ตุตันคาเมน – การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของศตวรรษ

ซอกซอนตะลอนไป    (22 พฤศจิกายน 2556)

ตุตันคาเมน – การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของศตวรรษ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               เดือนพฤศจิกายน อาจจะมีความสำคัญต่อใครหลายคน  แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์ และ โบราณคดีทุกคน   เดือนนี้ถือว่าสำคัญอย่างที่สุด

               เพราะเป็นเดือนแห่งการค้นพบครั้งสำคัญของมนุษย์ชาติในศตวรรษที่ 20  

               เพราะเป็นเดือนแห่งการค้นพบหลุมฝังพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน(TUTANKHAMUN) (ถ้าอ่านให้ถูกต้องก็คือ  ตุ๊ตอังอามุน)  ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปกว่า 3336 ปีที่แล้ว  คือในราวปี 1323 ก่อนคริสตกาล


(สถานที่ขุดค้น  จะเห็นว่าหลุมฝังศพของตุตันคาเมน(ศรชี้) อยู่ใต้หลุมฝังศพอีกหลุมหนึ่งของ รามเซสที่ 6)

               การค้นพบครั้งนี้  เป็นผลงานของ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์(HOWARD CARTER)  นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่มีความมุ่งมั่นและแน่วแน่ว่า  ภายในหุบผากษัตริย์(VALLEY OF THE KINGS) ซึ่งเป็นสุสานที่ใช้ในการฝังพระศพของฟาโรห์ในยุคโบราณ  จะต้องมีสุสานของฟาโรห์ อีกพระองค์หนึ่งที่ยังไม่ถูกค้นพบ  นั่นคือ  สุสานของ ตุตันคาเมน

               ขณะนั้น   แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อ  ตุตันคาเมนเลย  

               ลอร์ด คาร์นาวอน (LORD CARNAVON)ได้เข้ามาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในการขุดค้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1907  เรื่อยมาจนถึง ปีค.ศ. 1922  จนท่านลอร์ด เองก็ชักไม่ไหวแล้ว   จึงบอกกับคาร์เตอร์ว่า  จะให้โอกาสแก่คาร์เตอร์ปีนั้นเป็นปีสุดท้าย 

หมายความว่า  หากคว้าน้ำเหลวอีก   ก็คงต้องล้มเลิกโครงการกัน


(คนกวาดขยะนำโชคค้นพบบันไดขั้นแรกที่ลงไปสู่หลุมฝังศพของตุตันคาเมน)

วันที่ 4 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922   คนงานคนหนึ่งกวาดพื้นในบริเวณใกล้ที่ขุดค้น  ก็พบกับหินแปลกๆที่พื้น  จึงรายงานให้เจ้านายของตัวเองทราบ   ก็พบว่า   หินที่ว่านี้ คือบันไดขั้นที่ 1 ที่นำลงไปสู่ประตูทางเข้าสุสานของ ฟาโรห์ตุตันคาเมน นั่นเอง

สาเหตุที่คาร์เตอร์ ค้นหาหลุมฝังศพของตุตันคาเมนไม่เจอ  แม้ว่า  จะป้วนเปี้ยนขุดค้นอยู่แถวๆหลุมศพของตุตันคาเมนมานานกว่า 14 ปีแล้วก็ตาม  เพราะ เหนือหลุมฝังศพของฟาโรห์ตุตัน ก็คือ สุสานของฟาโรห์รามเซส ที่ 6(RAMSES VI)   

โดยที่ประตูทางเข้าสุสานของ รามเซส ที่ 6 ที่ขุดขึ้นทีหลังของ ตุตันคาเมน  ตั้งอยู่เหนือประตูทางเข้าของของ สุสาน ตุตันคาเมน พอดี   จึงไม่มีใครคิดว่า   จะมีอีกสุสานหนึ่งที่อยู่ข้างใต้อีกสุสานหนึ่งแบบนี้    

เมื่อขนดินที่ถมบันไดทางลงไปสู่ประตูทางเข้าของสุสานตุตันคาเมนออกจนหมด   ก็พบกับผนังดินและหินปิดประตูทางเข้าอยู่ บนผนังนี้มีตรารูปหมาป่าประทับไว้ทั่วไปหมด 


((จากซ้ายไปขวา)  โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ ,ผู้ว่าการจังหวัดเชน่า ของอียิปต์ ,เลดี้ เอเวลีน และ ลอร์ค คาร์นาวอน)

คาร์เตอร์ รายงานเรื่องนี้ให้ ลอร์ด คาร์นาวอน ทันที  แล้วรอ

วันที่ 26 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922  ลอร์ด คาร์นาวอน พร้อมด้วย เลดี้ เอเวลีน เฮอร์เบิร์ต (LADY EVELYN HERBERT) ธิดา ก็มาถึงประตูสุสานตุตันคาเมน  เตรียมพร้อมที่จะเปิดเผยสิ่งที่ถูกปกปิดมานานกว่า 3 พันปีออกสู่สายตาชาวโลก


(ตราที่ประทับตรงประตูทางเข้าห้องฝังพระศพ)

คนงานค่อยๆเจาะรูผนังกำแพงที่ปิดกั้นอย่างช้าๆ   จนรูกว้างพอที่จะยื่นเทียนเข้าไปข้างใน และมองเข้าไปข้างในได้

ลอร์ด คาร์นาวอน  ถามว่า   “เห็นอะไรมั้ย”

“เห็น” คาร์เตอร์ตอบ  “มันสุดยอดจริงๆ”

แต่คาร์เตอร์ ไม่รู้หรอกว่า  สิ่งที่เขาเห็น และ คิดว่ามันสุดยอดนั้น   ยังมีสิ่งที่สุดยอดกว่านั้นรอเขาอยู่  เพราะ ห้องที่เห็นเป็นเพียงห้องก่อนห้องเก็บพระศพ  ที่เรียกว่า ANTECHAMBER

ห้องเก็บศพที่บรรจุอยู่ในโลงศพทองคำยังอยู่ในอีกห้องข้างใน

สิ่งของที่เห็นในห้องแรกก็คือ โต๊ะที่ใช้ทำมัมมีมีหัวโต๊ะรูปสัตว์ชนิดต่างๆ   เก้าอี้นั่งทำด้วยไม้หลายขนาด   รถเทียมม้า   และอื่นๆอีกมากมาย  ซึ่งเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ตุตันคาเมน เคยใช้ขณะมีชีวิตอยู่  

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ภายในห้องเก็บพระศพก็คือ  โลงศพถูกใส่ครอบเป็นชั้นๆต่อๆกันรวม 7 ชั้น   แบ่งออกเป็นชั้นนอกสุด 4 ชั้นที่เป็นโลงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้ครอบต่อๆกัน  ทุกอันปิดทองลวดลายต่างๆอย่างสวยงาม  


(โลงศพชั้นนอกทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้ 4 ครอบกัน)

อันเล็กสุดเข้าไปอยู่ในโลงที่ใหญ่กว่า  แล้วนำไปใส่ในโลงที่ใหญ่กว่า   แล้วนำไปใส่ในโลงที่ใหญ่กว่า   เป็นชั้นๆแบบนี้

จากโลงสี่เหลี่ยมก็จะถึงโลงที่ทำด้วยหินรูปทรงมัมมี่  ภายในโลงหินดังกล่าว บรรจุโลงศพที่ทำด้วยไม้ปิดทองคำสวยงาม เป็นรูปใบหน้าคน   ถัดจากนั้นก็ถึงโลงศพชั้นที่ 3 เป็นรูปคนอยู่ในท่ามือทาบที่หน้าอกของเทพเจ้าโอไซริส (OSIRIS)

โลงศพชั้นที่ 3 นี้  ภายในบรรจุมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่ถูกจัดให้อยู่ในท่าของเทพเจ้าโอไซริส  แต่ที่พิเศษก็คือ   โลงศพดังกล่าว  ทำด้วยทองคำแท้ๆหนัก 110 กิโลกรัม


(โลงศพชั้นสุดท้ายทำด้วยทองคำแท้ของตุตันคาเมน)

แต่ที่น่าทึ่งมากกว่านั้นก็คือ   หน้ากากทองคำแท้ที่สวมใส่มัมมี่อีกชั้นหนึ่ง  มีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม


(หน้ากากทองคำ)

แค่น้ำหนักของทองคำก็น่าทึ่งแล้ว   แต่ที่ต้องตะลึงถึงกับอ้าปากค้างก็คือ   งานศิลปะที่อยู่บนหน้ากากนั้น   สวยงามสุดบรรยายจริงๆ

               คงยังจบเรื่อง ตุตันคาเมน ในตอนนี้ไม่ได้   ต้องอ่านต่อในตอนหน้าครับ    

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *