือนอีสฟาฮาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อได้พักที่โรงแรมอับบาสซี   โรงแรมเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ก่อนหน้าการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบชาห์  มาสู่รัฐอิสลาม


(เคาท์เตอร์รีเซฟชั่นของโรงแรม)

               ในสมัยโบราณตั้งแต่กว่า 2 พันปีที่แล้ว   เส้นทางการค้าขายที่สำคัญของโลกก็คือ  เส้นทางสายไหม  ที่เชื่อมโยงโลกตะวันออกจาก เมืองซีอานของประเทศจีน  กับ  กรุงโรมของตะวันตก


(ลวดลายประดับประดาที่สวยงาม) 

               โดยที่จีนนำเอา ผ้าไหม ซึ่งเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยในยุคนั้นไปขายในยุโรป  และนำเอาสินค้าของยุโรปบางอย่างที่ไม่มีในจีนกลับมา

               กองคาราวานที่นำสินค้าเดินทางไปยุโรปนั้น จะใช้อูฐเป็นหลัก   ในแต่ละวัน  กองคาราวานจะสามารถเดินทางได้ประมาณ 25-30 กิโลเมตรเท่านั้น  ตะวันตกดินที่ไหนก็ต้องพักที่นั่น


(เจ้าหน้าที่ต้อนรับที่ประตูทางเข้าของโรงแรมในชุดเครื่องแต่งกายย้อนยุค)

               หากไม่มีที่พักที่เหมาะสม  ก็ต้องนอนกลางทะเลทราย  เสี่ยงต่อการถูกโจรสลัดปล้นเอาอย่างยิ่ง 

               ด้วยเหตุนี้  เจ้าผู้ครองนคร หรือ เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆที่เล็งเห็นว่า  เศรษฐกิจของตนจะเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะการค้ามีความเจริญรุ่งเรือง จึงสร้างที่พักให้แก่กองคาราวาน  เพื่อเป็นการสนับสนุนการค้าขาย

               ที่พักนี้เรียกว่า  คาราวานซาราย(CARAVANSARAY) ซึ่งก็คือแนวคิดเริ่มต้นของโรงแรมในยุคปัจจุบันนี้   

               รูปแบบของคาราวานซารายก็คือ  ป้อมการที่มีกำแพงสูงล้อมรอบพื้นที่ว่างกลางแจ้งตรงกลาง  มีห้องหับต่างๆติดกับผนังกำแพงด้านใด   เพื่อให้นักเดินทางสามารถใช้หลบร่มเงาพักแรมได้


(คนท้องถิ่นชอบมานั่งดื่มน้ำชาสังสรรค์กันในบรรยากาศภายในสวนที่เย็นสบาย)

               เมื่อกองคาราวานมีความปลอดภัย   การค้าขายก็เจริญรุ่งเรือง  ประชาชนก็มีรายได้ดีตามไปด้วย


(ภาพที่มองจากห้องโถงของโรงแรมไปยังสวนในลานกลางแจ้งของโรงแรม)

               ในสมัยของกษัตริย์ ชาห์ อับบาส ที่ 1(ABBAS I OF IRAN)  ซึ่งดำรงตำแหน่งชาห์แห่งราชวงศ์ซาฟาวิด ของ อิหร่าน(SAFAVID SHAH OF IRAN) ระหว่างปีค.ศ. 1588 ถึง 1629   พระองค์เล็งเห็นความสำคัญของการค้าขายของกองคาราวาน  จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สร้างคาราวานซารายไว้ตามรายทางมากมายหลายแห่งด้วยกัน 


(น้ำพุสลับสีที่สวยงาม)

               รวมทั้ง  พระองค์ยังได้เริ่มสร้างเมือง อีสฟาฮานขึ้นมาด้วย   เป็นเมืองที่สวยงามด้วยพระราชวัง และ  ร่มรื่นด้วยสวนสวย ที่ยังคงความสวยงามร่มรื่นมาจนวันนี้

               กลับมาพูดถึงจุดที่ตั้งของโรงแรมอับบาสซี่  ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 300 ปีเศษ  สุลต่าน ฮูเซย์น แห่ง ราชวงศ์ซาฟาวิด(SULTAN HUSAYN OF SAFAVID)  ได้สร้าง คาราวานซาราย ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่พักของกองคาราวาน และ นักเดินทางที่ผ่านไปมา


(อีกมุมหนึ่งพร้อมที่นั่งสบายๆ)

               รูปแบบของคาราวานซาราย ก็เป็นแบบที่ผมได้พูดข้างต้นนั่นแหละ  

               แต่หลังจากเส้นทางการค้าโดยกองคาราวานหมดความสำคัญไป  คาราวานซาราย แห่งนี้ก็ถูกปล่อยปละละเลยจนกระทั่ง ชาวฝรั่งเศสชื่อ  แอนเดรย์ โกดาร์ด(ANDRE GODARD)  ได้เข้ามาทำการบูรณะฟื้นฟู   และ สร้างขึ้นมาใหม่ให้เป็นโรงแรมระดัง 5 ดาวในสมัยของราชวงศ์ปาห์ลาวี(PAHLAVI DYNASTY) ในช่วงปี ค.ศ. 1950   


(ภายในห้องอาหารเช้า  บนชั้นสอง)

               แรกทีเดียว   โรงแรมนี้มีชื่อว่า  โรงแรม ชาห์ อับบาส(SHAH ABBAS) ตามชื่อของ พระเจ้าชาห์ อับบาส ที่ 1 ผู้ริเริ่มสร้าง คาราวานซายเพื่ออำนวยความปลอดภัยให้แก่พ่อค้ากองคาราวาน   ต่อมาภายหลัง   เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า  โรงแรมอับบาสซี

               และยังคงความเป็นโรงแรม 5 ดาวจนถึงวันนี้

               ผมพาลูกทัวร์ของ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ไปพักที่โรงแรม อับบาสซี ทุกครั้งที่ไปอิหร่าน   รู้สึกประทับใจในความสวยงามของสถาปัตยกรรม  และ ความอลังการ์ของการตกแต่งประดับประดาของโรงแรมเสมอ   จึงอดไม่ได้ที่จะเอารูปมาให้ทุกท่านได้ชมกัน

               สวยงามแค่ไหน  ก็ลองดูเอานะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *