ตุตันคาเมน – การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ และคำสาปฟาโรห์

ซอกซอนตะลอนไป    (29 พฤศจิกายน 2556)

ตุตันคาเมน – การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่  และคำสาปฟาโรห์

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               อันที่จริง   ตุตันคาเมน เป็นฟาโรห์ที่ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับ ฟาโรห์พระองค์อื่นๆที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน   ไม่ว่าจะเป็น  พระนางฮัทเชปซุส(HATSHEPSUT)  ,  ฟาโรห์ทุสโมเซส ที่ 3(THUTMOSE III)  หรือ  ฟาโรห์รามเซส ที่ 2(RAMSES II)

               ทั้งนี้เพราะพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์ตั้งแต่อายุยังน้อยมาก  คือประมาณ 9 ขวบ  และสิ้นพระชนม์ขณะอายุเพียง 18 หรือ 19 ปีเท่านั้น

               เรียกได้ว่า   ยังไม่ทันทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันฝากไว้ในประวัติศาสตร์  ก็มาสวรรคตเสียก่อน

(ลอร์ด คาร์นาวอน ผู้เป็นนายทุนในการขุดค้นในครั้งนี้)

               หากไม่มีการค้นพบหลุมฝังศพของพระองค์แบบที่เรียกได้ว่า   ไม่เคยมีใครบุกรุกเข้าไปก่อนเลย  ชื่อของ ตุตันคาเมน ก็คงจะไม่มีใครพูดถึง  และ แทบจะไม่มีใครรู้จัก

               ซึ่งทำให้การค้นพบหลุมฝังศพตุตันคาเมน เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก 

               เพราะหลุมฝังศพของตุตันคาเมน  ยังไม่เคยถูกพวกโจรปล้นหลุมฝังศพเข้าไปปล้นสมบัติมาก่อนเลย  ดังนั้น  ทรัพย์สมบัติต่างๆที่ถูกเก็บไว้ในห้องทั้งหมดจึงยังอยู่ครบถ้วนแทบทุกชิ้น 

(โถใส่อวัยวะภายในของฟาโรห์ตุตันคาเมน 4 อย่าง คือ กระเพาะ ลำไส้ ตับ และ ปอด)

               จำนวนสมบัติที่ค้นพบในหลุมดังกล่าวมีมากกว่า 7,000 ชิ้นขึ้นไป   ที่โดดเด่นมากที่สุดก็เห็นจะเป็นบรรดาเครื่องทอง และ อัญมณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสร้อย  แหวน  กำไล  ปลอกสวมนิ้วเท้า  ทั้งหมดทำด้วยทองคำแท้ 

               และโลงพระศพชั้นสุดท้ายที่ทำด้วยทองคำแท้หนัก 110 กิโลกรัม   และ หน้ากากทองคำที่สวมใส่มัมมี่ของตุตันคาเมน

               ยังไม่นับรวมบัลลังก์ที่สวยงาม ที่ทำด้วยไม้หุ้มด้วยทองคำ และประดับอัญมณีหลากหลาย

               ทั้งหมดนี้ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์สถานแห่งชาติอียิปต์  กรุงไคโร  น่าเสียดายว่า  สถานการณ์ภายในประเทศอียิปต์ ไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศ  จนไม่น่าเสี่ยงที่จะเดินทางไปเที่ยว


(บัลลังก์ไม้หุ้มทองสวยงาม แท่นวางเท้าเป็นรูปข้าศึกศัตรูของอียิปต์)

               ก็ขอนำท่านผู้อ่านมาเที่ยวทางตัวหนังสือแล้วกัน 

               การค้นพบสุสานของตุตันคาเมน  ทำให้โลกในยุคปัจจุบันสามารถไขข้อข้องใจบางส่วนเกี่ยวกับสาเหตุการตายของพระองค์   เพราะผลจากการ “ซีทีสแกน” กะโหลกของมัมมี่ตุตันคาเมน ทำให้เห็นเนื้อกะโหลกชิ้นเล็กๆแตกออกมาจนสามารถมองเห็นได้ชัด   

               สันนิษฐานว่า   การแตกของกะโหลกส่วนหลังนั้น  เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน  หากไม่เพราะล้มหัวฟาดพื้นอย่างแรง   ก็อาจจะเป็นเพราะถูกทำร้ายด้วยของแข็งอย่างแรงจากด้านหลัง 


(ภาพจากการสแกนกะโหลกศรีษะของ ตุตันคาเมน  จะเห็นกระดูกที่แตกออกมา ตรงลูกศรชี้ที่  A)

               นอกจากนี้   ผลของการสแกนกะโหลกศรีษะยังบอกด้วยว่า  หลังจากที่เกิดกะโหลกศรีษะแตกแล้ว    ฟาโรห์ตุตันคาเมน ยังมีชีวิตอยู่อย่างทรมาน หรือ ไม่รู้สึกตัวอีกนานพอสมควรทีเดียว

               หากเป็นการฆาตรกรรม    ใครเป็นผู้ต้องสงสัยในการตายของตุตันคาเมนครั้งนี้  

               ว่ากันว่า   คนที่อยู่ในข่ายของผู้ที่จะมีโอกาสสังหารตุตันคาเมน ก็คือ  อาย(AY)  ซึ่งได้ขึ้นครองราชเป็นฟาโรห์ต่อจากตุตันคาเมน   หรือ  มเหสีของพระองค์เอง   หรือ  พลขับรถม้าของพระองค์

               อีกเรื่องที่เป็นที่กล่าวขานกันมากก็คือ   คำสาปของฟาโรห์ตุตันคาเมน ว่ามีความเหี้ยนมาก   เพราะเกิดการตายของบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับการเปิดสุสานของตุตันคาเมนหลายต่อหลายคนในเวลาต่อมาไม่นาน

               เริ่มจากบุคคลที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ก็คือ ท่านลอร์ด คาร์นาวอน  ผู้อุปถัมภ์โครงการ

               เขาเดินทางออกจากเมืองลักซอร์ สถานที่ตั้งของสุสานของตุตันคาเมน  หลังจากที่มาชมการเปิดประตูของสุสาน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922  เพื่อเดินทางไปยังเมืองอัสวานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1923   

ระหว่างที่พำนักอยู่ในเมืองอัสวาน  ลอร์ด คาร์นาวอน ถูกยุงกัดเป็นเม็ดตุ่มแดง

               โชคร้าย  ในขณะที่ ลอร์ด คาร์นาวอน โกนหนวด  มีดโกนหนวดบังเอิญไปเปิดแผลที่ถูกยุงกัดเข้าอีก  หลังจากนั้น   แผลก็เกิดการอักเสบ น่าจะเพราะการติดเชื้อ   ทำให้เขาก็มีอาการไข้ขึ้นสูง  


(ใบมรณะบัตรของลอร์ด คาร์นาวอน และ มีดโกนมรณะ) 

เลดี้ เอเวลีน เฮอร์เบิร์ต ธิดา ของ ลอร์ด คาร์นาวอน เขาจึงพาเขาเดินทางเข้าไคโรเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1923 

               โชคร้ายซ้ำสอง  เมื่อรถยนต์ที่นำตัว ลอร์ด คาร์นาวอน ส่งโรงพยาบาลเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง   ทำให้ ลอร์ด คาร์นาวอน ซึ่งอ่อนแออยู่แล้ว  ทรุดหนักเข้าไปอีก 

               ลอร์ด คาร์นาวอน เสียชีวิตตอนรุ่งสางของวันที่ 5 เมษายน เดือนถัดมา

               นอกจากนี้  ยังมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาอีกหลายเรื่อง  เช่น  นกเลี้ยงในกรงของ คาร์เตอร์ ถูกงูเห่าเข้ากิน  เรื่องถูกโยงว่า   งูเห่าคือสัตว์ที่คอยปกป้องฟาโรห์

               นอกจากนี้   คนงานที่เข้าไปในสุสานเป็นคนแรกๆ   เสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก   ซึ่งก็พูดกันต่อๆอีกว่า   เป็นผลมาจากคำสาปของฟาโรห์


(ช่อดอกไม้มรณะที่ปล่อยละอองเกสรแห้งออกมา  ใครสูดละอองนี้เข้าไป  ก็จะได้รับพิษของมันไปด้วย)

               แต่นักโบราณคดีในยุคปัจจุบันค้นพบว่า   สาเหตุการตายของคนเหล่านี้มาจากการที่ไปสูดอากาศภายในห้องสุสานที่ถูกปิดมาเป็นเวลากว่า 3 พันปี  และในอากาศนั้นก็มีละอองเกสรของดอกไม้ที่ถูกวางเอาไว้เมื่อ 3 พันปีที่แล้ว

               ละอองเหล่านี้  จะเป็นพิษเมื่อมันแห้ง  และเป็นสาเหตุของการตายของคนงานนั่นเอง

               ใครจะเชื่ออย่างไร  ก็เป็นดุลพินิจของตัวเองนะครับ  พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ      

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *